×

นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกชี้ ‘ทางตันดิจิทัลวอลเล็ต’ เป็นเหตุให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ‘ซับซ้อนมากขึ้น’

07.02.2024
  • LOADING...
ดิจิทัลวอลเล็ต

เว็บไซต์ข่าว Financial Times เผยแพร่บทความเชิงวิเคราะห์ที่ได้รวบรวมความเห็นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเศรษฐศาสตร์ เกี่ยวกับมาตรการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ของไทย ซึ่งมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญกับการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างมาก โดยปัจจุบันแผนการดังกล่าวตกอยู่ในภาวะชะงักงัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีของไทยกำลังงัดข้ออยู่กับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้คำถามสำคัญที่ว่า เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤตจนจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อออกโครงการดิจิทัลวอลเล็ตหรือไม่ 

 

ทั้งนี้ เศรษฐาย้ำว่า “ประชาชนเดือดร้อน” และอัตราดอกเบี้ยที่สูงส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ พร้อมเรียกร้องให้รัฐสภาอนุมัติแผนการจ่ายเงินครั้งเดียวจำนวน 10,000 บาท ให้กับผู้มีรายได้น้อยประมาณ 50 ล้านคน ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล โดยผู้นำไทยย้ำว่า การแจกเงินดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นต่อการกระตุ้นการใช้จ่าย สนับสนุนธุรกิจ และเร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กลับเห็นต่าง โดยแย้งว่าเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ไม่มีวิกฤตใดๆ ก่อนชี้ว่าโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัลและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในเวลานี้เป็นเพียงมาตรการ ‘ระยะสั้น’ ที่ได้ผลเพียงชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งทางแบงก์ชาติต้องการแผนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระยะยาว เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรองรับประชากรสูงวัยของประเทศ มากกว่าแผนกระตุ้นระยะสั้นที่ผลาญเงินเกินความจำเป็น 

 

Peter Mumford หัวหน้าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Eurasia Group กล่าวว่า การโต้เถียงยืนหยัดของสองฝ่ายคือ รัฐบาลและแบงก์ชาติ ทำให้การคาดการณ์แนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคตอันใกล้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และข้อพิพาทดังกล่าวยังเป็นการตอกย้ำจุดยืนที่ไม่มั่นคงของประเทศไทย ในขณะที่ไทยพยายามหาทางออกจากภาวะซบเซาหลังวิกฤตโควิด โดยรัฐบาลเศรษฐาซึ่งตั้งเป้าหมายการเติบโตรายปีไว้ที่ 5% ในอีก 4 ปีข้างหน้า กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวเพียง 1.8% ในปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนหน้านี้ที่ 2.5-3% 

 

ขณะเดียวกัน ขณะที่รัฐบาลไทยพยายามชี้ให้เห็นว่าไทยในตอนนี้กำลังเติบโตตามหลังคู่แข่งในภูมิภาค และราคาผู้บริโภคหดตัวเป็นเวลา 4 เดือนติดต่อกัน และเพิ่งจะลดลงอีก 1.1% ในเดือนมกราคม แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งจัดการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของปีในวันพุธ (7 กุมภาพันธ์) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบทศวรรษที่ 2.5% โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะฟื้นตัวได้ดีจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายภายใน

 

Mumford มองว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไม่เพียงแต่จำเป็นต่อประเทศไทยในแง่ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสำคัญเพราะหมายถึงความอยู่รอดของพรรคเพื่อไทย ว่าจะสามารถยืนหยัดอยู่ในวงการการเมืองของไทยต่อไปในอนาคตได้หรือไม่ 

 

ทั้งนี้ ขณะที่แบงก์ชาติยังคงมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้วิกฤต แต่ประชาชนส่วนใหญ่เกือบ 64% จากการสำรวจของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เห็นพ้องต้องกันกับรัฐบาลว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในวิกฤต และจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

 

อย่างไรก็ตาม โครงการดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังเต็มไปด้วยความกังขา ไล่เลียงตั้งแต่วิธีการแจกจ่าย เงื่อนไขการใช้งาน และที่มาของเงิน ทำให้จากเดิมที่น่าจะได้เห็นดิจิทัลวอลเล็ตในเดือนกุมภาพันธ์ ก็ต้องเลื่อนออกไปเป็นช่วงเดือนพฤษภาคมแทน 

 

ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับแนวทางการกระตุ้นด้วยการอัดฉีดเงินครั้งใหญ่ เพราะจะเป็นการเพิ่มภาระทางการคลังให้กับรัฐบาลโดยไม่จำเป็น และขาดความรับผิดชอบ โดย DBS ซึ่งเป็นธนาคารในสิงคโปร์ คาดการณ์ว่าการให้ทุนสนับสนุนดิจิทัลวอลเล็ตด้วยการกู้ยืมเงินมา อาจผลักดันการขาดดุลของรัฐบาลให้มากขึ้นมากกว่า 5% ในปีงบประมาณ 2567

 

ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า การกระตุ้นแบบดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากปัจจัยบวกในปัจจัยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี ทั้งจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก โดย George Xu มองว่า แม้ไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จากภาวะช็อกของวิกฤตโควิด แต่ไทยก็กำลังฟื้นตัวจากช่วงที่เลวร้ายที่สุดแล้ว และสิ่งที่ตลาดส่วนใหญ่ต้องการเห็นก็คือการใช้จ่ายของภาครัฐ และการหาแนวทางนโยบายการเงินการคลังที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศมากกว่า 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising