×

รายงานธนาคารโลกชี้ อัตราความยากจนในไทยเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

05.03.2020
  • LOADING...

ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานความยากจนและสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยฉบับล่าสุดในวันนี้ (5 มีนาคม) โดยระบุว่าถึงแม้ไทยจะประสบความสำเร็จในการลดความยากจนตลอดช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (จากสัดส่วนคนยากจนในประเทศที่สูงถึง 65% ในปี 2531 ลงมาเหลือต่ำกว่า 10% ในปี 2561) แต่การเติบโตของรายได้ครัวเรือนและการบริโภคได้หยุดชะงักลงทั่วประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ความก้าวหน้าในการลดความยากจนของไทยถดถอยลง พร้อมกับจำนวนประชากรยากจนที่เพิ่มขึ้น 

 

รายงานระบุว่าระหว่างปี 2558-2561 อัตราความยากจนของไทยเพิ่มขึ้นจาก 7.2% เป็น 9.8% ขณะที่จำนวนประชากรที่อยู่ในภาวะยากจนเพิ่มขึ้นจาก 4.85 ล้านคนเป็นมากกว่า 6.7 ล้านคน ซึ่งความยากจนที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคใน 61 จังหวัดจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวจำนวนประชากรที่ยากจนในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งล้านในแต่ละภาค ในขณะที่อัตราความยากจนในพื้นที่ขัดแย้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สูงที่สุดเป็นครั้งแรกในปี 2560

 

ความยากจนที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดขึ้นพร้อมกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใหม่และเปลี่ยนแปลงในเศรษฐกิจไทย โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก โดยโตเพียง 2.7% ในไตรมาส 4 ของปี 2562 นอกจากนี้ภาวะภัยแล้งยังเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยากจนที่สุดอยู่แล้วด้วย

 

เบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “แนวโน้มความยากจนในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าแม้ไทยจะมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่ดีในระดับหนึ่ง แต่กระนั้นครัวเรือนก็ยังมีความเปราะบางต่อภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ

 

“การที่ประเทศไทยจะก้าวสู่สถานะประเทศที่มีรายได้สูงอย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ได้นั้น ครัวเรือนของไทยต้องได้รับการปกป้องจากการที่รายได้ของครัวเรือนปรับลดลงรุนแรง เช่น จากความเจ็บป่วย การตกงาน และภัยธรรมชาติที่ดีกว่านี้ ที่สำคัญไม่แพ้กันคือไทยต้องสนับสนุนให้มีการสร้างงานที่มีผลิตภาพและงานที่มีค่าจ้างสูงกว่านี้”

 

จากสถิตินับตั้งแต่ปี 2531 ซึ่งเป็นปีแรกที่ได้จัดพิมพ์รายงานอัตราความยากจนอย่างเป็นทางการ พบว่าที่ผ่านมาอัตราความยากจนของไทยเพิ่มขึ้น 5 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือปี 2559 และ 2561 นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 3 ครั้งในปี 2541, 2543 และ 2551 รายงานยังชี้ให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอาเซียนที่มีอัตราความยากจนเพิ่มขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา

 

สำหรับเกณฑ์ชี้วัดอัตราความยากจนระดับรุนแรงตามมาตรฐานสากลซึ่งดูจากประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 1.9 ดอลลาร์ต่อวันนั้น พบว่ามีเพียง 0.03% ในประเทศไทย  

 

ส่วนตัวชี้วัดระดับสากลด้านภาวะความเป็นอยู่ที่ดีของไทยก็อยู่ในระดับที่ดี เช่น การเข้าเรียนของเด็กปฐมวัย การมีน้ำใช้ สุขาภิบาล และการมีไฟฟ้าใช้ที่ดีกว่าเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน 

 

แต่ในด้านความเหลื่อมล้ำนั้นยังคงเป็นประเด็นปัญหาสำคัญของไทย โดยที่ความมั่งคั่งยังไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 40% ได้ดีนัก ในช่วงปี 2558-2560 ที่ผ่านมายังพบว่าประชากรกลุ่มนี้มีการบริโภคและรายได้ติดลบ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มการเติบโตของประชากรกลุ่มนี้พลิกผันในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดจากรายได้แรงงานทุกประเภทลดลง รวมถึงการหยุดนิ่งของการเพิ่มค่าจ้าง และรายได้จากภาคการเกษตรและธุรกิจลดลง

 

จูดี้ หยาง นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลกและผู้เขียนรายงานฉบับนี้กล่าวว่า “ความเหลื่อมล้ำเป็นประเด็นที่ต้องการรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงความเข้าใจถึงความเปราะบางในเรื่องต่างๆ เพื่อที่ไทยจะสามารถสร้างสังคมที่กระจายความมั่งคั่งได้ทั่วถึงทุกคน

 

“การกำจัดความยากจนที่ฝังรากมานานต้องใช้ยุทธศาสตร์ช่วยบรรเทาความเสี่ยงในระยะสั้น และต้องอาศัยการลงทุนอย่างทั่วถึงในระยะยาว” หยางกล่าว

 

ธนาคารโลกเรียกร้องให้มีมาตรการและการลงทุนเพื่อช่วยเปลี่ยนผ่านประเทศไทย โดยในระยะสั้นไทยต้องใช้โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม ต้องมีการระบุประชากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงได้อย่างเที่ยงตรงกว่านี้ และเร่งสร้างงานที่ดีกว่าให้กับครัวเรือนในภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วเช่นนี้ 

 

ส่วนในระยะยาว การลงทุนในคนรุ่นใหม่อย่างเท่าเทียมกันถือเป็นประเด็นสำคัญ คนรุ่นต่อไปจะมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและอัตราการเจริญพันธุ์ลดลง เด็กทุกคนต้องได้รับความใส่ใจอย่างเท่าเทียมและได้รับโอกาสทางสุขภาพและการศึกษาอย่างเสมอภาค เพื่อให้เด็กเหล่านี้สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพสูงสุด ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้ครัวเรือนหลุดพ้นจากกับดักความยากจนจากคนรุ่นก่อนได้ อีกทั้งช่วยส่งเสริมประชากรสูงวัย และกระตุ้นโอกาสการเติบโตของประเทศไทย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • ธนาคารโลก

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising