×

MUJI ชุบชีวิต ‘ดันจิ’ เคหะชุมชนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แก้ปัญหาบ้านแพงและความเหงาในญี่ปุ่น

06.03.2024
  • LOADING...
มูจิ ดันจิ

เหล่า ‘มูจิเลิฟเวอร์’ อาจเป็นคำตอบให้กับปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพงและความรู้สึกโดดเดี่ยวในสังคมญี่ปุ่น เมื่อ MUJI แบรนด์ไลฟ์สไตล์ยอดนิยม ร่วมมือกับหน่วยงานรัฐ ฟื้นฟู ‘ดันจิ’ (Danchi) โครงการเคหะชุมชนสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังเสื่อมโทรมและถูกทอดทิ้ง

 

ดันจิเคยเป็นที่อยู่อาศัยที่น่าใฝ่ฝันสำหรับชนชั้นกลาง แต่เมื่อญี่ปุ่นเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ดันจิหลายแห่งก็ประสบปัญหาประชากรลดลงและผู้สูงอายุอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก ขณะที่คนรุ่นใหม่มองว่าดันจิขาดความทันสมัย รัฐบาลญี่ปุ่นและบริษัท Ryohin Keikaku เจ้าของแบรนด์ MUJI จึงมองหาวิธีที่จะทำให้ดันจิกลับมาคึกคักอีกครั้ง

 

ความร่วมมือนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การปรับปรุงห้องพักในอาคารเท่านั้น แต่ MUJI และ UR (หน่วยงานพัฒนาเมืองของญี่ปุ่น) ต้องการเปลี่ยนภาพจำของดันจิผ่านการปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัยทุกช่วงวัย ไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกถูกโดดเดี่ยว

 

ตัวอย่างโครงการ เช่น การปรับปรุงย่านการค้าโชเทนไกของดันจิฮานามิกาวะ ในจังหวัดชิบะ โดยเพิ่มแสงสว่าง ปลูกต้นไม้ และจัดวางม้านั่ง ให้เป็นพื้นที่ชุมชนที่ตอบโจทย์คนหลากรุ่น หรือดันจิอื่นๆ ที่ MUJI ได้ปรับปรุงสระว่ายน้ำให้เป็นพื้นที่อเนกประสงค์และเพิ่มครัวส่วนกลาง ซึ่งกลยุทธ์นี้ดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ย้ายเข้ามาอยู่ได้เป็นจำนวนมาก

 

นอกจากการแก้ไขปัญหาทางกายภาพแล้ว MUJI ยังจัดกิจกรรมในดันจิ เพื่อจุดประกายให้ชุมชนกลับมาคึกคักอีกครั้ง ชาวดันจิรุ่นเก๋าเองก็ต้อนรับการเปลี่ยนแปลง โดยหวังว่าจะช่วยดึงคนให้กลับมาสนใจในย่านการค้าอีกครั้ง

 

นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังหาวิธีที่จะทำให้ดันจิกลับมาคึกคักอีกครั้ง เช่น การผ่อนปรนกฎหมายเพื่อเปิดพื้นที่ให้ร้านค้าต่างๆ รวมถึงร้านสะดวกซื้อมาเปิดในบริเวณดันจิ นอกจากนี้กระทรวงที่ดินญี่ปุ่นเองก็เสนอเงินช่วยเหลือให้กับทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมกันปรับปรุงดันจิและสร้างศูนย์ดูแลเด็กหรือที่พักสำหรับผู้สูงอายุขึ้นใหม่  

 

ขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นบางพื้นที่ อย่างเช่น เมืองชิบะ ก็มีนโยบายให้เงินสนับสนุนสูงสุด 6 แสนเยน (ประมาณ 1.5 แสนบาท) สำหรับคู่รักรวมถึงคู่รักเพศเดียวกันที่มาอาศัยในดันจิที่ได้รับการปรับปรุงใหม่

 

อย่างไรก็ตามยังคงมีเสียงตั้งคำถามว่า ในเมื่อประชากรของญี่ปุ่นมีแต่จะลดลง การฟื้นฟูดันจิซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่ผ่านไปแล้วนั้นจำเป็นหรือไม่ มายุมิ มัตสึซาวะ รองผู้อำนวยการกองพัฒนาที่อยู่อาศัยในกระทรวงที่ดินญี่ปุ่นชี้แจงว่า สถานการณ์แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน บางโครงการที่มีที่อยู่อาศัยเหลือมากเกินไปก็ควรลดจำนวนยูนิตลงหรือขายที่ดินส่วนเกินทิ้ง เพื่อปรับปรุงให้ดันจิมีขนาดเล็กลง แต่ในพื้นที่ที่มีความต้องการบ้านพักอาศัยอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถสร้างดันจิใหม่หรือปรับปรุงของเดิมให้มีประสิทธิภาพการใช้ที่ดินดีขึ้นได้

 

หนทางหนึ่งที่จะเปิดรับผู้อยู่อาศัยใหม่ๆ คือ การดึงแรงงานต่างชาติ ปัจจุบันจำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อมาชดเชยปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน มาซาคาซึ อาโอกิ รองศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยบุงเกียว ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและการบริหารจัดการ กล่าวว่า “ดันจิที่อยู่ในเขตคันโต (ทางตะวันออกของญี่ปุ่นที่รวมถึงกรุงโตเกียวด้วย) ยังคงมีความต้องการอยู่ แต่ดันจิในพื้นที่ห่างไกลนั้นก็ยังเสี่ยงเจอปัญหา”

 

ถึงอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นดันจิในเขตเมืองหรือต่างจังหวัด ก็มีกลุ่มคนที่พร้อมจะเป็นผู้อยู่อาศัยใหม่ นั่นคือเหล่าสาวก MUJI นั่นเอง ซายากะ ฟุคุโทมิ หนึ่งในสาวก MUJI เผยว่า เธอตัดสินใจเลือกห้องพักอาศัยในดันจิซึ่งมีห้องครัวตกแต่งใหม่สไตล์ MUJI ได้อย่างไม่ลังเล และย้ายมาอยู่ที่นี่ก็ทำให้วิถีชีวิตของเธอดีขึ้นมาก เธอหันมาใส่ใจสุขภาพ ออกกำลังกาย และตื่นเช้าขึ้น 

 

ในขณะที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาสังคมสูงวัยและขาดแคลนแรงงาน การฟื้นฟูดันจิโดยคำนึงถึงความยั่งยืน นับว่าเป็นทางออกที่ดีในการรักษาที่อยู่อาศัยราคาประหยัด (ประมาณ 1.05 แสนบาท) และดึงดูดแรงงานต่างชาติเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งงาน

 

ความร่วมมือระหว่าง MUJI และรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่เพียงตอบโจทย์เรื่องราคา แต่ยังใส่ใจถึงการสร้างคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสังคมไปพร้อมๆ กัน

 

อ้างอิง:

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising