×

‘เวิลด์แบงก์’ หั่นคาดการณ์ GDP ไทยปีนี้ลง 1% เหลือ 2.9% พิษสงครามรัสเซีย-ยูเครน

05.04.2022
  • LOADING...
World Bank

ธนาคารโลก หรือ ‘เวิลด์แบงก์’ ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้ลงเหลือ 2.9% จากที่ในเดือนมกราคมเคยคาดว่าจะขยายตัวได้ 3.9% สาเหตุสำคัญจากความเสี่ยงในต่างประเทศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงานโลก ซึ่งในกรณีเลวร้าย GDP ไทยอาจขยายตัวได้เพียง 2.6%

 

เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยมีสัดส่วนการนำเข้าพลังงานที่สูงถึง 45% ของ GDP ทำให้ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและแผนการลงทุนของภาคเอกชนเช่นเดียวกับความสามารถในการใช้จ่ายของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นก็จะกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคการส่งออกไทยอาจได้รับผลกระทบ

 

“ธนาคารโลกปรับลด GDP ไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.9% ในกรณีฐาน อย่างไรก็ดีในกรณีที่ผลกระทบจากสงครามยูเครนรุนแรงขึ้นจนเกิดภาวะช็อกในตลาดเงินและมาตรการทางการคลังของไทยไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามคาด เรามองว่า GDP อาจจะขยายตัวได้เพียง 2.6%” ฮานสล์กล่าว

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีปัจจัยบวกจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ทำให้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาราว 6.2 ล้านคน ขณะเดียวกันการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดก็จะส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศปรับดีขึ้น

 

สำหรับประเด็นที่มองว่ายังน่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทย คือปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่สูงถึง 90% ของ GDP เนื่องจากเงินเฟ้อที่แรงตัวขึ้นในขณะที่รายได้ของกลุ่มคนระดับล่างและเปราะบางยังฟื้นตัวไม่เต็มที่อาจซ้ำเติมให้ปัญหาหนี้สินของคนกลุ่มนี้รุนแรงขึ้น 

 

ฮานสล์ระบุว่า ธนาคารโลกคาดว่าแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปและไม่เท่าเทียมจะทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป โดย ธปท. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ตลอดทั้งปีได้ เนื่องจากเงินเฟ้อในเวลานี้เกิดจากแรงกดดันฝั่งอุปทานเป็นหลักซึ่งน่าจะเป็นภาวะชั่วคราว

 

“โอกาสที่จะเกิด Second Round Effect ของเงินเฟ้อในไทยยังมีจำกัด เพราะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ส่วนการขาดดุลการคลังของไทยก็มีแนวโน้มลดลงในปีนี้จากความจำเป็นในการใช้นโยบายการคลังที่ลดลง โดยคาดว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% ต่อ GDP ในปีนี้”  ฮานสล์กล่าว

 

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังประเมินว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อไทยไม่มาก เนื่องจากสัดส่วนหนี้ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับต่ำ

 

ในวันเดียวกัน ธนาคารโลกยังได้เผยแพร่รายงานตามติดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยระบุว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิดในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญความเสี่ยงเพิ่มเติมจากสงครามยูเครน การเข้มงวดทางการเงินของสหรัฐฯ และการชะลอตัวของจีน

 

โดยประเทศในภูมิภาคที่เป็นผู้นําเข้าเชื้อเพลิงรายใหญ่ เช่น มองโกเลียและไทย และนําเข้าอาหาร เช่น ประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก กําลังประสบภาวะถดถอยของรายได้ที่แท้จริง (Real Incomes) ส่วนประเทศที่มีหนี้สูง เช่น สปป.ลาว และมองโกเลีย และพึ่งพาการส่งออกสูง เช่น มาเลเซียและเวียดนามมีความอ่อนไหวเปราะบางเป็นพิเศษต่อภาวะสะดุดทางการเงินและการเติบโตของทั้งโลก

 

“ในเวลานี้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกําลังฟื้นตัวจากภาวะช็อกที่เป็นผลจากการแพร่ระบาด สงครามในยูเครนก็มาฉุดดึงการเติบโตที่กําลังเดินหน้า พื้นฐานที่เข้มแข็งและการดําเนินนโยบายที่เหมาะสมในภูมิภาคจะทําให้เศรษฐกิจสามารถฝ่าฟันพ้นพายุคราวนี้ไปได้” มานูเอลา วี. เฟอโร รองประธานธนาคารโลกสําหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว 

 

โดยผลสะเทือนจากเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้จะฉุดรั้งการเติบโตของประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาค โดยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมจะชะลอลงเป็น 5% ในปี 2022 ตำ่กว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคม 0.4% หากสภาพการณ์ทั้งโลกแย่ลงไปกว่าที่ประเมินไว้ และประเทศต่างๆ ใช้นโยบายที่ไม่เหมาะสมในการรับมือกับสถานการณ์ อาจทําให้การเติบโตลดลงไปเป็น 4%

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 86% ของทั้งภูมิภาค คาดว่าจะเติบโตที่ 5% ในกรณีฐาน และ 4% ในกรณีเลวร้าย ส่วนผลผลิตของส่วนที่เหลือในภูมิภาคคาดว่าจะขยายตัว 4.8% ในกรณีฐานและ 4.2% ในกรณีเลวร้าย ซึ่งในกรณีเลวร้ายคาดว่าจํานวนผู้ที่ตกอยู่ในความยากจนในภูมิภาคปี 2022 จะเพิ่มขึ้นอีก 6 ล้านคน ณ เส้นความยากจนที่ 5.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

 

รายงานดังกล่าวระบุว่า สงคราม การเข้มงวดทางการเงิน และการชะลอตัวของจีน มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจหลังยุคโควิดเผชิญกับอุปสรรคที่มากขึ้นจากเดิม โดยกิจการในภูมิภาคที่รายงานว่ามีหนี้ค้างชําระในปี 2021 คิดเป็นกว่า 50% ของกิจการทั้งหมด จะได้รับผลกระทบจากภาวะชะงักงันของอุปทานและอุปสงค์ครั้งใหม่ 

 

ขณะที่ครัวเรือนต่างๆ จํานวนมากที่กลับไปอยู่ในความยากจนในช่วงการแพร่ระบาด จะประสบกับการหดตัวของรายได้ที่แท้จริงหนักยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อราคาสินค้าถีบตัวสูงขึ้น ประเทศที่มีฐานะเป็นลูกหนี้และมีสัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้น 10% นับตั้งแต่ปี 2019 จะประสบกับความยากลําบากในการดําเนินนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากกว่าคาดอย่างน้อยที่ 1% จากราคาน้ํามันเพียงปัจจัยเดียว จะลดขีดความสามารถในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

 

“ภาวะช็อกที่โถมเข้ามาอย่างต่อเนื่องหมายความว่าประชาชนที่ต้องกลืนเลือดในทางเศรษฐกิจหนักขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากรัฐบาลของตัวเองจะมีศักยภาพทางการคลังลดด้อยถอยลงไปอีก การปฏิรูปทางการคลัง การเงิน และการค้าจะลดความเสี่ยง ฟื้นการเติบโต และลดความยากจนได้” อาดิตยา แมตทู หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจําเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกล่าว 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising