×

โลกหลังโควิด-19… เศรษฐกิจไทย ไป (ไม่) รอด?

04.12.2020
  • LOADING...
โลกหลังโควิด-19… เศรษฐกิจไทย ไป (ไม่) รอด?

เป็นเวลาเกือบครบ 1 ปีแล้วที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะวิกฤตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือ ‘เราเจ็บหนักกว่าคนอื่น’ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน โดย International Monetary Fund (IMF) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2020 จะหดตัว 7.1% ซึ่งเป็นอัตราการหดตัวที่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองแค่ประเทศฟิลิปปินส์ที่เกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง (รูปที่ 1)

นอกจากนี้เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นในปี 2021 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้เพียง 4.0% ซึ่งต่ำกว่าเพื่อนบ้านทุกประเทศ โดยต้องไม่ลืมว่าอัตราการเติบโตดังกล่าวคิดจากฐานที่ต่ำอยู่แล้วในปี 2020

 


เศรษฐกิจไทยคือร่างกายที่เสี่ยงโรคร้ายและฟื้นไข้ได้ยาก
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนปัญหาของเศรษฐกิจไทยได้ดี โดยหากเปรียบเทียบเศรษฐกิจกับร่างกายแล้ว สุขภาพเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย แถมยังเป็นร่างกายที่อ่อนแอฟื้นไข้ได้ยาก

สาเหตุที่ไทยเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่าประเทศอื่น เป็นเพราะไทยพึ่งพิงการเติบโตจากภายนอก นั่นคือภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกมากจนเกินไป ขณะเดียวกันก็ขาดแรงขับเคลื่อนจากภายใน ได้แก่ การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ที่ควรจะขึ้นมามีบทบาทแทน ไทยจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัวลง

ขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยก็มีร่างกายที่อ่อนแอ เห็นได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขาดสมดุลในสามมิติ

มิติที่หนึ่ง คือความไม่สมดุลของแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ที่พึ่งพาแรงส่งจากต่างประเทศมากเกินไป ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

มิติที่สอง คือความไม่สมดุลของทักษะแรงงานกับความต้องการจ้างงานที่เปลี่ยนแปลงไป ดังจะเห็นได้ว่าแรงงานไทยขาดทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพที่จะเป็นที่ต้องการมากขึ้นในอนาคต โดยงานวิจัยของ วรประภา นาควัชระ และ เนื้อแพร เล็กเฟื่องฟู (2020) พบว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของความต้องการแรงงานไปอย่างมาก ซึ่งใน Worst-case Scenario จะทำให้ 1 ใน 3 ของแรงงานไทยเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียงาน[i]

มิติที่สาม คือความไม่สมดุลของการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปแบบของความเหลื่อมล้ำ รายงานความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทยปี 2019 ระบุว่า คนที่มีรายได้มากที่สุด 10% แรกยังมีรายได้สูงกว่าคนที่มีรายได้น้อยที่สุด 10% ถึง 16 เท่า โดยคนที่มีรายได้มากที่สุด 10% ครอบครองรายได้ 1 ใน 3 ของรายได้รวมของคนไทยทั้งประเทศ[ii]

นอกจากนี้ความเหลื่อมล้ำของคนไทยยังปรากฏอยู่ในรูปแบบของความเหลื่อมล้ำด้าน ‘ภูมิคุ้มกัน’ โดยการระบาดของโควิด-19 รอบนี้ส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดเล็กมากที่สุด วิจัยกรุงศรีพบว่า ครึ่งหนึ่งของครัวเรือนที่เผชิญภาวะกระแสเงินสดติดลบในช่วงการระบาดของโควิด-19 เป็นครัวเรือนรายได้น้อย ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 14,100 บาทต่อเดือน[iii] ขณะที่ธุรกิจที่ขาดสภาพคล่องและไม่สามารถชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนดในปี 2021 ได้กว่า 95% เป็นธุรกิจขนาดเล็ก[iv] อาการดังกล่าวสะท้อนความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงปัจจัยที่ช่วยรองรับผลกระทบจาก Shocks ทางเศรษฐกิจ เช่น คนที่มีรายได้มากที่สุด 10% ในปี 2019 ถือครองทรัพย์สินทางการเงินถึงครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทางการเงินรวมของคนไทยทั้งประเทศ เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยป่วยและอ่อนแอเพราะขาด ‘ภูมิคุ้มกัน’ จากการเติบโตอย่างสมดุล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ถึงรากของปัญหา นั่นคือโครงสร้างเชิงสถาบันที่กำกับวิธีคิดและวิธีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน

การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยท่ามกลางวิกฤตโควิด-19
แต่ในทุกวิกฤตมีโอกาส…ในขณะที่เรากำลังเผชิญกับวิกฤตอยู่นั้น อาจเป็นช่วงเวลาเหมาะสมที่สุดที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรก เรามักกังวลกันว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจะต้องแลกกับการลดบทบาทของธุรกิจเดิมซึ่งขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในปัจจุบัน แต่ในเวลานี้การระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบเดิมหยุดชะงักลงไป ดังนั้น ‘ค่าเสียโอกาส’ จากการยอมสละผลประโยชน์ในปัจจุบันเพื่ออนาคตจึงมีน้อยมาก

ประการที่สอง หากเรามองดูบริบทของเศรษฐกิจโลกจะพบว่า เรากำลังอยู่ท่ามกลาง Mega Trend ที่เร่งให้ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนเร็วขึ้น และการเปลี่ยนแปลงนั้นอาจเกิดขึ้นอย่างพลิกโฉมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนก็เป็นไปได้ ซึ่งผมกล่าวถึงไปในบทความที่แล้ว ภูมิทัศน์ใหม่จึงมาพร้อมกับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ไปพร้อมกัน เปรียบเสมือนกับผืนดินที่เกิดขึ้นใหม่และรอการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่สามารถงอกเงยเป็นดอกผลได้ในระยะต่อไป สิ่งดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หากเราเตรียมคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ เตรียมเครื่องไม้เครื่องมือไว้ให้พร้อมสำหรับภูมิทัศน์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น และนั่นก็คือการเตรียมปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่สำหรับโลกหลังโควิด-19

ถอดบทเรียนเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส จากการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน
ผมขอเล่าตัวอย่างของประเทศที่คว้าโอกาสในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ได้ดี นั่นคือประเทศจีนครับ

อย่างที่เราทราบกันว่าเศรษฐกิจจีนก็มีร่างกายที่อ่อนแอไม่แพ้ไทย เนื่องจากมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบี้ยวจากการพึ่งพาการลงทุนและการส่งออกมากจนเกินไป อีกทั้งยังเติบโตบนหนี้ภาคเอกชนขนาดใหญ่ที่ไม่ได้สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากเท่าที่ควร

แต่จีนเห็นปัญหาและปรับตัวได้เร็ว ก่อนการระบาดของโควิด-19 จีนดำเนินนโยบาย Dual Circulation Policy ซึ่งลดการพึ่งพาแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศ และเพิ่มบทบาทของอุปสงค์ภายในประเทศโดยใช้เทคโนโลยีเป็น Enabling Factor ซึ่งจีนใช้โอกาสในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในการเร่งการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

ในช่วงที่กำลังฟื้นฟูจากการระบาดของโควิด-19 จีนเลือกลงทุนอย่างชาญฉลาด โดยโยกเม็ดเงินลงทุนมายังโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและยานยนต์อัจฉริยะ โดยเฉพาะ 5G, AI และ Big Data (รูปที่ 2) ในขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนรายงานว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2020 มีผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตร AI ในจีนสูงถึง 101,734 รายการ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 56% จากเวลาช่วงเดียวกันของปีก่อน[v]

 

 

ที่น่าสนใจคือจีนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโดยไม่ลืมนึกถึงการวางโครงสร้างเชิงสถาบันเพื่อกระจายผลประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเหมาะสม จะเห็นตัวอย่างได้จาก State Administration for Market Regulation ซึ่งกำกับการแข่งขันของจีน ได้ออกกฎระเบียบใหม่เพื่อป้องกันการผูกขาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งเป็นการวางรากฐานทางกฎหมายเพื่อกระจายผลประโยชน์จากเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนอย่างเหมาะสม[vi]

“Hurry up please, it’s time”
ผมเชื่อว่า… ท่ามกลางวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ตอนนี้เป็นเวลาเหมาะสมที่สุดแล้วที่เราควร ‘ช่วยกันคิด’ ว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับภูมิทัศน์ใหม่ที่จะมาถึงในไม่ช้า

สภาพเศรษฐกิจไทยในตอนนี้ทำให้ผมนึกถึงวรรณกรรมสมัยใหม่เรื่อง The Waste Land ที่กวีชั้นครู T. S. Eliot เขียนขึ้นในช่วงปี 1910-1920 อันเป็นช่วงเวลาที่โลกเผชิญกับการระบาดของไข้หวัดสเปน (Spanish Flu) ซึ่งแม้กระทั่ง Eliot และภรรยาก็ได้รับเชื้อและต้องต่อสู้กับไข้หวัดสเปนเช่นกัน

ในวรรคหนึ่ง กวีบรรยายถึงบทสนทนาของหญิงสาวในบาร์ในช่วงเวลาที่ใกล้ปิดร้าน ระหว่างที่บทสนทนาดำเนินไป เจ้าของบาร์จะตะโกนเร่งหญิงสาวอยู่เป็นระยะว่า “Hurry up please, it’s time” บาร์ที่กำลังจะปิดลง

ฉากทัศน์ดังกล่าวสะท้อนถึงโลกใบเดิมที่เราต้องทิ้งไว้ข้างหลัง และคงจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเปิดประตูออกไปสู่ภูมิทัศน์ใหม่ รีบคว้าโอกาสที่ซ่อนอยู่…ในวิกฤตโควิด-19

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising