×

‘สปอนเซอร์และ CRM’ เบื้องหลังเหตุผลที่ ‘สโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ’ ยอมเดินทางครึ่งโลกเพื่อมาหาแฟนบอลเอเชียอีกครั้ง!

16.08.2022
  • LOADING...
สโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้สโมสรเหล่านี้ต้องลำบากลำบนเดินทางมาไกลขนาดนี้ ทั้งๆ ที่มองในแง่ของการเตรียมทีมแล้วไม่มีอะไรตอบโจทย์เลยสักอย่าง คือเรื่องของ ‘ความผูกพัน’ โดยเฉพาะในทวีปที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘บ้านหลังที่สอง’ อย่างทวีปเอเชีย
  • สโมสรฟุตบอลดังในยุโรปอย่างลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือเรอัล มาดริด จะเรียกร้องเงินค่าตอบแทนจากการเดินทางไปแข่งขันราว 2 ล้านปอนด์ หรือ 88 ล้านบาทต่อเกม ขณะที่ทีมระดับกลางของพรีเมียร์ลีกจะคิดค่าตัวที่ 500,000 ปอนด์ หรือ 22.1 ล้านบาทต่อเกม
  • แต่ถึงจะรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีมายาวนานหลายสิบปี สิ่งที่สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกเองกำลังเผชิญความท้าทายคือเรื่อง ‘ช่องว่างระหว่างเจเนอเรชัน’ เพราะคนรุ่นใหม่มีหลายอย่างที่ดึงดูดใจมากกว่าแค่เกมฟุตบอล

ไม่ว่าจะถูกจดจำอย่างไร เกม ‘THE MATCH: Bangkok Century Cup 2022’ ที่สองสโมสรจากฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษมาแข่งกันในราชมังคลากีฬาสถาน เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา คือเกมที่เป็นปรากฏการณ์

 

เพราะนี่คือครั้งแรกที่ลิเวอร์พูลและแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สองสโมสรที่มีฐานแฟนฟุตบอลมากที่สุดของอังกฤษเดินทางโคจรมาพบกันเองในเกมอุ่นเครื่องในทวีปเอเชีย

 

อย่างไรก็ดีในช่วงการพรีซีซัน (คือช่วงการเตรียมความพร้อมของทีมก่อนที่ฤดูกาลแข่งขันจะเริ่ม) ที่ผ่านมาไม่ได้มีแค่ลิเวอร์พูลและแมนฯ ยูไนเต็ดแค่สองทีมเท่านั้นที่เดินทางไกลมากว่าครึ่งโลก

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ที่เกาหลีใต้ชาวกิมจิได้ต้อนรับ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ อีกหนึ่งสโมสรฟุตบอลระดับชั้นนำของอังกฤษ ที่มีฮีโร่ของพวกเขาอย่าง ซนฮึงมิน (Son Heungmin) ร่วมทัพอยู่ด้วย และที่สิงคโปร์ คริสตัล พาเลซ เป็นอีกสโมสรที่เดินทางมาทำการอุ่นเครื่องกับลิเวอร์พูล

 

สโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

ภาพ: Han Myunggu / Getty Images

 

อะไรที่ทำให้สโมสรเหล่านี้ถึงต้องลำบากลำบนเดินทางมาไกลขนาดนี้กัน ทั้งๆ ที่มองในแง่ของการเตรียมทีมแล้วไม่มีอะไรตอบโจทย์เลยสักอย่าง

 

เพราะเอเชียคือบ้านหลังที่สอง

ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเพิ่งจะมีอายุครบรอบ 30 ปีไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังจากเริ่มต้นทำการแข่งขันครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 1992

 

ถ้าเปรียบเป็นคนก็เลยวัยหนุ่มสาว พ้นช่วง First Jobber ไปแล้ว และกำลังไต่ทะยานไปตามเส้นทางอาชีพของตัวเองแล้ว ซึ่งพรีเมียร์ลีกก็เป็นเช่นนั้น ที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง และรักษาสถานะ ‘ลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดของโลก’ เอาไว้ได้ตลอด

 

หนึ่งในเหตุผลที่สำคัญคือเรื่องของ ‘ความผูกพัน’ กับแฟนฟุตบอลทั่วโลก โดยเฉพาะในทวีปที่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘บ้านหลังที่สอง’ อย่างทวีปเอเชีย

 

ความรักระหว่างแฟนบอลกับสโมสรฟุตบอลจากอังกฤษนั้นไม่ได้เพิ่งมีแค่ 30 ปี แต่ยาวนานกว่านั้นมากมายนัก โดยอาจจะย้อนกลับได้ไกลถึง 40-50 ปี จากยุคที่คนรุ่นปู่ที่นานๆ จะได้มีโอกาสชมการถ่ายทอดสดเกมฟุตบอลทางโทรทัศน์สักครั้ง และติดตามข่าวสารจากหนังสือพิมพ์กีฬาที่ต้องแวะซื้อทุกเช้า จนถึงรุ่นหลานที่ข้อมูลข่าวสารทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้วมือ ชนิดที่อะไรเกิดขึ้นในอีกครึ่งโลกคนทางนี้จะได้รู้ทันทีในระะยเวลาห่างกันหลักวินาที

 

“ผมไม่มีศาสนา ผมไม่นับถือพระเจ้า ลิเวอร์พูลคือศาสนาของผม มันคือวิถีชีวิตของผม” วีเจย์ (Vijay) แฟนฟุตบอลชาวสิงคโปร์คนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ BBC

 

วีเจย์ไม่ได้เป็นแค่คนเดียว แต่ยังมีแฟนฟุตบอลอีกหลายหมื่นคนในสิงคโปร์ (รวมถึงแฟนฟุตบอลชาวไทยที่เดินทางไปดูเกมระหว่างลิเวอร์พูล vs. คริสตัล พาเลซ ที่โน่นพร้อมถือโอกาสไปเที่ยวในตัว…ผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในนั้น!) ที่ใช้เวลาสุดสัปดาห์ไปกับการเฝ้าติดตามทีมรักมากกว่าการใช้เวลาทำอย่างอื่น

 

นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้มีแฟนฟุตบอลจำนวนมากมายมหาศาลที่พร้อมเดินทางอย่างยากลำบาก ทั้งร้อนทั้งฝนแต่ก็ทนได้ หากจะได้เห็นนักเตะที่รักแค่หลักไม่กี่วินาที ไม่นับค่าใช้จ่ายไม่น้อยหากต้องการจะเข้าไปชมเกมสดๆ ในสนาม

 

โดยเฉพาะในเกม THE MATCH ที่ค่าตั๋วเข้าชมเกมสูงในระดับที่แฟนบอลจากยุโรปยังทึ่งกับความ ‘เครซี’ ของแฟนบอลเอเชีย

 

สโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / THE STANDARD 

 

สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถประเมินออกมาเป็นมูลค่าได้ ดังนั้นถึงจะต้องเดินทางไกลกว่าครึ่งโลก เจอกับสภาพอากาศที่ไม่คุ้นเคย ทั้งร้อนและชื้น สูญเสียโอกาสในการเตรียมความพร้อมแบบเต็มที่ ต้องเจียดเวลาเพื่อมาพบกับแฟนๆ ที่เฝ้ารอ แต่ก็เป็นสิ่งที่สโมสรพรีเมียร์ลีกจำเป็นต้องทำ

 

ไม่ใช่แค่ตอบแทนความรัก แต่มันหมายถึงเม็ดเงินมากมายมหาศาลที่ไม่สามารถมองข้ามได้

 

“เอเชียคือทวีปที่มีฐานแฟนฟุตบอลใหญ่ที่สุดของเรา” บิลลี โฮแกน ซีอีโอของสโมสรลิเวอร์พูลให้สัมภาษณ์กับ BBC “บางคนเคยพูดกับผมว่า ผมจะไปโผล่ที่สนามบินไหนก็ได้ แค่ออกจากสนามบินก็จะเจอแฟนบอลลิเวอร์พูลแล้ว แต่ 3 ใน 4 ของฐานแฟนฟุตบอลของเราทั่วโลกอยู่ที่นี่ และเรารู้สึกว่าเรามีโอกาสที่วิเศษมากๆ ที่เอเชีย”

 

สปอนเซอร์และ CRM คือภารกิจเบื้องหลัง

คำพูดของ บิลลี โฮแกน มีความหมายตามนั้น ซึ่งแฟนบอลในเอเชียไม่ได้มีความหมายแค่สำหรับลิเวอร์พูล แต่มีความหมายสำหรับทุกสโมสรในพรีเมียร์ลีก

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะปัจจุบันรายได้หลักที่สโมสรจะได้รับมาจากเงินส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด และปัจจุบันเงินค่าลิขสิทธิ์ที่ขายให้แก่ผู้ให้บริการจากทั่วโลกนั้นสูงกว่าผู้ให้บริการท้องถิ่นในอังกฤษไปแล้ว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เกิดเรื่องนี้ขึ้นในรอบ 30 ปีของการก่อตั้งพรีเมียร์ลีก

 

เฉพาะในเอเชียคาดว่าจะทำรายได้มากถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ หรือ 4.71 หมื่นล้านบาทในระหว่างปีนี้ไปจนถึงปี 2025

 

การรักษาสายสัมพันธ์กับแฟนฟุตบอลในเอเชียจึงมีความสำคัญในเชิงของธุรกิจ โดยเฉพาะในยุคที่คู่แข่งที่เคยเป็นมหาอำนาจในอดีตอย่าง ลาลีกา จากประเทศสเปน หรือเซเรีย อา จากประเทศอิตาลี ต่างพยายามไล่ตามอังกฤษให้ทัน

 

ในขณะที่หลายคนอาจจะคิดว่า การเดินทางมาทัวร์เอเชียสโมสรจะได้รับเงินค่าตอบแทนจำนวนมหาศาล ซึ่งตามรายงานของ The Athletic มีการอ้างอิงแหล่งข่าวระบุว่า สโมสรฟุตบอลดังในยุโรปอย่างลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หรือเรอัล มาดริด จะเรียกร้องเงินค่าตอบแทนจากการเดินทางไปแข่งขันราว 2 ล้านปอนด์ หรือ 88 ล้านบาทต่อเกม ขณะที่ทีมระดับกลางของพรีเมียร์ลีกจะคิดค่าตัวที่ 500,000 ปอนด์ หรือ 22.1 ล้านบาทต่อเกม

 

ตัวเลขดังกล่าวเมื่อเทียบกับรายได้จากทางอื่นของสโมสรเหล่านี้ไม่ได้มากนัก แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือโอกาสในการต่อยอดไปสู่การสานสัมพันธ์กับสปอนเซอร์

 

ยกตัวอย่างเช่นการเดินทางมาสิงคโปร์ของลิเวอร์พูล อีกนัยคือเกมฉลองให้แก่การเซ็นสัญญาการเป็นสปอนเซอร์ฉบับใหม่ของ Standard Chartered ที่มีมูลค่ามากกว่า 240 ล้านดอลลาร์ หรือราว 8 พันล้านบาท

 

สโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

 

ขณะที่เรื่องของ CRM (Customer Relationship Management) ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นั้นมีการประเมินว่าพวกเขามีแฟนฟุตบอลอยู่ในเอเชียมากถึง 50 ล้านคน โดยบนโซเชียลมีเดียนั้นมีการเชื่อมโยง (Connection) กันมากถึง 176 ล้านครั้ง

 

ตัวเลขเหล่านี้คือ ‘โอกาส’ ในการจะสร้างรายได้จากทั้งสิ่งที่ทำกันซื่อๆ อย่างการจำหน่ายสินค้า ไปจนถึงการเป็นโอกาสในการเก็บรวบรวมข้อมูลอินไซต์ของแฟนฟุตบอลที่ยินดีจะลงทะเบียนเพื่อร่วมกิจกรรมของสโมสร (แลกกับการใกล้ชิดนักฟุตบอลที่รัก)

 

ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกย้อนกลับไปสู่การพูดคุยกับสปอนเซอร์นั่นเอง “สิ่งแรกที่แบรนด์ใหญ่จะถามและต้องการเห็นก็คือข้อมูลของแฟนบอล” เควิน แม็คคัลลาห์ (Kevin McCullagh) บรรณาธิการภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสำนักข่าว SportBusiness กล่าว

 

“ก่อนที่แบรนด์เหล่านี้จะลงทุน พวกเขาอยากรู้ว่ามีแฟนฟุตบอลอยู่มากแค่ไหน ข้อมูล Demographic ของแฟนบอลเป็นอย่างไร อายุ มีจำนวนแฟนบอลผู้ชายกี่คน ผู้หญิงกี่คน ข้อมูลรายได้ของแฟนบอลเหล่านี้เป็นต้น”

 

แฟนบอลเอเชียไม่ใช่ห่านทองคำอีกแล้ว?

แต่ถึงจะรักษาสายสัมพันธ์ที่ดีมายาวนานหลายสิบปี สิ่งที่สโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกเองกำลังเผชิญความท้าทายคือเรื่อง ‘ช่องว่างระหว่างเจเนอเรชัน’

 

ไม่ใช่แค่เฉพาะแฟนฟุตบอลในอังกฤษที่มีแนวโน้มจะทำตัวห่างหายจากเกมลูกหนัง แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในทวีปเอเชียเองก็ไม่ได้จะเกิดมาแล้วเป็นแฟนฟุตบอลเหมือนที่ผ่านมาเสมอไป

 

ฟลอเรนติโน เปเรซ ประธานสโมสรเรอัล มาดริด ในสเปน ซึ่งเป็นหนึ่งในสองสโมสรที่มีฐานแฟนฟุตบอลทั่วโลกมากที่สุด (ไม่ใช่ในพรีเมียร์ลีกอย่างที่เขาว่ากัน…) เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ว่า “คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเกมฟุตบอลแล้ว พวกเขามีอย่างอื่นที่ดึงดูดความสนใจไป”

 

ไม่เพียงเท่านั้น ถึงพวกเขาจะรักเกมฟุตบอล รักทีมจากยุโรป รักสโมสรจากพรีเมียร์ลีก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าแฟนบอลเหล่านี้จะทำตัวเป็น ‘ห่านทองคำ’ ให้สโมสรเหล่านี้เก็บไข่สีทองไปขายทำเงินได้ง่ายๆ เหมือนเดิม

 

สโมสรฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

ภาพ: Daniele Badolato – Juventus FC / Juventus FC via Getty Images

 

“สโมสรฟุตบอลจากยุโรปไม่ควรคิดสมมติฐานเกี่ยวกับเอเชีย ในความเป็นจริงพวกเขาต้องสู้กว่าจะได้เงินแต่ละดอลลาร์ด้วยซ้ำ” ไซมอน แชดวิค (Simon Chadwick) Global Professor of Sport จาก Emylyon Business School ในฝรั่งเศสกล่าว

 

“ผู้บริโภคในเอเชียนั้นฉลาด ซับซ้อน และมีความเข้าใจสูงมาก สามารถบอกได้เลยว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แฟนฟุตบอลเอเชียนั้นห่างเหินจากสโมสรฟุตบอลในยุโรป ดังนั้นสิ่งที่จะแนะนำสโมสรเหล่านี้ได้ก็คือ อย่าทำตัวหยิ่งผยองหรือซื่อเกินไป และคิดว่าเอเชียคือห่านที่จะให้ไข่ทองคำไปตลอด”

 

ในความเห็นของแชดวิค การที่สโมสรจากพรีเมียร์ลีกจะเดินทางมาเยือนเอเชียนั้นจึงไม่ควรเป็นเรื่องของแผนการระยะสั้นหรือระยะกลาง ที่สบโอกาสว่างจากการทัวร์ทวีปอื่น (อเมริกา, ลาตินอเมริกา, ออสเตรเลีย ฯลฯ) แล้วจึงมา แต่ควรจะมีแผนการในการเดินทางมาทัวร์อย่างสม่ำเสมอ

 

เพราะถึงแฟนบอลเอเชียจะรักใครรักจริง แต่อย่าได้ดูถูกความรักของแฟนบอลเหล่านี้เด็ดขาด!

           

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

FYI
  • ก่อนหน้านี้สโมสรในพรีเมียร์ลีกไม่สามารถเดินทางออกไปทัวร์ทั่วโลกรวมถึงเอเชียได้เป็นเวลา 3 ปีด้วยกัน (2020-2022) เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด ที่ส่งผลกระทบต่อรายได้มากมายมหาศาล เช่น แมนฯ ยูไนเต็ดมีรายได้ลดลงเกือบ 50 ล้านปอนด์
  • ทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลรายการ International Champions Cup (ICC) ที่เริ่มในปี 2013 และสามารถรวมดาวทีมระดับท็อปของโลกไปทัวร์ตามประเทศต่างๆ เช่น อเมริกา ออสเตรเลีย (และเอเชียบ้างนิดหน่อย) มีส่วนสำคัญในการทำให้สโมสรจากพรีเมียร์ลีกห่างหายจากฐานแฟนบอลเดิมในเอเชีย
  • ในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา นอกจากสเปอร์สที่ประสบความสำเร็จสูงในการเจาะตลาดประเทศเกาหลีใต้ สโมสรจากลีกเอิงประเทศฝรั่งเศสอย่าง ปารีส แซงต์ แชร์กแมง ที่นำมาโดยซูเปอร์สตาร์ระดับสุดยอดของโลกอย่าง ลิโอเนล เมสซี, เนย์มาร์ และ คีลิยัน เอ็มบัปเป ก็ประสบความสำเร็จมหาศาลในการไปทัวร์ประเทศญี่ปุ่น โดยลงแข่ง 3 นัด และได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising