นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังกล่าวโทษ ‘อุตสาหกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่ง’ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา ‘วาฬเกยตื้น’ ตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐฯ
ตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีวาฬขนาดใหญ่เกือบ 24 ตัวเกยตื้นบนหรือใกล้กับชายหาดแถบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของสหรัฐฯ โดยจำนวนนี้ประมาณ 1 ใน 3 เกยตื้นบริเวณชายฝั่งของรัฐนิวเจอร์ซีย์ อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าอะไรคือสาเหตุ
กระนั้น กลุ่มสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นและพิธีกรรายการโทรทัศน์หลายคน ได้พุ่งเป้าไปที่กังหันลมนอกชายฝั่ง พร้อมกล่าวโทษว่า โครงการสีเขียวเหล่านี้กำลังรบกวนชีวิตสัตว์ทะเล และมีส่วนทำให้วาฬตายจำนวนมากผิดปกติ
ด้านเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเบื้องหลังโครงการพลังงานลมเหล่านี้ ยังคงยืนยันว่าไม่มีหลักฐานใดเชื่อมโยงระหว่าง ‘การตายของวาฬ’ และ ‘การพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง’ พร้อมกล่าวว่า โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งรัฐนิวเจอร์ซีย์จะยังคงดำเนินต่อไปตามแผนที่วางไว้
JC Sandberg ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนจาก American Clean Power Association กล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ที่ต่อต้านการพัฒนาพลังงานสะอาดกำลังเผยแพร่ข้อมูลที่ผิด และพยายามยับยั้งโครงการพลังงานสะอาดตามแนวชายฝั่งตะวันออก
เดือนมกราคมที่ผ่านมา องค์กรอนุรักษ์ต่างๆ นำโดย Clean Ocean Action และแนวร่วมพันธมิตรนายกเทศมนตรีรัฐนิวเจอร์ซีย์หลาย 10 คน ได้เขียนจดหมาย (แยกกัน) เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลกลางยุติโครงการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งใกล้กับรัฐนิวเจอร์ซีย์
ทำให้ประเด็นนี้ได้รับความสนใจในระดับประเทศ ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยสำนักข่าวหลายแห่งกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริงของแคมเปญนี้ ขณะที่พิธีกรรายการทอล์กโชว์อนุรักษนิยมหลายคน รวมถึง Tucker Carlson กล่าวโทษว่า โครงการกังหันลมกำลังฆ่าวาฬ
อย่างไรก็ตาม องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐฯ (The National Oceanic and Atmospheric Administration: NOAA) ออกมากล่าวว่า เหตุการณ์วาฬหลังค่อมตามชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก ‘ตายอย่างผิดปกติ’ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ก่อนจะเริ่มโครงการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่งเสียอีก
โดยจากจำนวนวาฬเกยตื้นประมาณ 180 ตัวที่ NOAA ติดตามตั้งแต่นั้นมา เกือบครึ่งหนึ่งได้รับการตรวจสอบแล้ว โดยจำนวนนั้นประมาณ 40% มีหลักฐานว่าตายจากการชนของเรือ หรือถูกพันธนาการ (Entanglement) ด้วยเชือกหรือเครื่องมือประมง
และยังไม่มีหลักฐานการตายของวาฬที่เชื่อมโยงโดยตรงกับโครงการพัฒนาพลังงานลมนอกชายฝั่ง แต่นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและกลุ่มต่อต้านด้านพลังงานลมบางคนแย้งว่า การขาดหลักฐานความเชื่อมโยงที่พิสูจน์แล้ว ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์นี้จะไม่เกิดขึ้น
ขณะที่ Sean Hayes หัวหน้าสาขาสัตว์คุ้มครองที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การประมงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของ NOAA เตือนหน่วยงานกำกับดูแลด้านพลังงานมหาสมุทรเมื่อปีที่แล้วว่า “เสียงจากการจราจรของเรือ และย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย เนื่องจากกังหันลมนอกชายฝั่งอาจทำให้วาฬเกิดความเครียดมากขึ้น”
กลุ่มสิ่งแวดล้อมยังเน้นย้ำว่า แม้ว่าการเสียชีวิตล่าสุดจะไม่เชื่อมโยงกับกิจกรรมที่กำลังดำเนินอยู่ แต่จำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อปกป้องชีวิตสัตว์ทะเลจากภัยคุกคามต่างๆ รวมถึงการก่อสร้างฟาร์มกังหันลมในอนาคต
Alison Chase นักวิเคราะห์นโยบายอาวุโสของ Natural Resources Defense Council กล่าวว่า อุตสาหกรรมมหาสมุทรทุกประเภทจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือ การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่นี้ด้วยวิธีที่ชาญฉลาด เพราะสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลกำลังดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และกำลังเครียดจากมลพิษ รวมถึงการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยมานานหลายทศวรรษ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- ‘Bridgewater’ บริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดในโลก แนะวิธีลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อหนุนเป้าหมาย Net Zero
อ้างอิง: