Q: ในทีมผมมีเพื่อนร่วมงานที่เป็นคน Panic อยู่ตลอดเวลา ไม่รู้คิดอะไรมากมายว่างานมันต้องไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ กลัวนั่นกลัวนี่จะไม่ดีตลอดเวลา จนผมทำงานด้วยแล้วเกร็ง ปวดหัวตามไปด้วย ไม่ได้มีคนเดียวด้วย มีหลายคน ผมควรทำงานกับคน Panic แบบนี้อย่างไรดีครับ
A: มนุษย์ Panic นี่มองอีกมุมเป็นประโยชน์กับทีมมากนะครับ เพราะเขานี่แหละคือคนที่มองหาความเป็นไปได้ของหายนะที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในทุกรูปแบบ ซึ่งบางอย่างเราอาจจะนึกไม่ถึงว่างานของเราจะเจอความบรรลัยได้ขนาดนั้นเลยหรือ เวลาทำงานเราถึงต้องมีการคิด Worst Case Scenario หรือเหตุการณ์แย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ในการทำงาน พอระบุได้แล้วว่ามันอาจจะเกิดความเสี่ยงอะไรได้บ้าง เราก็มาคิดว่าแล้วถ้ามันเกิดขึ้น เราจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร ยิ่งคิดเผื่อไว้ก่อนยิ่งดีครับ เพราะบางทีถ้าปัญหาเกิดขึ้นจริงแล้วไม่เคยคิดไว้ก่อน จะไปคิดตอนนั้นก็อาจจะสายไปแล้วก็ได้
ผมเคยคุยกับพี่อ้อย-นภาพร ไตรวิทย์วารีกุล ว่าถ้ามีคนทำงานคิดลบเราจะทำอย่างไร พี่อ้อยบอกว่า เราไม่ต้องไปเปลี่ยนให้เขาคิดบวกหรอก แต่ให้เข้าใจว่าเขาก็เป็นอย่างนั้น และในอีกมุม มีคนคิดลบบ้างก็ดี จะได้ช่วยเราระวัง เพราะบางเรื่องถ้ามัวแต่คิดดีตลอดก็อาจจะไม่รู้ว่าอันตรายมีอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง หรือถ้าคิดบวกอย่างเดียวแล้วเผื่อใจไว้กับความผิดหวังก็เจ็บได้เหมือนกัน
เพราะฉะนั้นผมคิดว่าในทีมเราควรมีมุมมองแบบนี้ไว้บ้าง คือเราคอยช่วยกันดูหน้าดูหลังว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับงานของเราได้บ้าง แล้วมีแผนการรองรับไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ได้แปลว่าต่อไปนี้ทุกคนควร Panic กันให้หมด แต่ทุกคนควรมี ‘เซนส์ของความฉิบหาย’ อยู่กับตัว คือไวต่อความบรรลัยที่อาจเกิดขึ้นได้
เรื่องเซนส์ของความฉิบหายนี้บางทีก็เป็นเรื่องของประสบการณ์เหมือนกันครับ คืออาจต้องเคยเจอความฉิบหายมาก่อน มีแผลมาก่อนแล้วถึงรู้ว่าต่อไปต้องระวังตัวอย่างไร เพราะฉะนั้นมีคน Panic ไว้หน่อยก็ดีเหมือนกันนะครับ ถือเสียว่าเป็นคนช่วยเราคิดว่าต้องระวังอะไรบ้าง มีอะไรขาดตกบกพร่องบ้าง
การมีมนุษย์ Panic ในทีมไม่ได้น่ากลัวหรอกครับ ผมคิดว่าเราต้องเข้าใจ Insight ของเขาก่อนว่าทำไมเขาถึง Panic นักหนา เช่น เป็นไปได้ไหมว่าเขาโดนหัวหน้าบี้มาอีกที ซึ่งหัวหน้าก็อาจจะถูกหัวหน้าของหัวหน้าบี้มาอีกต่อ ก็เลยกลัวกันเป็นทอดๆ จนต้อง Panic ไปกันหมด หรือเขาอาจจะเคยผิดพลาดมาก่อน ทำให้เขารู้สึกว่าต้องระวังเป็นพิเศษ หรือเขา Panic เพราะเขาไม่รู้ พอไม่รู้ก็จะกลัวนั่นกลัวนี่ไปหมด ฯลฯ พวกนี้เราต้องอ่านให้ออกว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาต้องตื่นตระหนกขนาดนี้
ลึกๆ แล้วการที่คนเรา Panic นั้นก็เพราะเขาขาดความมั่นใจ เขาไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หรือไม่รู้ว่าจะรับมือกับหายนะที่เขาคิดไว้ในหัวอย่างไร วิธีการรับมือก็คือ ให้ข้อมูลกับเขามากพอให้เขาเข้าใจ เธอมีอะไรที่สงสัยหรือหวั่นกลัว ว่ามา! ฉันมีทางออกให้ ถ้าเราทำให้เขาเห็นว่า เธอเอ๊ย! ฉันอุดรอยรั่วไว้หมดแล้ว เรือไม่แตกหรอกจ้า แต่ถ้าเรือแตก ฉันมีเรือสำรอง ฉันมีชูชีพ ฉันจะลำเลียงผู้โดยสารออกมาแบบนี้ พวกเราจะไม่ตาย พวกเราจะรอด คนที่ Panic ก็จะคลายความกังวลได้
ผมเชื่ออย่างหนึ่งนะว่า ถ้าพวกเราคิดงานมาดีแล้ว และเจอปัญหาก็แก้ไขกันไปแล้ว ทำ ‘เหตุ’ ให้ดีพอ แล้วปล่อยวางกับ ‘ผล’ พองานออกมา ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกไม่มั่นใจมันจะหายไป และทุกคนจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกันด้วยครับว่า เฮ้ย! ที่กลัวๆ กันก่อนหน้านี้พวกเราก็สู้ไหวนี่ และเรารู้แล้วว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ทีนี้พอเราเคยผ่านประสบการณ์มาแล้ว ความ Panic มันจะน้อยลงเป็นเรื่องๆ ไป เรื่องความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการทำให้เห็นครับว่า เออ! จริงๆ มันก็ไม่ได้น่ากลัวเบอร์นั้นนี่! หรือถ้ามันน่ากลัวจริงๆ เราก็เรียนรู้ไปพร้อมกันว่าต่อไปต้องระวังในจุดไหนบ้าง เซนส์ความฉิบหายของเราก็จะดีขึ้น
สิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากไว้ก็คือ เวลาเจอคน Panic เราอย่าไป Panic ตามครับ ถ้าเขา Panic แล้วเราก็เต้นผางบ้าตามไป สถานการณ์มันยิ่งเลวร้ายเพราะไม่มีใครมีสติ เรื่องบางเรื่องยังไม่เกิด เรามีหน้าที่แค่ระมัดระวังไม่ให้มีเหตุมากพอที่จะทำให้เกิดผลแบบนั้น อย่าเก็บไปทุกข์ตามเขามาก กลายเป็นว่า Panic กันไปหมดด้วย หรือปล่อยให้เขาเรียนรู้บ้างก็ดีครับว่า Panic มากไปเขาก็แบกเอง ปวดหัวเอง เครียดเอง พอถึงจุดหนึ่งเขาก็อาจจะเรียนรู้ด้วยตัวเองที่จะปล่อยวางมากขึ้นเอง
*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า