×

12 ประเด็นร้อนระดับโลกที่ต้องจับตาในปี 2019 กับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

28.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

11 Mins. Read
  • การนำกำแพงภาษีมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการค้าและเศรษฐกิจ รวมถึงความพยายามถอนตัวจากการเป็นภาคีข้อตกลงควบคุมอาวุธของรัฐมหาอำนาจ ล้วนแล้วแต่เป็นการพาโลกถอยหลังกลับไปยังช่วงเวลาในอดีต ราวกับตกอยู่ใน ‘สภาวะย้อนยุค’
  • ความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นโลกยุคเก่าหรือยุคใหม่ ล้วนแล้วแต่มีความขัดแย้งทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าเรามองความขัดแย้งต่างๆ เหล่านั้นด้วยความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน
  • แม้กองกำลังฝ่ายพันธมิตรจะสามารถยึดเมืองโมซุลทางตอนเหนือของอิรัก และเมืองรักกาของซีเรียคืนได้จากกลุ่มไอเอส ก็ไม่ได้หมายความว่าสงครามการก่อการร้ายจะยุติลง เพียงแต่เป็นสัญญาณที่บอกเราว่า กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้เริ่มมีบทบาทน้อยลง เราต้องไม่ลืมว่า กลุ่มเครือข่าย รวมถึงกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มอื่นๆ อย่างเช่น กลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และกลุ่มโบโกฮาราม ยังคงอยู่
  • โจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ด้านความมั่นคงที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ในปี 2019 จะเป็นอีกปีที่อากาศร้อนมาก เราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น อย่างเหตุน้ำท่วมกลางทะเลทราย ไฟป่า พายุหมุน แผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิดที่เกิดบ่อยครั้งขึ้น ราวกับระบบนิเวศของโลกกำลังเสียสมดุลครั้งใหญ่

ตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์สำคัญต่างๆ มากมายในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็นการจัดซัมมิทระหว่างผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนืออย่างคิมจองอึนกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ภาพที่ทั้งสองคนยืนจับมือและนั่งร่วมโต๊ะประชุมเดียวกันที่ใครหลายคนไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็นก็เกิดขึ้น การกลับมาต่อสู้กันอีกครั้งในสมรภูมิสงครามการค้าของรัฐมหาอำนาจ วิกฤตผู้ลี้ภัย ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงประเด็นเรื่องสงครามและความขัดแย้งที่ยังคุกรุ่นอยู่ในหลายพื้นที่ทั่วโลก

 

 

THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงความเปลี่ยนแปลงและความต่อเนื่องของประเด็นสำคัญในเวทีโลก โดยเฉพาะในมิติของการเมืองและความมั่นคง เพื่อตอบคำถามที่ว่า มีประเด็นใดบ้างที่น่าจับตามองในปี 2019

 

ศ.ดร.สุรชาติ ชี้ว่า กระแสการเมืองโลกในปี 2019 มี 12 ประเด็นใหญ่ที่ต้องจับตา

 

Photo: Jorge Silva / Pool / AFP

 

1. ศึกชิงบทบาทนำของรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่ทวีความเข้มข้นเพิ่มมากขึ้นและสงครามการค้า

การแข่งขันกันในความสัมพันธ์สามเส้าระหว่างสหรัฐอเมริกา จีน และรัสเซีย ถือเป็นโจทย์สำคัญที่จะต้องพูดถึงเป็นประจำทุกปี ซึ่งในปี 2019 จะเป็นอีกปีที่รัฐมหาอำนาจเหล่านี้จะแข่งกันขยายบทบาทและอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

 

ศ.ดร.สุรชาติ อธิบายว่า “ในปีที่ผ่านมา เราเห็นการขยายบทบาทของรัสเซียจากวิกฤตการณ์แหลมไครเมีย การเข้าไปมีส่วนร่วมในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะกรณีสงครามกลางเมืองในซีเรีย รวมถึงการตัดสินใจยึดเรือรบของยูเครนที่สร้างความตึงเครียดระลอกใหม่ให้กับทั้งสองประเทศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เราเห็นว่า รัสเซียกำลังฟื้นตัวและจะกลับมาเป็นรัฐมหาอำนาจที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลกอีกครั้ง

 

“ในขณะที่การขยายเส้นทางการเชื่อมต่อ รวมถึงการลงทุนในระบบโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในภูมิภาคต่างๆ ของยักษ์ใหญ่อย่างจีนก็ยังเป็นสิ่งที่น่าจับตามองไม่น้อย เพราะเราปฏิเสธไม่ได้เลยว่า จีนภายใต้ผู้นำรุ่นที่ 5 อย่าง สีจิ้นผิง ที่มีลักษณะเป็นผู้นำที่ดุดัน เข้มแข็ง และมีความชาตินิยม ได้นำพาประเทศนี้ให้มีบทบาทอย่างมากและสามารถถ่วงดุลอำนาจกับรัฐมหาอำนาจอื่นได้”

 

และที่เห็นได้ชัดคือ การปรับยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญของสหรัฐอเมริกาในทวีปเอเชีย “คำว่า ‘เอเชียแปซิฟิก’ ดูเหมือนจะจบลงไปแล้วในทางยุทธศาสตร์ของทำเนียบขาวในยุคปัจจุบัน กลายเป็น ‘อินโดแปซิฟิก’ (Indo-Pacific) ที่ควบรวมเอามหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าไว้ด้วยกัน เป็นยุทธศาสตร์ที่ขนาดใหญ่ขึ้นของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางภูมิรัฐศาสตร์และส่งผลกระทบกับอาณาบริเวณดังกล่าวอย่างแน่นอน โดยจะอาศัยแกนกลางทั้ง 4 อย่าง สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และอินเดีย”

 

 

สิ่งที่ตามมาจากการแข่งขันดังกล่าว ในแง่หนึ่งก่อให้เกิด ‘สงครามการค้า’ ที่หันมาใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองของผู้นำสหรัฐฯ และจีน ที่สวนกระแสและชวนให้ตั้งคำถามว่า ระบบเศรษฐกิจและการค้าแบบเสรีที่เราถูกพร่ำสอนมาตลอดยังคงฟังก์ชันอยู่หรือไม่ หรือจะอยู่อย่างไรในโจทย์ความท้าทายชุดใหญ่นี้

 

“นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมสอดรับกับทิศทางของผู้นำสหรัฐฯ อย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ต้องการเน้นย้ำจุดยืน America First หรือ America Great Again โดยพยายามที่จะแก้ไขการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ พร้อมทั้งฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งการกลับไปใช้กำแพงภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญในการกีดกันทางการค้า สะท้อนให้เราเห็นว่ารัฐมหาอำนาจกำลังนำพาเวทีการค้าโลกกลับไปสู่ยุคเก่าอีกครั้ง

 

คำถามสำคัญสำหรับปี 2019 ในประเด็นนี้คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อการค้าโลก รวมถึงบรรดารัฐอื่นๆ ที่เข้าไปเกี่ยวข้องในลักษณะที่เป็นห่วงโซ่ของการผลิต (Supply Chain) ซึ่งอาจรวมถึงประเทศไทยด้วย”

 

Photo: Dmitry Kalinovsky / Shutterstock

 

2. การแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์อาจเกิดขึ้นอีกครั้ง

เมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปี 2018 ผู้นำสหรัฐฯ ตัดสินใจเดินหน้าขอถอนตัวจากการเป็นภาคีสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) ที่ทำร่วมกับรัฐบาลรัสเซีย (สหภาพโซเวียต) มานาน 30 กว่าปี นับตั้งแต่ช่วงใกล้สิ้นสุดยุคสงครามเย็น โดยมีเป้าหมายที่จะลดความตึงเครียดจากการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจในเวทีโลก

 

ทางการสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า รัสเซียทำการละเมิดข้อตกลงดังกล่าวมาเป็นเวลานานแล้ว อีกทั้งเนื้อหาในสนธิสัญญาก็ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย ครอบคลุมมหาอำนาจเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง จีนก็เป็นอีกหนึ่งตัวแสดงที่เร่งขยายอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน จนกลายเป็นอีกหนึ่งขั้วอำนาจในการเมืองโลก โดยการตัดสินใจดังกล่าวของสหรัฐฯ จะทำให้ความพยายามในการควบคุมและปลดอาวุธนิวเคลียร์ต้องเดินถอยหลังลงไปอีก

 

“ถ้าหากสหรัฐฯ ตัดสินใจถอนตัวจากการเป็นภาคีสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลางจริง สัญญาณที่จะตามมาคือ สหรัฐฯ อาจจะขอถอนตัวออกจากความตกลงในการเจรจาเพื่อจำกัดอาวุธทางยุทธศาสตร์ที่ได้ทำไว้กับรัสเซียอีก

 

“จึงทำให้ปี 2019 อาจเป็นปีเริ่มต้นของการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งบริบทดังกล่าวจะทำให้โลกเหมือนตกอยู่ใน ‘สภาวะย้อนยุค’ ถอยกลับไปสู่ช่วงเวลาแข่งขันกันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐมหาอำนาจ เหมือนช่วงสงครามเย็นอีกครั้ง และจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความพยายามควบคุมอาวุธทำลายล้างสูงในประชาคมโลกในอนาคต”

 

Photo: Mandel Ngan / AFP

 

3. การเมืองอเมริกันกับอนาคตที่ยังไม่แน่นอนของผู้ชายชื่อ ‘ทรัมป์’

ผลพวงจากการไต่สวนค้นหาความจริงกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2016 ที่ดำเนินมาตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ประกอบกับผลการเลือกตั้งมิดเทอมสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ที่พรรคเดโมแครตสามารถกลับมาครองเสียงข้างมากได้อีกครั้งในสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้อนาคตบนเส้นทางการเมืองของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์อาจจะไม่ได้ราบเรียบอย่างที่เขาคาดการณ์ไว้ การบริหารประเทศนับจากนี้จะประสบความยากลำบากขึ้นอย่างแน่นอน

 

“ปีที่กำลังเริ่มต้นขึ้นนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับการเมืองอเมริกัน บริบทการต่อสู้ทางการเมืองที่กำลังเข้มข้นและผลงานของเขาในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา อาจทำให้วิกฤตในตัวผู้นำสหรัฐฯ รุนแรงขึ้น สิ่งที่น่าตั้งคำถามคือ มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ทรัมป์จะถูกปลดออกจากตำแหน่ง (Impeachment) และถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นจริงจะส่งผลอย่างไรต่อการเมืองอเมริกันและการเมืองโลก เพราะเราคงต้องยอมรับว่า ชายผู้ไม่สามารถคาดเดาได้คนนี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเมืองโลก ณ ช่วงเวลานี้ไปแล้ว”

 

Photo: Justin Tallis / AFP

 

4. วิกฤตการณ์ของสหภาพยุโรป ในกรณี Brexit

ในที่สุดผลลัพธ์จากการเจรจาที่ยาวนานกว่า 18 เดือน หลังสหราชอาณาจักรเริ่มใช้สิทธิตามมาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอน เริ่มต้นกระบวนการถอนตัวจากสหภาพยุโรปก็บรรลุผลแล้ว หลังผู้นำทั้ง 27 ประเทศในสหภาพยุโรปต่างลงมติอนุมัติข้อตกลงถอนตัวดังกล่าวแล้วเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คาดการณ์ว่าจะพ้นสภาพการเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2019 โดยจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาสหราชอาณาจักร

 

ประเด็นปัญหาการเมืองภายในที่ยังไม่สามารถสร้างความเห็นพ้องต้องกันได้เกี่ยวกับข้อตกลง Brexit ในกรณีที่จะตัดขาดความสัมพันธ์ในหลายๆ ด้านกับอียูไปเลย หรือคงความสัมพันธ์ใกล้ชิดนั้นไว้ รวมถึงประเด็นการลดพลเมืองยุโรปที่จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหราชอาณาจักร ซึ่งจุดนี้จะส่งผลกระทบต่อคนสหราชอาณาจักรที่ย้ายไปอาศัยอยู่ในยุโรปด้วย รวมถึงมาตรการ Backstop ที่ไอร์แลนด์เหนือ ที่จำเป็นต้องมีการตั้งด่านตรวจสินค้า ภายหลังจากที่กระบวนการ Brexit แล้วเสร็จ ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนได้อีกในอนาคต นับว่าเป็นเรื่องที่จัดการไม่ง่ายเป็นอย่างยิ่ง

 

“มีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป การลาออกของสหราชอาณาจักรยังมีปัญหาอยู่พอสมควร ข้อตกลงที่ได้รับการอนุมัติจากประเทศสมาชิกในอียูอาจไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอในรัฐสภา การตัดสินใจลาออกในครั้งนี้ทำให้อียูเกิดความระส่ำระสายไม่น้อย ผลพวงจากความเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นอย่างไร กระบวนการ Brexit จะจบลงจริงๆ ในปี 2019 ตามแพลนที่วางไว้หรือไม่ อาจต้องจับตาดู”

 

Photo: Filippo Monteforte / AFP

 

5. ประชานิยมปีกขวายังคงมีบทบาทสำคัญในการเมืองโลก

กระแสประชานิยมปีกขวาที่ค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้น ท่ามกลางสภาพปัญหาต่างๆ ที่ท้าทายความมั่นคงของรัฐ โดยเฉพาะในยุโรป ก่อนที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและก่อตัวเป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ชุดความคิดชาตินิยมใหม่’ (New Nationalism) เป็นกลุ่มคนที่เริ่มต่อต้านแนวคิดแบบเสรีนิยม ต่อต้าน ‘ความเป็นอื่น’ อย่างสุดโต่ง ทั้งในแง่เชื้อชาติ ศาสนา หรือแม้กระทั่งรสนิยมทางเพศ

 

พรรคฝ่ายขวาและพรรคชาตินิยมกำลังได้รับคะแนนนิยมเป็นอย่างมาก ในการเลือกตั้งฮังการี เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา พรรคฝ่ายขวาอย่าง Fidesz-KDNP ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น หลังชูประเด็นนโยบายจัดการผู้อพยพ ส่งผลให้ นายวิคเตอร์ ออร์บาน นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน

 

พรรค League พรรคการเมืองฝ่ายขวาในอิตาลีเองก็ได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลผสมในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ร่วมกับพรรค Five Star Movement ที่ต่อต้านกลุ่มกระแสการเมืองเดิม (Anti-establishment) โดยเน้นย้ำจุดยืนในประเด็นที่ว่า เกาะซิซิลีของอิตาลีจะต้องไม่เป็น ‘ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งทวีปยุโรป’ อีกต่อไป ซึ่งพรรคประชานิยมทั้ง 2 พรรคล้วนเติบโตมาจากการเป็นเสียงส่วนน้อยทางการเมือง ก่อนที่จะได้รับการสนับสนุนเพิ่มมากขึ้นดังเช่นในปัจจุบัน

 

 

เกมการเมืองในบราซิลก็ร้อนแรงไม่แพ้กัน หลัง ฌาอีร์ โบลโซนารู ผู้สมัครจากพรรคขวาจัดอย่าง PSL เจ้าของฉายา ‘ทรัมป์-ดูเตร์เตแห่งบราซิล’ ชนะการเลือกตั้งรอบที่สอง เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยจะเริ่มต้นบริหารประเทศในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2019 ซึ่งนักการเมืองหัวเอียงขวาที่เคยมีข่าวคราวดูหมิ่นผู้หญิงและกลุ่ม LGBTQ คนนี้จะสร้างสีสันให้กับการเมืองประเทศนี้ได้ไม่มากก็น้อย

 

“เรากำลังเล็งเห็นตัวแบบหนึ่งของยุโรป เป็นกลุ่มฝ่ายขวาที่มากับชุดความคิดใหม่และกำลังเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศ ในปีที่ผ่านมา เราเห็นชัยชนะของฝ่ายประชานิยมปีกขวานี้ในหลายพื้นที่ ทั้งในฮังการี อิตาลี บราซิล รวมถึงในประเทศที่อาจจะยังไม่สามารถชนะการเลือกตั้ง แต่ก็ยังได้รับเสียงสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในสโลวีเนีย สวีเดน หรือแม้แต่ในเยอรมนี ซึ่งวิกฤตผู้อพยพในทวีปอเมริกาและยุโรปที่รุนแรงเพิ่มขึ้น จะยิ่งส่งผลให้กระแสประชานิยมปีกขวาหรือกระตุ้นความรู้สึกของกลุ่มชาตินิยมใหม่ในยุโรปให้เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย”

 

Photo: Bulent Kilic / AFP

 

6. การเมืองในตะวันออกกลางและกรณีการเสียชีวิตของนักข่าวซาอุฯ

ปี 2018 เราเห็นความพยายามอย่างยิ่งยวดของซาอุดีอาระเบียที่จะสร้างรัฐทันสมัย ภายใต้การนำของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารที่เร่งเดินหน้าปฏิรูปประเทศตาม ‘วิสัยทัศน์ 2030’ เพื่อเน้นย้ำการเป็นประเทศพี่ใหญ่ในตะวันออกกลางที่เสมือนเป็นผู้นำของโลกมุสลิมทั้งหมด จุดยืนดังกล่าวทำให้อิหร่านไม่สามารถอยู่เฉยได้ พร้อมร่วมกระโจนลงหมากกระดานต่างๆ เพื่อตอบโต้ซาอุดีอาระเบีย

 

ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมายเกิดขึ้นในสังคมซาอุฯ ไม่ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ผู้หญิงสามารถขับรถยนต์เองได้ สามารถเข้าทำงานในกองทัพได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ รวมถึงเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลภายในสนามกีฬาและอนุญาตให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้งในรอบ 35 ปี ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะทำให้เกิดการปะทะกับกลุ่มเคร่งศาสนาได้ในท้ายที่สุด

 

ข่าวคราวการเสียชีวิตของ จามาล คาช็อกกี นักข่าวชาวซาอุดีอาระเบียที่ถูกสังหารภายในสถานทูตซาอุดีอาระเบียในกรุงอิสตันบูลของตุรกี เมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ซาอุดีอาระเบียได้รับความสนใจจากสื่อทั่วโลกเป็นอย่างมาก หลังมีการพาดพิงว่า มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน อาจมีส่วนพัวพันกับสาเหตุการเสียชีวิตของนายคาช็อกกี ที่มักจะวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของบรรดาสมาชิกราชวงศ์ซาอุฯ อยู่บ่อยครั้ง

 

“นอกจากการแข่งขันกันสร้างรัฐทันสมัยแล้ว กรณีการเสียชีวิตของนายคาช็อกกีที่จะเกิดขึ้นในปี 2019 จะส่งผลต่อราชสำนักในซาอุฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุดอาจจะต้องเฝ้าดูว่าคดีนี้จะสิ้นสุดลงอย่างไร ทุกปมสงสัยจะถูกคลี่คลายหรือไม่ เกมการเมืองในตะวันออกกลางจะเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจไม่น้อย”

 

Photo: Abdulmonam Eassa / AFP

 

7. ไฟแห่งสงครามและความขัดแย้งที่ยังไม่มอดดับ

สงครามและความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง เป็นปมปัญหาที่ถูกทับซ้อนกันและฝังรากลึกอยู่ในหลายสังคมทั่วโลก รวมถึงปมความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่มีมายาวนานกว่า 7 ทศวรรษ

 

ศ.ดร.สุรชาติ ให้ความเห็นว่า ปมปัญหานี้จะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในปี 2019 ดังจะเห็นได้จากการปะทะกันบริเวณฉนวนกาซาและเมืองโดยรอบ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก อีกทั้งยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จากกรณีที่ทางการสหรัฐฯ มีคำสั่งย้ายสถานทูตจากเมืองเทลอาวีฟไปยังกรุงเยรูซาเลม ก่อนที่กัวเตมาลาและออสเตรเลียจะสนับสนุนการตัดสินใจดังกล่าว

 

ปัญหาในทะเลจีนใต้ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ในปี 2019 ปัญหาพิพาทนี้จะยังคงคาราคาซังกับภูมิภาคของเราต่อไป สิ่งที่เป็นความกังวลคือ ถ้าความขัดแย้งนี้ขยายตัว จะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของรัฐมหาอำนาจที่เข้ามาพัวพันกับทวีปเอเชีย รวมถึงความสัมพันธ์ของพี่ใหญ่อย่างจีนและบรรดารัฐที่ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้นี้แทบทั้งสิ้น ข้อพิพาทเกี่ยวกับอธิปไตยเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนมาก นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของไทยในฐานะประธานอาเซียน

 

สงครามกลางเมืองในซีเรียและเยเมนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง แม้รัฐบาลเยเมนและกบฏฮูตีจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว เพื่อเปิดทางให้ทีมช่วยเหลือเข้าไปบรรเทาวิกฤตมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลกแล้วก็ตาม ไฟแห่งสงครามทำให้เยเมนต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นการด่วน พลเมืองชาวเยเมนกว่า 8.4 ล้านคนกำลังตกอยู่ในภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหาร อีกทั้งยังเผชิญหน้ากับการระบาดของโรคอหิวาตกโรค ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายแสนรายแล้ว โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กถึง 85,000 คน

 

“สาเหตุสำคัญที่ทำให้สงครามและความขัดแย้งในบางพื้นที่ยังไม่จบลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานะความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจหรือรัฐขนาดใหญ่ในภูมิภาคที่กระโจนเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรณีของสงครามซีเรียและเยเมน ความขัดแย้งดังกล่าวไม่สามารถยุติลงได้เพียงคู่ขัดแย้งที่ถูกใช้เป็นกระดานหมากเท่านั้น ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความเป็นไปได้ที่จะมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก”

 

Photo: Saul Loeb / AFP

 

8. การแก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีต้องอาศัยระยะเวลา

เริ่มต้นปี 2018 กับสิ่งที่ไม่คาดคิด นั่นคือท่าทีของผู้นำเกาหลีเหนือที่เปลี่ยนไป พร้อมเปิดโอกาสจัดโต๊ะเจรจา เพื่อปูทางไปสู่การแก้ไขวิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลีอย่างถาวร ความสัมพันธ์ของเกาหลีเหนือกับรัฐมหาอำนาจอื่นๆ อย่าง จีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศพี่เมืองน้องอย่างเกาหลีใต้เป็นไปในทิศทางบวกเพิ่มมากขึ้น ข่าวคราวของการทดสอบและพัฒนาโครงการอาวุธนิวเคลียร์ในปี 2017 ถูกแทนที่ด้วยข่าวการทำลายไซต์นิวเคลียร์ต่างๆ รวมถึงความคืบหน้าการจัดซัมมิทเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ รวมถึงซัมมิททรัมป์-คิม นับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับความมั่นคงระหว่างประเทศ

 

“ในปี 2019 การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำสหรัฐฯ ให้ความสนใจ อาจจะต้องติดตามว่าจะมีการพบปะกันเกิดขึ้นอีกหรือไม่ในอนาคต และจะส่งผลที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง โอกาสที่จะนำไปสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์อย่างแท้จริงยังพอมีอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน ไม่สามารถทำได้ภายในระยะเวลาอันสั้น ต้องการระยะเวลาอยู่พอสมควร แอฟริกาใต้เองก็ใช้เวลานานถึง 7 ปีกว่าจะปลดอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ ยิ่งอาวุธดังกล่าวเป็นเพียงหลักประกันเดียวของเกาหลีเหนือที่จะใช้ต่อรองกับมหาอำนาจด้วยแล้ว ยิ่งต้องอาศัยเวลา รวมถึงเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างกระบวนการตรวจสอบด้วย”

 

Photo: Kirill Makarov / Shutterstock

 

9. การถดถอยของกลุ่มก่อการร้าย ปีศาจที่ยังคงเฝ้ารอวันฟื้นคืนชีพ

สถานการณ์ความรุนแรงจากเหตุก่อการร้ายทั่วโลกกำลังลดลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2017 กลุ่มรัฐอิสลามหรือกลุ่มไอเอสเริ่มมีบทบาทน้อยลงในเวทีโลก หลังจากถูกโต้กลับจากกองกำลังพันธมิตรที่สามารถช่วงชิงดินแดนทั้งในอิรักและซีเรียกลับคืนมาได้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม เราจะต้องไม่ลืมว่าตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอย่างกลุ่มก่อการร้ายนี้ไม่ได้มีเส้นเขตแดนที่อยู่ตายตัว ไม่ได้ผูกโยงอยู่กับกลุ่มไอเอสเพียงกลุ่มเดียว ยังมีกลุ่มก่อการร้ายอีกหลายกลุ่มบนโลก และยังคงหาโอกาสปฏิบัติการอยู่แทบจะตลอดเวลา

 

“แม้ว่ากลุ่มไอเอสจะอยู่ในภาวะถดถอยในช่วงเวลานี้ แต่ในขณะเดียวกันเรายังคงเห็นปฏิบัติการของกลุ่มอัลกออิดะห์หรือกลุ่มโบโกฮารามเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จุดพลิกผันสำคัญคือ การยึดเมืองโมซุลทางตอนเหนือของอิรัก และเมืองรักกาของซีเรียคืนได้จากกลุ่มไอเอส ถึงกระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าสงครามการก่อการร้ายจะยุติลง เพียงแต่เป็นสัญญาณที่บอกเราว่า กลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้เริ่มมีบทบาทน้อยหลัง จากการสูญเสียเมืองศูนย์กลางในตะวันออกกลางไป

 

แต่อย่างไรก็ตาม เราเห็นความพยายามในการช่วงชิงพื้นที่ใหม่ทั้งในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อาจถูกใช้เป็นที่ตั้งของศูนย์กลางแห่งใหม่ คำถามสำคัญคือ ในช่วงที่กลุ่มไอเอสถึงขาลง บรรดาเครือข่ายของขบวนการนี้จะยังคงเดินหน้าปฏิบัติการต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ”

 

Photo: Guillermo Arias / AFP

 

10. ‘Human Flow’ วิกฤตผู้อพยพที่ยังคงไหลเชี่ยว

โจทย์เรื่องผู้อพยพถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นการหลั่งไหลของสายธารมนุษย์จากแอฟริกาเหนือมุ่งหน้าสู่ทวีปยุโรป ผ่านทางบกและทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งในปี 2018 ที่ผ่านมา เกิดคาราวานผู้อพยพจากลาตินอเมริกามุ่งหน้าสู่พรมแดนสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่หนีความยากจน ความแร้นแค้นในชีวิต ต้องการที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่และแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นบนแผ่นดินอเมริกัน

 

ในขณะที่วิกฤตชาวโรฮีนจาที่เกิดขึ้นจากเหตุกวาดล้างของกองทัพเมียนมานับตั้งแต่เดือนสิงหาคม ปี 2017 ก็ยิ่งทำให้สายธารเส้นนี้ทวีความไหลเชี่ยวเพิ่มมากขึ้น แม้รัฐบาลบังกลาเทศและรัฐบาลเมียนมาจะบรรลุข้อตกลงในการส่งชาวโรฮีนจากลับสู่มาตุภูมิแล้วก็ตาม แต่บริบทภายในเมียนมาเองดูยังจะไม่ปลอดภัยสำหรับกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มนี้

 

“โจทย์เรื่องผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์ในระยะยาว โอกาสที่จะกลับบ้านก็ไม่ง่าย และจะอยู่ต่อก็ไม่ง่าย เป็นโจทย์ที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่ง

 

“เรากำลังพูดถึงโจทย์ของคนนอกที่เข้ามาอยู่ในบ้าน สังคมในปัจจุบันนี้ เรายังคงต่อสู้กันในสังคม เรากำลังพูดถึงการแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การที่รับพวกเขาเข้ามา ใครจะเป็นคนแบ่งทรัพยากรเหล่านั้น ผมว่าตอบได้ค่อนข้างลำบาก เพราะไม่มีบ้านหลังไหนกล้ารองรับ ในขณะที่บ้านของตัวเองยังคงมีปัญหาอยู่ คนยังยากจน ว่างงาน โอกาสในการศึกษายังไม่ทั่วถึง โจทย์แบบนี้ตอบแบบโลกสวยไม่ได้ ผมไม่ได้บอกให้เราไร้มนุษยธรรม เพียงแต่ให้มองในมุมของเจ้าบ้าน เราจะเห็นปัญหาที่ไม่แตกต่างกัน วิกฤตนี้จึงทำให้การเมืองในสังคมยุโรปเกิดอาการสวิงขวา มีความเป็นชาตินิยมเพิ่มมากขึ้น เป็นประเด็นที่ยังคงต้องช่วยกันหาทางออกต่อไป”

 

Photo: Ringo Chiu / AFP

 

11. โลกในวันที่อากาศร้อนขึ้น ภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น

ศ.ดร.สุรชาติ ระบุว่า “โจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นโจทย์ด้านความมั่นคงที่ใกล้ตัวเรามากที่สุด ในปี 2019 จะเป็นอีกปีที่อากาศร้อนมาก ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกไม่ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกชีวิตบนพื้นโลก ใต้ท้องทะเลและมหาสมุทรอีกด้วย”

 

พวกเรารับรู้ได้ถึงอากาศที่ร้อนมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะก๊าซเรือนกระจกที่ยิ่งทวีความรุนแรง ในปี 2018 ที่ผ่านมา นอกจากปริมาณน้ำแข็งในขั้วโลกจะละลายเพิ่มมากขึ้นแล้ว หลายพื้นที่ทั่วโลกยังปกคลุมไปด้วยคลื่นรังสีความร้อน โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่นมีคนเข้าโรงพยาบาลมากกว่า 80,000 คนทั่วประเทศ เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น

 

นอกจากนี้ไฟป่าในหลายประเทศก็ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในประเทศที่เผชิญหน้ากับไปฟ่าเกือบตลอดทั้งปี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ที่ต้องตกตะลึงคือ เหตุน้ำท่วมฉับพลันกลางทะเลทรายในซาอุดีอาระเบีย หลังภูมิประเทศที่แห้งแล้งกลับมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ยังไม่นับรวมภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างพายุหมุนและเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีกเป็นจำนวนมาก

 

จากรายงาน Emissions Gap Report 2018 ของสหประชาชาติ ระบุว่า ในปีนี้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มสูงขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้อยู่ในระดับคงที่มาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นถึงมาตรการจัดการกับภาวะโลกร้อนในหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาและมีแนวโน้มที่จะล้มเหลว

 

เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุม COP24 ที่ถือเป็นการประชุมภาวะโลกร้อนที่สำคัญที่สุด นับตั้งแต่ที่ได้มีการลงนามในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ในปี 2015 ตัดสินใจคลอดกติกาใหม่เพื่อให้ทุกประเทศนำไปปฏิบัติได้จริง มีกฎที่แตกต่างกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีเป้าหมายคือจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2020

 

Photo: Kamil Krzaczynski / AFP

 

12. ปีของผู้หญิงและกลุ่มความหลากหลายทางเพศที่จะออกมาแสดงพลัง

ปี 2018 เป็นอีกปีที่อาจจะกล่าวได้ว่าเป็น ‘ปีของผู้หญิง’ หลังกลุ่มสิทธิสตรีออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง หลังกระแส #MeToo ปลุกความกล้าและพลังในหัวใจของพวกเธอลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิและบอกเล่าประสบการณ์อันเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากปัญหาการใช้ความรุนแรงทางเพศ โดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐฯ ที่ผู้หญิงอเมริกันจำนวนมากต่างตบเท้าลงชิงชัยในสนามการเมือง จนสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นชนพื้นเมืองหญิงคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ในสภา ส.ส. หญิงที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน รวมถึงผู้หญิงมุสลิมสองคนแรกที่ได้นั่งเก้าอี้ในสภาคองเกรสสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเองก็ออกมาเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน ในปี 2019 นี้ ออสเตรียจะกลายเป็นประเทศที่ 28 ของโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในอนาคต

 

“การเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีและกลุ่มความหลากหลายทางเพศยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในสังคมตะวันตกคนกลุ่มนี้ถือเป็นฐานเสียงที่สำคัญในเกมการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของสหรัฐฯ ในวันนี้ ที่เราเห็นสัญญาณอย่างชัดเจนว่า ทั้งกลุ่มสตรีและกลุ่มความหลากหลายทางเพศส่วนใหญ่ปฏิเสธที่จะสนับสนุนผู้นำอย่างโดนัลด์ ทรัมป์

 

ย้อนกลับมามองที่สังคมไทยที่ดูเหมือนว่าจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่คุณต้องไม่ลืมว่า สภาพการเมืองของไทยถูกปิดมาระยะหนึ่งแล้ว การเมืองที่ปิดไม่มีพื้นที่ให้กับประเด็นเหล่านี้ นั่นหมายความว่า โอกาสที่จะนำเอาประเด็นชุดใหม่ๆ ขึ้นสู่เวทีสาธารณะก็หายไป หวังว่าสภาพการเมืองหลังการเลือกตั้งในปี 2019 เราจะเห็นกลุ่มขบวนต่างๆ เหล่านี้ฟื้นตัวและกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง”

 

 

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ว่า “โลกสมัยใหม่หรือแม้กระทั่งโลกเก่า มีโลกไหนบ้างที่ปราศจากความขัดแย้ง มีสันติสุขเกิดขึ้นตลอดเวลา เราเห็นความระส่ำระสายเกิดขึ้นในหลายจุดทั่วโลก และพบว่าความระส่ำระสายเหล่านั้นไม่ได้จบลงด้วยการล้มกระดานแล้วยึดอำนาจ เป็นบทเรียนสำคัญที่สังคมไทยยังจะต้องเรียนรู้และจำให้ขึ้นใจ”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X