×

Wongnai ซื้อ Blognone และ Brand Inside ตั้งเป้าเป็น Super Lifestyle Platform

07.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ตลอดปี 2560 ที่ผ่านมา วงใน มีเดีย มีอัตราการเติบโตทางธุรกิจกว่า 70% มียอดผู้เข้าใช้งานรวม 8 ล้านรายต่อเดือน แบ่งเป็นผู้ใช้งาน Active Users ที่ล็อกอินในระบบเว็บไซต์รวม 7 แสนรายต่อเดือน
  • จุดแข็งของวงในคือการเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดพื้นที่ให้ผู้บริโภคได้ร่วมสร้างและผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบ ‘User Generated Content’ ซึ่งช่วยลดกำลังกองบรรณาธิการไปได้เยอะ
  • วงในไม่มีแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ เนื่องจากมองว่าไม่มีความมั่นคงและมีความเสี่ยงสูง
  • หลังซื้อกิจการบล็อกนันและแบรนด์อินไซด์แบบ 100% เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา วงในตั้งเป้าพาตัวเองเป็น Super Lifestyle Platform และบริษัทเทคโนโลยีเบอร์ต้นๆ ของประเทศ

ถ้าวันหนึ่งคุณและเพื่อนเกิดอยากค้นหาร้านอาหารสักแห่งเพื่อไปแฮงเอาต์ แต่ยังไม่มีตัวเลือกในใจ เชื่อว่า ‘วงใน (Wongnai)’ ต้องเป็นชื่อแรกๆ ที่คุณนึกถึงแน่นอน

 

หลังเปิดให้บริการในฐานะแพลตฟอร์มค้นหาร้านอาหารยอดนิยมในประเทศไทยนาน 7 ปี (เปิดตัวครั้งแรก ปี 2553) วันนี้วงในกลายเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้นหาร้านอาหารเพียงไม่กี่รายที่แทบจะผูกขาดตลาด

 

ปี 2557 วงในขยายฐานผู้บริโภคครั้งใหญ่ด้วยการจับตลาดความสวยความงามทำแพลตฟอร์มใหม่ในชื่อ ‘วงใน บิวตี้ (Wongnai Beauty)’ ก่อนวันที่ 9 พฤศจิกายนปีนี้วงในจะสร้างความฮือฮาในวงการสื่ออีกครั้ง เมื่อประกาศปิดดีลซื้อกิจการบริษัท บล็อกนัน จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ Blognone.com และ Brandinside.asia ในสัดส่วนทั้งหมด 100%

 

จากการเปิดเผยข้อมูลสัดส่วนการเติบโตของวงในตลอดทั้งปีที่ผ่านมาพบว่า วงใน มีเดีย มีอัตราการเติบโตทางธุรกิจกว่า 70% มียอดผู้เข้าใช้งานรวม 8 ล้านรายต่อเดือน โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ใช้งาน Active Users ที่ล็อกอินในระบบเว็บไซต์รวม 7 แสนรายต่อเดือน และแบ่งเป็นสัดส่วนการใช้งานดูรีวิวร้านอาหารและวงในบิวตี้อย่างละ 60% และ 15% ตามลำดับ

 

ในช่วงที่กำลังเปลี่ยนผ่านจากสตาร์ทอัพรายเล็กๆ สู่การเป็นองค์กรบริษัทขนาดใหญ่ที่มีทั้งธุรกิจสื่อและแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์อยู่ในมือ โดยที่ปีหน้ายังเตรียมขยายองค์กรด้วยการประกาศรับสมัครบุคลากรเพิ่มอีกกว่า 100 คน คำถามที่น่าสนใจคือจากนี้วงในวางแผนจะดำเนินธุรกิจไปในแนวทางใด

 

จุดแข็งวงในคือการเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้ผู้ใช้งานร่วมสร้างคอนเทนต์ด้วยตัวเองแบบ ‘User Generated Content’

ทุกวันนี้คอนเทนต์ในแพลตฟอร์มของวงในมีทั้งเนื้อหาที่กองบรรณาธิการเป็นผู้สร้างขึ้นมา และเนื้อหาที่ผู้อ่านจากทางบ้านเป็นผู้ส่งเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะหนักไปทางฝ่ายหลังมากกว่า

 

 

ยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด เผยว่า แม้ปัจจุบันทีมบรรณาธิการของวงในจะกระจายใน 8 จังหวัดใหญ่ๆ ทั่วประเทศรวมถึงกรุงเทพฯ เพื่อสืบเสาะค้นหาร้านอาหารเด็ดๆ มานำเสนอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าผู้อ่านทางบ้านถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการร่วมสร้างคอนเทนต์

 

“วงในมียอดผู้เข้าใช้งานรวมมากกว่า 8 ล้านรายต่อเดือน เรามีกลุ่มผู้ใช้งานที่เหนียวแน่น และรีวิวจากผู้ใช้งานซึ่งน่าจะเป็นจุดแข็งที่สุดของวงใน ถึงแม้ว่าเราจะเข้ามาในตลาดที่มีผู้เล่นรายอื่นๆ อยู่แล้ว แต่เราก็มีมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่นๆ เสมอ เรารู้สึกว่าเราแข่งกับตัวเองมากกว่าที่จะแข่งกับเจ้าอื่นๆ ในตลาด

 

“เราพยายามเติบโตโดยใช้ ‘User Generated Content’ ให้ User จากทางบ้านส่งบทความเข้ามา อย่างสูตรอาหารเราก็เริ่มจากการใช้ทีมบรรณาธิการของเราถ่ายวิดีโอเองทำเองก่อน แต่พอเวลาผ่านไปเราก็เปิดให้ผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้เราสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดด เพราะสมมติว่าวันหนึ่งมีคนส่งสูตรอาหารเข้ามา 100 สูตร ครบ 1 ปีเราก็จะได้สูตรอาหาร 36,500 สูตรพอดี ซึ่งกองบรรณาธิการของเราแทบจะผลิตคอนเทนต์ในจำนวนนี้ไม่ได้เลย นี่จึงถือเป็นจุดที่สร้างความแตกต่างให้กับวงใน”

 

ปัจจุบันวงในยังไม่มีนโนบายในการแบ่งค่าตอบแทนการเขียนคอนเทนต์หรือปันส่วนแบ่งรายได้ให้กับผู้ใช้งานที่ร่วมส่งบทความเข้ามา แต่อาจจะมีการตอบแทนด้วยการจัดกิจกรรมให้ร่วมสนุกหรือแจกของพรีเมียมแทน โดยยอดยังบอกอีกด้วยว่าปีนี้นับเป็นปีแรกที่วงในได้เห็นผลกำไรในการทำธุรกิจ

 

“ธุรกิจของเราเพิ่งจะกำไรปีนี้ ซึ่งสัดส่วนกำไรอาจจะไม่ได้เยอะเท่าไร แต่คิดว่าปีหน้าและปีต่อๆ ไปเมื่อกำไรมากขึ้นแล้วค่าใช้จ่ายไม่ได้โตตาม สัดส่วนกำไรก็น่าจะดีขึ้น อย่างปีหน้าผมคิดว่าวงในน่าจะมีสัดส่วนกำไรอยู่ที่ 10% กว่าๆ แต่ธุรกิจของเราอาจจะยังไม่ได้นิ่งมากจนถึงขั้นนำตัวเลขไปวิเคราะห์อะไรต่อได้”

 

 

ไม่คิดขยายไปต่างประเทศเพราะ ความเสี่ยงสูงและไม่คุ้มค่า

แม้จะเปิดให้บริการใกล้เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว แต่ปัจจุบันวงในยังไม่มีหน้าเว็บไซต์เวอร์ชันภาษาต่างประเทศ หรือคิดที่จะขยายอาณาจักรเปิดให้บริการในประเทศอื่นๆ

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะยอดมองว่ากลุ่มเป้าหมายของวงในเน้นเจาะผู้บริโภคในประเทศไทยเป็นหลัก และก็คงไม่คิดที่จะไปทำตลาดที่ประเทศอื่นๆ แน่นอนเนื่องจากมีความเสี่ยงสูง

 

“เมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้วผมตัดสินใจไว้แล้วว่าวงในจะไม่เลือกออกไปต่างประเทศ เราเลือกที่จะอยู่ในไทยซึ่งมีความมั่นคงกว่า การออกไปทำตลาดต่างประเทศอาจจะไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนไม่ว่าจะด้านเงินทุน แรงงานหรือระยะเวลา เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง ซึ่งก็คงจะพอเห็นได้บ้างจากกรณีความล้มเหลวของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์เจ้าอื่นๆ ที่ขยายไปต่างประเทศแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

 

“ทุกวันนี้วงในเองก็มีผู้ใช้งานต่างชาติในแพลตฟอร์มของเราเหมือนกัน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% เราได้รับอีเมลจากผู้ใช้งานต่างชาติเสมอเพื่อให้ทำหน้าเว็บไซต์เป็นภาษาอังกฤษ แต่จุดมุ่งหมายของเราคือการเน้นให้ความสำคัญกับผู้ใช้งานไทยเป็นหลัก”

 

จากการให้ข้อมูลของยอดพบว่า ปัจจุบันผู้ใช้งานวงในส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปในช่วงวัย 24-40 ปี แบ่งเป็นผู้ใช้งานเพศหญิงและชายในสัดส่วน 65% และ 35% ตามลำดับ

 

ปรับลดคอนเทนต์อาหารให้น้อยลง เบนเป้าหมายสูงสุดสู่การเป็น Super Lifestyle Platform

แนวทางในการดำเนินธุรกิจต่อจากนี้ของวงใน คือการให้ความสำคัญกับการพัฒนาและสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองให้เป็นสุดยอดในด้านไลฟ์สไตล์ หรือที่ยอดนิยามไว้ว่า ‘Super Lifestyle Platform’

 

“3 ปีต่อจากนี้วงในยังจะให้ความสำคัญกับร้านอาหารอยู่ แต่สัดส่วนของคอนเทนต์อาหารอาจจะลดลง ต้องบอกว่าตลาดไลฟ์สไตล์กิน-เที่ยวในไทยถือว่าใหญ่มาก แต่ไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่หวือหวาขนาดนั้น เมื่อเทียบกับตลาดด้านคอนเทนต์ความสวยความงามที่มีอัตราการเติบโตปีละ 20-30% และมีมูลค่าในปัจจุบันมากกว่า 30,000 ล้านบาท

 

“แพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ยังไปได้อีกเยอะครับ ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลสถานที่ช้อปปิ้ง ร้านขายของฝาก ร้านตัดเสื้อ หรือการเจาะตลาดสำหรับแม่และเด็ก หาโรงเรียน สถานที่ทำกิจกรรมและร้านขายสินค้าสำหรับเด็ก ร้านสำหรับสัตว์ มันมีไลฟ์สไตล์อีกเยอะแยะที่จะเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับสิ่งดีๆ กินดื่มเที่ยวมันเป็นอะไรที่เห็นชัด แต่ในความเป็นจริง ผู้คนจำนวนมากก็ยังต้องการหาข้อมูลในหลายๆ อุตสาหกรรมเหมือนกัน”

 

 

ถ้านับเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในมือวงใน ณ ปัจจุบันก็จะแบ่งเป็น 2 หมวดใหญ่ๆ ได้แก่

 

  1. ไลฟ์สไตล์ แพลตฟอร์ม – บริการค้นหา รีวิวร้านอาหาร, บิวตี้ สปา,​ ดีล, บริการสั่งอาหารออนไลน์พร้อมส่ง และสูตรการทำอาหาร โดยล่าสุดยังมีการจับมือกับ Line Man ในการดำเนินธุรกิจร่วมกันด้วย
  2. สื่อออนไลน์ – บล็อกนัน และแบรนด์อินไซด์

 

สำหรับบล็อกนันและแบรนด์อินไซด์ที่วงในซื้อธุรกิจมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนนั้น ยอดบอกว่าในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 นี้ เราคงจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังบอกรายละเอียดอะไร ณ ตอนนี้มากไม่ได้ ส่วนสาเหตุที่วงในตัดสินใจซื้อบล็อกนันนั้นก็เพราะว่าเป็นแนวทางการทำคอนเทนต์ที่วงในไม่ถนัด

 

“ตั้งแต่รวมบริษัทกันมา มาร์ค-อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ (ผู้ก่อตั้งบริษัทบล็อกนัน) ก็เข้ามาช่วยให้ข้อมูลผมในด้านกลยุทธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาชำนาญอยู่แล้ว และปีหน้าก็น่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของบล็อกนันที่ชัดเจนขึ้นแน่นอน” ยอดกล่าว

 

ยอดยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกด้วยว่า ปัจจุบันวงในได้เตรียมขยายขนาดองค์กรด้วยการประกาศรับสมัครบุคลากรเพิ่มอีกกว่า 101 คน เพื่อให้ได้พนักงานครบตามจำนวน 300 คนเข้ามาสนับสนุนการทำคอนเทนต์ของวงใน บล็อกนัน และแบรนด์อินไซด์

 

“ก่อนหน้านี้ผมเคยมองว่าวงในเป็นผู้นำในตลาดรีวิวร้านอาหาร แต่ทุกวันนี้เรามองตัวเองเป็นแค่ Lifestyle Application มากกว่า เพราะมันทำให้เรารู้สึกถ่อมตนและมีความกระหายในการทำงานให้ดีขึ้น และพยายามให้หนักขึ้นกับการคิดการสร้างคอนเทนต์”

 

ยอดบอกต่อว่า “สิ่งที่ทำให้วงในประสบความสำเร็จในวันนี้ได้ก็คือความอึดอดทนของทีมงาน ที่ก้มหน้าก้มตาทำงานอย่างขยันขันแข็ง พยายามแข่งกับตัวเองมากกว่าจะมองคู่แข่งรายอื่นๆ

 

“ถ้าเลือกได้ในอนาคตวงในอยากจะเป็นบริษัทเทคโนโลยี Top 5 ของประเทศ หรือถ้าพอเป็นไปได้เราก็อยากจะเป็น ‘Mini Tencent’ ของไทยครับ”

 

ถือเป็นก้าวย่างที่หน้าจับตาของวงในอย่างแท้จริง เมื่อเริ่มต้นจากแพลตฟอร์มรีวิวร้านอาหารสู่แพลตฟอร์มให้ความรู้ด้านความสวยความงาม และจากผู้ให้บริการข้อมูลด้านความสวยความงามสู่การขยายอาณาจักรรวมเข้ากับบล็อกนันและแบรนด์อินไซด์ ส่วนจะไปถึงเป้าหมายการเป็นบริษัทเทคโนโลยีเบอร์ต้นๆ ของไทยตามที่ตั้งเป้าหมายได้หรือไม่นั่น ก็คงต้องติดตามกันต่อไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising