ม.หอการค้า คาด ฟุตบอลโลก ทำเงินสะพัดกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นเงินนอกระบบหรือการพนัน หนุนรัฐทุ่ม 1,600 ล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด เพราะคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัด 75,815 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินที่ใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เช่น การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค สังสรรค์ ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์รับสัญญาณ 18,561 ล้านบาท ส่วนอีก 57,253 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินที่จะเกิดนอกระบบเศรษฐกิจ เช่น การพนันบอล
ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ขณะนี้ยังคงต้องจับตาดูผลการประชุมของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่าจะมีการพิจารณานำเงินจำนวน 1,600 ล้านบาทไปใช้ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกมาให้ประชาชนได้รับชมหรือไม่ โดยมองว่าหากมีการถ่ายทอดสดก็จะทำให้บรรยากาศเทศกาลฟุตบอลโลกมีความคึกคักและเกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่หากไม่มีการถ่ายทอดสดก็จะทำให้เงินหายไปในระบบเศรษฐกิจ 5,000-10,000 ล้านบาท
“เทศกาลฟุตบอลโลกน่าจะมีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ให้ขยายตัวได้ 4-4.5% หรือมีเม็ดเงินสะพัดในช่วงปลายปีนี้ประมาณ 35,000 ล้านบาท ส่งผลให้ GDP ทั้งปีขยายตัวตามเป้าที่ 3-3.5%” ธนวรรธน์กล่าว
ธนวรรธน์ยังกล่าวอีกว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่าเม็ดเงินจำนวน 1,600 ล้านบาทที่จะต้องจ่ายเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก มีความคุ้มค่าสูงในเชิงเศรษฐกิจ เพราะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบค่อนข้างมาก และเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนเช่นเดียวกับโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่างๆ โครงการคนละครึ่ง และการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตากระแส ฟุตบอลโลกปี 2022 จะคึกคักหรือไม่ หลังเศรษฐกิจซบเซา กำลังซื้อยังไม่กลับมา ฝั่งสินค้าชะลอใช้งบโฆษณา
- ‘สปอนเซอร์และ CRM’ เบื้องหลังเหตุผลที่ ‘สโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ’ ยอมเดินทางครึ่งโลกเพื่อมาหาแฟนบอลเอเชียอีกครั้ง!
- ฝืดในสนามไม่เป็นไร ตราบใดที่ฟอร์มใน Wall Street ของ แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด ยังร้อนแรง!