×

World Bank ชี้ ดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้น แต่สร้างต้นทุนการคลังระยะยาว คาดดัน ‘หนี้สาธารณะ’ แตะ 65-66% ต่อ GDP

14.12.2023
  • LOADING...
World Bank

World Bank ประเมินโครงการดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้น 0.5-1.0% ในช่วงระยะเวลา 2 ปี แต่สร้างต้นทุนการคลังระยะยาว คาดดัน ‘หนี้สาธารณะ’ แตะ 65-66% ต่อ GDP

 

วันนี้ (14 ธันวาคม) ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ฉบับเดือนธันวาคม 2566 โดยคาดการณ์ว่าหากมีการดำเนินโครงการเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท (ซึ่ง World Bank ประเมินว่าจะใช้งบประมาณ 5 แสนล้านบาท หรือ 2.7% ของ GDP) ในเดือนพฤษภาคม 2567 คาดว่าการเติบโตจะเพิ่มสูงกว่าการคาดการณ์พื้นฐานอีก 0.5-1.0% ในช่วงระยะเวลา 2 ปี

 

ขณะที่หนี้สาธารณะอาจปรับตัวขึ้นแตะ 65-66% ต่อ GDP ในปี 2567-2568 ส่วนการขาดดุลทางการคลังอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% ของ GDP ใกล้ระดับเฉลี่ยในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563-2565

 

ขณะที่ ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทยจากธนาคารโลก ระบุว่า หากมีการดำเนินการ (Implement) โครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำให้ GDP ไทยถูกกระตุ้นได้ในระยะสั้น และจะชะลอเส้นทางการรัดเข็มขัดทางการคลังของรัฐบาลไทย (Fiscal Consolidation)

 

“โดยรวมแล้วดิจิทัลวอลเล็ตมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่มีต้นทุนทางการคลังยาว” ดร.เกียรติพงศ์กล่าว

 

นอกจากนี้ ดร.เกียรติพงศ์ ยังเตือนว่า มีลักษณะพิเศษบางประการ (Specific Characteristic) ที่อาจทำให้ผลลัพธ์ (Impact) ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต่อ GDP Growth ลดลง ได้แก่

 

  1. การครอบคลุมผู้มีสิทธิ์ (Coverage) โดยยิ่งมีผู้ได้รับสิทธิ์มากเพียงใด ผลต่อ GDP ยิ่งลดลง
  2. ความเป็นไปได้ที่จะรั่วไหลไปต่างประเทศ (Potential Leakage) โดยเฉพาะสินค้านำเข้า
  3. สินค้าในบางพื้นที่อาจไม่เพียงพอ (Limited Supply Capacity) โดยเฉพาะในบางจังหวัด ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยได้
  4. ความท้าทายในการดำเนินการ (Implementation Challenge) โดยรัฐบาลจำเป็นต้องทำให้มั่นใจว่าจะมีผู้ขายหรือร้านค้า (Vendors) เพียงพอ

 

World Bank 

 

เปิดประมาณการเศรษฐกิจไทยฉบับปรับปรุง

 

ส่วน GDP ไทยในปี 2566 คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 2.6% ในปี 2565 เหลือขยายตัว 2.5% โดยการปรับลดดังกล่าวมีสาเหตุมาจากผลการดำเนินเศรษฐกิจที่อ่อนแอในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากการสะสมทุนที่ลดลงอย่างมาก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่อ่อนแอกว่าที่คาดไว้เนื่องจากการส่งออกสินค้าหดตัว

 

สำหรับประมาณการเศรษฐกิจในปี 2567 และ 2568 GDP คาดว่าจะขยายตัว 3.2% และ 3.1% ตามลำดับ โดยการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนที่มั่นคงคาดว่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญในการเติบโต ซึ่งลดลงจากประมาณการก่อนหน้าที่คาดว่าในปี 2567 เศรษฐกิจไทยจะโต 3.4% ในปี 2567

 

World Bank ยังคาดว่าการส่งออกสินค้าในปี 2567 จะฟื้นตัว โดยได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่คาดการณ์ไว้ และภาวะการเงินโลกที่คาดว่าจะผ่อนคลายลงแม้ว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวก็ตาม

 

นอกจากนี้ World Bank ยังคาดว่าในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 35.8 ล้านคน หรือคิดเป็น 90% ของระดับก่อนการแพร่ระบาดในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 28.3 ล้านคนในปี 2566

 

ส่องสถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย

 

World Bank คาดว่าในปี 2565 ความยากจนจะลดลงเนื่องจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การบริโภคต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้น 8.1% ระหว่างปี 2664-2565 จากการที่ครัวเรือนมีรายได้และการบริโภคที่เพิ่มขึ้น คาดว่าอัตราความยากจนที่เส้น 6.85 ดอลลาร์สหรัฐ จะลดลงเหลือ 11% ในปี 2565 จาก 12.2% ในปี 2564

 

World Bank ยังแนะว่าในระยะกลางประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับความช่วยเหลือทางสังคม และการโอนเงินช่วยเหลือที่ตรงเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพื่อจัดการกับสวัสดิการและการบรรเทาความยากจนอย่างมีประสิทธิผล ประเทศไทยยังสามารถดำเนินการปฏิรูปเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของการใช้จ่ายสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสาธารณสุขและการศึกษา

 

นอกจากนี้ประเทศไทยมีพื้นที่ในการเพิ่มรายได้จากภาษีและรักษาความยั่งยืนทางการคลัง ในขณะเดียวกันก็สามารถตอบสนองต่อแรงกดดันด้านการใช้จ่ายภาครัฐและความต้องการด้านการลงทุนได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising