Q: ลูกน้องเพิ่งเลิกกับแฟนมาค่ะ สงสารลูกน้องมาก ไม่รู้จะปลอบยังไงดีเพราะเป็นคนพูดไม่เก่ง มีวิธีพูดปลอบใจลูกน้องอย่างไรให้หายเศร้าดีคะ
A: ลูกน้องคุณถ้าได้รู้ว่าหัวหน้าเป็นห่วง ผมว่าเขาคงดีใจมากๆ ผมเองก็ภูมิใจในคุณไปด้วยเหมือนกัน
ผมอยากเล่าความผิดพลาดของตัวเองและสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ให้คุณฟัง เมื่อก่อนผมก็เคยคิดว่า เราจะหายเศร้าได้ก็ด้วยการผลักดัน (และกดดัน) ตัวเองไม่ให้อ่อนแอ เราต้องสู้! เราต้องเข้มแข็ง! เราจะไม่มีน้ำตาสักหยด! ผมมองความอ่อนแอเหมือนความพ่ายแพ้ อ่อนแอไม่ได้เพราะแปลว่าเราแพ้ เพราะฉะนั้น เวลาที่ผมผิดหวัง (รู้หมดเลยว่าเคยโดนเท ฮ่าๆ) ในตอนนั้น ผมมักจะเลือกถมตัวเองให้แข็งแกร่ง ไม่ยอมเศร้า ไม่ยอมมีน้ำตา ไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองรู้สึกตามที่เราควรจะรู้สึก พอจะเศร้าเมื่อไรต้องกดมันไว้ว่าอย่าไปเศร้า เราอายุเท่าไรแล้วจะมาเศร้าเพราะเรื่องอกหักเนี่ยนะ ผมมักจะคิดแบบนี้
แต่คุณรู้ไหมครับ ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ผมคิดว่าจะอายุเท่าไรก็เจ็บได้ เสียความรู้สึกได้ มันไม่เกี่ยวหรอกครับว่าเราอายุมากขึ้นแล้วเราจะไม่สามารถอนุญาตให้ตัวเราเศร้าได้ ถ้าตอนนี้รู้สึกเศร้า เศร้าไปเลย อยากร้องไห้ก็ร้อง ไม่ต้องห้ามตัวเอง ไม่มีอะไรผิด และผมไม่คิดว่าความอ่อนแอคือความพ่ายแพ้ แต่มันคือส่วนหนึ่งของชีวิตเรา เราต้องซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง ฟังเสียงหัวใจของเราหน่อยว่าเราโอเคหรือเปล่า ถ้าเสียงหัวใจเราบอกว่าเรายังไม่โอเค อย่าไปบอกมันว่า “แกต้องโอเค!” เราอย่าทอดทิ้งตัวเราเองครับ เวลานี้เราต้องโอบกอดตัวเราเองให้รู้ว่าเราจะไม่ทอดทิ้งตัวเรา เราจะไม่ตัดสินตัวเรา เรามีสิทธิ์ที่จะมีความรู้สึก ไม่ต้องไปห้ามตัวเอง เอาว่าให้รู้ว่าตอนนี้ตัวเองคิดอะไรอยู่ รู้สึกอะไรอยู่ และยอมรับให้ได้ว่าเรารู้สึกแบบนั้นโดยไม่ต้องไปตัดสินสิ่งที่เรารู้สึกอยู่
สิ่งที่ผมอยากจะบอกบรรดาศิราณีหรือคนที่เพื่อนชอบมาระบายความเศร้าก็คือ อย่าไปตัดสินเขาครับ เวลาเขามาระบาย ไม่ต้องยิงคำคมใส่เขา ไม่ต้องบอกว่าเขาต้องคิดแบบไหน ไม่ต้องบอกว่าต้องทำอย่างไร ไม่ต้องบอกให้ต้องเข้มแข็ง (ทำได้ทำไปแล้วโว้ย!) คนทุกคนหาทางออกได้อยู่แล้วครับเมื่อมีสติ ขีดเส้นใต้คำนี้เลยว่า ‘เมื่อมีสติ’ เหมือนเราเป็นคนนอกรับฟังปัญหาของเขาแล้วเราเก่งเหลือเกินว่าต้องทำแบบนั้นสิ แบบนี้สิ ทำไมดูไม่ออกล่ะว่าเขาหลอกแก “ทำไมไม่ทำแบบนั้นล่ะ” คำนี้ต้องเก็บไว้เลยครับ ก็แหงสิครับว่าเราเป็นคนนอกมองเข้าไปตอนเรามีสติ แต่คนที่กำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์อยู่ เขาเห็น เขารู้สึก ยิ่งกว่าที่เราคนนอกเป็นเสียอีก ถึงบอกไงครับว่าเรื่องคนอื่นล่ะเก่งเหลือเกิน แต่เจอกับตัวเองไม่เห็นเก่งแบบนี้ ฮ่าๆ
ในเวลานี้ที่เขาซมซานมาหา เพราะเขาเลือกแล้วว่าคนคนนี้จะรับฟังโดยไม่ตัดสินเขา ปล่อยให้เขาพูดครับ สิ่งสำคัญคือ ทำให้รู้ว่า ‘เราอยู่ตรงนี้นะ เธอไม่ได้โดดเดี่ยว’ เราต้องมีเวลาให้เขา ทำให้รู้สึกว่ามาอยู่กับเราแล้วปลอดภัย เขาจะทำอะไรมาก็แล้วแต่ เรารับฟังได้หมด แล้วพอเขาเล่ามา ระบายออกมา เขาจะได้ยินคำพูดของตัวเองด้วย เมื่อนั้นแหละครับคือกระบวนการที่ทำให้เขาทบทวนตัวเอง อ๋อ มันเกิดอะไรขึ้น ปัญหามันเป็นแบบนี้ เขาได้ยินเสียงตัวเองหมด การพูดออกมามันช่วยให้เห็นตัวเองได้มากกว่าเวลาที่คิดอยู่คนเดียว เขาจะเริ่มมีสติมากขึ้น ปัญญาก็จะตามมา
เราต้องเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการแก้ปัญหาของตัวเองด้วยตัวเองได้ เราต้องมีศรัทธาในตัวเขาว่าจะผ่านปัญหาไปได้ด้วยตัวเอง หน้าที่เราคือรับฟัง ให้กำลังใจ ไม่ตัดสินเขา
ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น ผมไม่ได้บอกเลยว่า คุณต้อง ‘พูด’ อย่างไร เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องพูดเก่ง ไม่ต้องหาคำคม แค่ทำให้เขารู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยวบนโลกนี้ ยังมีคนห่วงใยเขาอยู่ ที่สำคัญ เวลามีคนมีปัญหามาหาเรา ให้เรา ‘ฟัง’ ให้มากกว่าพูดครับ อย่ามีแอร์ไทม์ให้ตัวเองเยอะ ให้เวลาเขาได้ระบายออกมาเถอะครับ
แค่บอกเขาว่า “พี่รู้ว่าน้องมีเรื่องไม่สบายใจอยู่ พี่อยากให้รู้ว่าพี่เป็นกำลังใจให้นะ” ถ้าเขาอยากระบาย เราก็ยินดี แต่ถ้าไม่อยากระบายกับเรา หรือไม่พร้อมจะพูด ก็ไม่ต้องไปรบเร้า ให้รู้ว่ามีคนเป็นกำลังใจให้อยู่เท่านั้นพอ
ยิ่งคุณพูดไม่เก่ง เวลาพูดอะไรดีๆ มาที ผมว่าน่าฟังออกนะครับ แล้วเขาจะรักหัวหน้ามากขึ้นด้วย
ถ้าจะช่วยเขาอีกทางก็คือ หาเรื่องชมเขาบ้าง ให้กำลังใจเวลาที่เขาทำอะไรดีๆ แม้จะเป็นเรื่องที่ปกติเขาทำดีอยู่แล้วก็เถอะ ชมไปเถอะครับ เพราะมันทำให้เขารู้ว่า มันก็ไม่ได้แย่ทุกเรื่อง
ส่วนเรื่องงาน เรื่องความรับผิดชอบ สิ่งที่เราต้องทำคืออย่าทำให้เขารู้สึกว่าปัญหาของเขาทำให้เขาเป็นภาระของคนอื่น เข้าใจครับว่างานต้องเดิน แต่มันสามารถเดินได้โดยที่เราไม่ต้องไปบี้เขาในสถานการณ์ที่ชีวิตเขาก็แย่อยู่แล้ว ถ้าดูทรงแล้ว สภาพจิตใจไม่พร้อมทำงาน เราแค่บอกเขาก็ได้ครับว่า ถ้ารู้สึกไม่ไหว อยากพัก ไปพักได้ ถ้าไหวแล้วมาลุยต่อ แต่ถ้ารู้สึกว่ายังไหวอยู่ หรืออยากทำงานเพื่อให้มีโฟกัสเรื่องอื่น ก็ลุยกันต่อ แต่ติดขัดตรงไหนขอให้บอก เราจะได้ช่วยกัน
ผมคิดว่าเราต้องสร้างทีมที่ไม่ใช่ว่าขาดคนใดคนหนึ่ง หรือมีคนไม่พร้อมรบแล้วเท่ากับทีมพัง ทีมที่แข็งแกร่งคือ ต่อให้ผู้เล่นบาดเจ็บต้องไปพักข้างสนาม คนที่อยู่ในสนามก็ยังสู้ขาดใจเหมือนเดิม ทีมไม่สั่นคลอน มันคือทีมที่รักกัน ห่วงหาอาทรกัน เธอไม่ไหว ฉันลุย แต่เมื่อไรที่ฉันไม่ไหว ฉันฝากเธอลุยต่อแทนฉัน ถ้าเราทำให้ทีมเกิดความรู้สึกนี้ได้ เหนียวแน่นกันขนาดนี้ได้ จะกี่อุปสรรคก็สู้ไหวนะครับ
คนแต่ละคนใช้เวลาในการรักษาจิตใจในแต่ละปัญหาแต่ละสถานการณ์ต่างกัน ให้เวลาเขาได้เศร้า ได้ทบทวนตัวเอง ได้ลุกขึ้นได้ด้วยตัวเอง โดยมีเราคอยเป็นกำลังใจให้เขาเท่าที่ต้องการ เราแค่ดูว่าเขาปลอดภัยหรือเปล่าก็พอครับ และเมื่อเขาพร้อม เขาจะรู้เองครับว่าต้องทำอะไร
มันง่ายนะครับที่เวลาเราเห็นใครล้มอยู่แล้วเราจะต้องรีบไปพยุงเขา ไปอุ้มเขา เผลอๆ เอาตัวเราไปรับด้วยซ้ำเวลาเขาล้ม สิ่งที่ผมจะบอกก็คือ การล้มทำให้เขาได้เรียนรู้ครับ สิ่งที่เราทำได้คือ พอเขาล้ม เราจับมือเขา ให้รู้ว่ามีคนเป็นกำลังใจให้อยู่ แต่ต้องลุกด้วยตัวเอง ถ้าตอนนี้ยังไม่อยากลุก ลุกไม่ไหว เดี๋ยวเรานั่งเป็นเพื่อน จะไม่ปล่อยมือเลย ถ้าอยากลองลุก มา ฉันเอาใจช่วย แต่เธอต้องลุกเอง บางทีเราต้องใจแข็ง ให้เขาเรียนรู้และลงมือแก้ปัญหาด้วยตัวเองครับ
ทุกวันนี้ วัยเท่านี้ ประสบการณ์เท่านี้ ผมเองเวลาเศร้าก็เศร้านะครับ ตอนที่เขียนตอบปัญหาทั้งหลายนี่ก็เขียนตอนมีสติ ตอนเศร้าก็เป๋เหมือนทุกคนนั่นแหละ ฮ่าๆ และผมจะบอกเพื่อนก่อนเลยว่า รู้ว่ามันจะดีขึ้น (โดนมากี่รอบแล้วแก๊! ฉันรู้!) ไม่ต้องสอน ไม่ต้องยิงคำคม ที่อยากมาหาก็เพื่อระบาย ให้เวลาเราหน่อย ที่เหลือเพื่อนก็ต้องพยายามรูดซิปไม่แย้ง ไม่ตัดสิน ไม่แสดงความเห็นกันไป ผมต้องการแค่คนรับฟัง ไม่ได้ต้องการคนมาบอกว่าต้องทำอะไร พอระบายเสร็จ เดี๋ยวผมก็รู้เองแหละว่าต้องทำอะไร
ถ้าอะไรแชร์กับคุณได้ ผมอยากบอกว่า พอประสบการณ์มากขึ้น เราจะรู้ความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น เราจะปล่อยให้ความรู้สึกทำหน้าที่ของมันโดยที่เราเป็นผู้สังเกตและรู้ด้วยว่ากำลังทำอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ ผมไม่ได้บอกว่าเราจะหายเศร้าได้เร็วขึ้น เพราะมันแล้วแต่กรณี แต่ที่ผมรู้สึกคือ ประสบการณ์มันทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น
มีคำพูดหนึ่งที่พี่เจนนิเฟอร์ คิ้ม เคยบอกผมและผมมาเข้าใจมากขึ้นในตอนที่โตขึ้นก็คือ เวลาเรามีแฟน เราจะได้รู้จักตัวเองมากขึ้นว่ารักที่สุดเป็นแบบไหน โกรธที่สุดเป็นแบบไหน เศร้าที่สุดเป็นแบบไหน ไม่มีเหตุผลที่สุดเป็นแบบไหน และทนได้ที่สุดเป็นแบบไหน
สุดท้ายแล้ว เราก็ได้รู้จักตัวเองมากขึ้น และการรู้จักตัวเองมากขึ้นนี่แหละที่จะทำให้เราใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างรู้เท่าทันตัวเอง เวลาเราเศร้าเราเป็นแบบนี้ เวลาเราดราม่าเราทำแบบนี้ เวลาเราเจ็บเราดำดิ่งแค่ไหน ฯลฯ พอรู้ตัวเองแล้ว เราจะรับมือกับตัวเองได้ดีขึ้นเลยล่ะครับ
ฝากบอกลูกน้องคุณด้วยครับว่าผมก็เคยเจอ ขอส่งกำลังใจให้ลูกน้องคุณด้วยนะครับ ถ้าเขาอยากจะระบาย ผมก็ยินดีรับฟัง
บางทีเขาอาจจะกำลังอ่านบทความนี้และยิ้มอยู่
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์มาที่ Facebook: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์