×

World Bank ระบุ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว หลัง GDP ไตรมาส 3 โตเกินคาด แต่ยังตามหลังหลายประเทศอาเซียน

14.12.2022
  • LOADING...
World Bank

ธนาคารโลกชี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวสูงกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว หลัง GDP ไตรมาส 3 โตเกินคาด อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังช้ากว่าหลายประเทศอาเซียนที่ฟื้นตัวไปก่อนแล้ว เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

 

วันนี้ (14 ธันวาคม) ธนาคารโลก (World Bank) ระบุในรายงาน Thailand Economic Monitor ฉบับล่าสุดว่า หลังจากเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ขยายตัวถึง 4.5% ส่งผลให้ระดับ GDP ของไทยฟื้นตัวสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีปัจจัยหลักมาจากการบริโภคในประเทศและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นจากการเปิดประเทศ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อย่างไรก็ตาม ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยของธนาคารโลก ชี้ให้เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังตามหลังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เช่น เวียดนามและอินโดนีเซีย ที่ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากที่สุดในภูมิภาค

 

ดร.เกียรติพงศ์ยังเตือนว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวขึ้นกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เห็นได้จากผลกระทบผ่านทางการค้าและตลาดเงิน โดยเฉพาะการค้าของไทยซึ่งเริ่มได้รับผลกระทบตั้งแต่ต้นปีแล้ว และยังฟื้นตัวกลับมาไม่สูงเท่าประเทศอื่น เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ โดยหมวดสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออุตสาหกรรมไฮเทคและรถยนต์

 

โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การส่งออกสินค้าของไทยจะขยายตัว 8.1% ในปีนี้ และหดตัว 2.1% ในปีนี้ นับว่าหดตัวหนักกว่าหลายสำนักที่ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากอุปสงค์ที่ลดลงจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ยูโรโซน และสหรัฐฯ

 

นอกจากนี้ ดร.เกียรติพงศ์ยังมองว่า แรงกดดันด้านราคาในประเทศไทยจะยังคงอยู่ต่อไป ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศไทยนำเข้าพลังงานค่อนข้างเยอะ และแม้เงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) จะชะลอตัว แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้สัญญาณเงินเฟ้อของสินค้าทั่วไปยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี เป็นสัญญาณว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อของไทยยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับประเด็นเรื่องดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นลบในช่วงเกิดการระบาดของโควิด เนื่องจากรายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่หายไป ธนาคารโลกคาดว่าจะกลับเป็นบวกในปีหน้า และต่อเนื่องไปถึงปี 2024 เนื่องจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว พร้อมทั้งประเมินว่าการท่องเที่ยวจะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดการระบาด 100% ในปี 2024 โดยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2023-2024 จะช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

 

ธนาคารโลกประเมินด้วยว่า ระดับหนี้สาธารณะไทยผ่านจุดสูงสุด (Peak) ไปแล้ว เนื่องจากรายจ่ายที่เกี่ยวกับโควิดเบิกจ่ายไปเกือบหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม มาตรการทางการคลังของประเทศไทย ซึ่งตั้งใจลดผลกระทบของค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น กลับทำให้การปรับตัวกลับเข้าสู่จุดสมดุลของฐานะการคลัง (Fiscal Consolidation) ช้าไปอีก นับว่าเป็นความท้าทายในระยะใกล้

 

นอกจากนี้ ดร.เกียรติพงศ์ยังเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจและผลิตภาพ (Productivity) ของไทยไปสู่ระดับสูง ได้แก่

  1. การลงทุนทางนวัตกรรม การลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล และให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากขึ้น
  2. การลงทุนในมนุษย์ เช่น การศึกษา การพัฒนาทักษะ สาธารณสุข
  3. การเปิดให้ภาคบริการมีการแข่งขันมากขึ้น
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X