พวกเราอาศัยอยู่ในย่านนี้มากว่าศตวรรษ ใต้ร่มเงาอันยิ่งใหญ่ของศุลกสถาน หรือที่รู้จักกันในหมู่คนไทยว่า โรงภาษีร้อยชักสาม หรือตึกโรงภาษีเก่า
‘พวกเรา’ ในที่นี้หมายถึงครอบครัวฝั่งคุณแม่ และชุมชนรอบมัสยิดฮารูณ ในแต่ละวันก่อนเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เสียงคนกล่าวอะซานจะลอยตามลมที่พัดมากับลำน้ำ ผ่านไปทางโรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส และอาสนวิหารอัสสัมชัญ
ยามตะวันตกดินจะได้ยินเสียงจากมัสยิดอีกครั้ง มัสยิดฮารูณสร้างขึ้นบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาโดยพ่อค้าชาวอินโดนีเซีย ราวทศวรรษ 2390 ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี 2431 มีการย้ายมัสยิดจากริมฝั่งแม่น้ำเข้าไปประมาณ 100 เมตรเพื่อสร้างศุลกสถาน หนึ่งในสิ่งปลูกสร้างที่ตระการตาที่สุดริมฝั่งเจ้าพระยา
ปัจจุบันถนนหน้าบ้านของผมเรียกว่าซอยเจริญกรุง 36 แต่ยังจำได้ว่าเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ไปรษณีย์ที่ส่งมาถึงบ้านล้วนจ่าหน้าซองว่า ‘บ้านเลขที่ 52 ตรอกโรงภาษีเก่า’
วันนี้มีมากกว่าแค่ที่อยู่ที่เปลี่ยนไป บางอย่างที่ใหญ่โตโอ่อ่า พลิกหน้ามือเป็นหลังมือ ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
ศุลกสถานราวต้นศตวรรษที่ 20 ภาพจากหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam (1908) ของ Arnold Wright
ตึกโรงภาษีเก่ากำลังได้รับการแปลงโฉมขนานใหญ่ (ที่เรียกว่า ‘เก่า’ เพราะอาคารแห่งนี้หยุดใช้ทำการเป็นสำนักงานศุลกากรตั้งแต่ปี 2492 เปลี่ยนเป็นอาคารที่พักสำหรับครอบครัวเจ้าหน้าที่ดับเพลิงบางรักและตำรวจน้ำ) หากท่านเดินเข้าซอยเจริญกรุง 36 วันนี้ ท่านจะเห็นไซต์งานก่อสร้างขนาดมหึมาและได้ยินเสียงเครื่องจักรก่อสร้างโครมครามดังสนั่น ตัวอาคารและพื้นที่ริมน้ำกำลังปรับปรุงให้กลายเป็นโรงแรมห้าดาว หรือบางรายงานก็ว่าหก
หากท่านลองค้นหาในกูเกิล ท่านจะเห็นโฆษณาไม่น้อยโผล่มาหลอกล่อนักท่องเที่ยวสายลักชัวรี โรงแรมริมน้ำพื้นที่กว่า 13,600 ตารางเมตร พร้อมห้องบอลรูม ห้องพัก 70 ห้อง และสิ่งอำนวยความสะดวกหรูหรา รายงานข่าวบอกว่าบรรยากาศสไตล์โคโลเนียลจะถูกคงสภาพไว้ พร้อมกับพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ของโรงแรม U City บริษัทลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของไทย ซึ่งมีบริษัทแม่เป็นเจ้าของเดียวกันกับรถไฟฟ้าบีทีเอส ทำสัญญาเช่าพื้นที่ศุลกสถานกับกรมธนารักษ์เป็นเวลา 30 ปี พร้อมเงินลงทุนกว่าสามหมื่นล้านบาท เมื่อเปิดบริการในปี 2568 โรงแรมแห่งนี้จะบริหารโดย Vienna House เครือโรงแรมหรูจากออสเตรีย
ผมยังคิดอยู่ว่าจะมีห้องพักสักห้องหรือไม่ที่มองออกมาเห็นบ้าน มัสยิด แผงขายอาหาร วัดที่อยู่ใกล้ๆ กัน และสุสานมุสลิม สถานที่พักผ่อนครั้งสุดท้ายของบรรพบุรุษเรา และอาจจะของตัวผมเองด้วยในวันข้างหน้า คงเป็นทัศนียภาพที่ชวนให้ฉุกคิดไม่น้อย หากทางโรงแรมไม่ได้ติดตั้งเครื่องกำบังไม่ให้แขกระดับหกดาวต้องเห็นโลกชีวิตประจำวันรอบตัว
ความใกล้ชิดระหว่างชุมชนเก่าแก่หลายร้อยปีอย่างชุมชนมัสยิดฮารูณ และแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ นี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปรากฏการณ์การถูกแทนที่ซึ่งเป็นชะตากรรมที่ชุมชนในซอยต่างๆ กำลังเผชิญอยู่ การพูดว่า “อาศัยภายใต้ร่มเงาของตึกใหญ่” ไม่ใช่อุปมาอีกต่อไป แต่เป็นข้อเท็จจริง บางส่วนของชุมชนตั้งอยู่ในเขตเงา มลภาวะจากการก่อสร้างทั้งเสียง ฝุ่นควัน และแรงสั่นสะเทือน ทั้งหมดล้วนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้อยู่อาศัย หลายคนเป็นผู้สูงอายุ หลายคนยังพยายามพัฒนาฐานะเป็นชนชั้นกลาง หลังจากการประชุมเมื่อต้นปี โครงการยอมจ่ายเงินชดเชยให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนประมาณ 30 หลังคาเรือน รวมถึงครอบครัวของผมด้วย
เงินชดเชยที่เราได้รับถือว่าโอเคสำหรับย่านชุมชนที่ต้องเผชิญกับสิ่งรบกวนจากไซต์ก่อสร้าง แต่มันจบแค่นั้นเองหรือ?
พื้นที่ก่อสร้างโครงการบูรณะตึกโรงภาษีเก่า มองจากซอยเจริญกรุง 36
การที่จะมีโรงแรมหกดาวมาตั้งอยู่ติดกับหนึ่งในชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพฯ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องน่าตั้งคำถามจากหลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะในด้านการพัฒนาเมือง พลวัตทางวัฒนธรรม และปัญหาที่แก้ไม่ตกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อหลายปีก่อนเด็กๆ ในย่านนี้ล้วนเคยวิ่งเล่นขึ้นลงอาคารศุลกสถาน แต่หลังจากนี้หลายคนคงไม่แม้แต่จะมีเงินพอซื้อข้าวหนึ่งมื้อที่โรงแรม พื้นที่สาธารณะได้กลายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลไป
ก่อนโครงการได้รับไฟเขียว เคยมีการคิดถึงทางเลือกอื่นๆ หรือไม่ ทำไมทางการไม่เลือกดัดแปลงปรับปรุงอาคารเป็นพิพิธภัณฑ์ พื้นที่จัดแสดงศิลปะ หรือพื้นที่สาธารณะ เป็นสถานที่ที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของอาคารได้เหมือนๆ กัน
บทความนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความคับข้องโกรธเคือง แต่ก็ไม่ใช่การยกตัวอย่างสถานการณ์ในซอยเจริญกรุง 36 ขึ้นมาเล่าสู่กันฟังแบบไม่ไยดี กรุงเทพฯ ในศตวรรษที่ 21 เป็นสถานที่แห่งความแตกต่างระดับประตูชิดประตู จริงๆ แล้วทุกคนย่อมอยู่ร่วมกันได้หากเคารพกฎหมายและให้ความเคารพซึ่งกันและกัน ความกลมเกลียวเกิดขึ้นได้หากผู้มีสิทธิพิเศษมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่อาจมีต้นทุนทางสังคมและการเมืองน้อยกว่าตน
ศุลกสถานออกแบบโดย Joachim Grassi ในปี 2431 เป็นงานออกแบบที่โดดเด่นด้วยโครงสร้างสมมาตร ลักษณะอันเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากวัฒนธรรมกรีก โรมัน และเวนิส
หลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดอย่าง The Killing Fields และ Street Fighter หรือภาพยนตร์ฮ่องกงในตำนานอย่าง In the Mood for Love มาถ่ายทำที่อาคารแห่งนี้ เมื่อห้าปีก่อน หลังจากครอบครัวนักดับเพลิงและตำรวจน้ำย้ายออก เถาวัลย์ค่อยๆ เจริญเติบโตปกคลุมอาคาร จนราวปี 2562 จึงเริ่มมีการปรับปรุงภายใต้การกำกับดูแลของกรมศิลปากร
ทัศนียภาพตึกโรงภาษีเก่าและอาคารใกล้เคียงจากแม่น้ำเจ้าพระยา
ชุมชนมัสยิดฮารูณเก่าแก่กว่าศุลกสถาน ชุมชนของเราอุดมไปด้วยพลังขับเคลื่อนจากบรรพบุรุษและวัฒนธรรมอันโดดเด่น ชาวชุมชนล้วนเป็นลูกหลานของชาวจาม อินเดีย และปากีสถาน และเมื่อไม่นานมานี้เริ่มมีชาวแอฟริกันแวะเวียนเข้ามาอาศัย ด้วยความที่อยู่ใกล้กับถนนสีลมและเจริญกรุง ชาวชุมชนจึงรู้จักการปรับตัว แต่แรงกดดันจากการขยายตัวของเมืองผ่านกระแสทุนนิยมนั้นก็ยากจะต้านทาน
มัสยิดเป็นเจ้าของที่ที่ทุกคนเช่าอยู่ ในทางทฤษฎีผมจึงไม่คิดว่าเราจะเจอกับปัญหาการไล่ที่ แต่โครงการโรงแรมนี้เป็นเหมือนเสียงเตือน เราจะต่อสู้กับแรงกดดันจากการพัฒนาได้นานแค่ไหน ตอนนี้เราเพียงแต่หวังว่าเพื่อนบ้านใหม่ของเราจะเป็นมิตรและปฏิบัติกับเราด้วยความเคารพ และหากโครงการทำตามที่สัญญาไว้ว่าจะพัฒนาการท่องเที่ยวโดยเน้นชุมชน อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของท้องที่ ประโยชน์ก็จะตกแก่ชาวชุมชน และทำให้โครงการนี้เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่ทำให้ทุกคนได้ประโยชน์
เสียงสวดมนต์จะยังคงดังอยู่ แต่ต่อไปนี้เราคงต้องคอยจับตามองว่าลมจากแม่น้ำจะพัดไปทางทิศใด
เรื่อง: ก้อง ฤทธิ์ดี รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) มีผลงานตีพิมพ์บทความและคอลัมน์เกี่ยวกับภาพยนตร์ การเมือง และวัฒนธรรม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มาต่อเนื่องนานกว่า 25 ปี
บทความนี้ได้รับดัดแปลงเล็กน้อยจากที่ปรากฏเป็นภาษาอังกฤษในคอลัมน์ ‘Heritage Matters’ ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566
บรรณาธิการ Heritage Matters: ไบรอัน เมอร์เทนส์
แปลเป็นภาษาไทย: พีรพัฒน์ อ่วยสุข