เวลากดดูฟีดอินสตาแกรม คุณอาจรู้สึกว่าคนรอบตัวไปเที่ยวกันหมดเลย ไม่กำลังไปเที่ยว ก็กำลังจะไป หรือโหยหาวันหยุด คุ้ยภาพมา #throwback อยู่เรื่อยไป ขณะที่คุณกำลังฝ่ารถติดกลับบ้าน หรือนอนเหนื่อยพักร่างจากการกรำงานมาทั้งวัน แต่เราหาเหตุผลมาให้คุณตีตั๋วเรือบินโบกมือหนีเที่ยวกันบ้าง
จากการทำการศึกษาด้านหัวใจในปี 1992 ของโครงการ The Framingham Heart Study ที่จัดทำโดยสถาบันหัวใจ ปอด และโลหิตแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (The National Heart, Lung, and Blood Institute) และมหาวิทยาลัยบอสตัน ซึ่งทุกวันนี้ยังใช้เป็นมาตรฐานในการจัดทำด้านสุขภาพในระยะยาว พบว่า หลังจากการเฝ้าติดตามสุขภาพของคนทำงานชาวอเมริกันมาตลอด 20 ปี พบว่า ผู้ชายที่ไม่ลาพักร้อนเลยมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ 30% ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงถึง 50%
ตัวเลขเหล่านั้นยังได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่ชี้ตรงกันว่า โรคหัวใจเป็นปัญหาใหญ่ แม้ว่านักวิจัยจะคำนึงถึงปัจจัยร่วมอื่นๆ อาทิ โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ ระดับรายได้ ไปจนถึงโรคอ้วนที่อาจมาเกี่ยวข้องแล้วก็ตาม
“สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าร่างกายตอบสนองต่อวิถีชีวิตที่คร่ำเคร่งอย่างไร และเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการลาพักร้อนนั้นสำคัญต่อสุขภาพ” Elaine Eaker ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยบอกกับนิตยสาร The New York Times
ผู้วิจัยยังพบอีกว่า การลาพักร้อนนั้นมีคุณค่าต่อจิตใจและการมีชีวิตยืนยาว
“เป็นเรื่องสำคัญที่เราควรหยุดพักแล้วออกไปพักผ่อนบ้าง เมื่อระลึกว่าอาชีพการงานนั้นไม่ใช่สิ่งเดียวที่คุณควรคำนึงถึงในชีวิต เพราะชีวิตนี้ยังมีอีกหลายแง่มุมที่ยังต้องอาศัยสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีให้คุณพร้อมสู้” Sherry Amatenstein นักบำบัดจากนิวยอร์กและบรรณาธิการหนังสือรวมเรื่อง How Does That Make You Feel? True Confessions from Both Sides of the Therapy Couch เผย
การที่ได้เอนหลังหรือออกไปรับอากาศสดชื่น ได้สำรวจโลก มันช่างรู้สึกดี ชวนรู้สึกกระชุ่มกระชวยดีแท้ นอกจากนั้นยังส่งผลดีในแง่ของธุรกิจอีกต่างหาก นั่นเป็นเหตุให้มนุษย์ออฟฟิศแถบยุโรปตะวันตกมีวันลาหยุดมากกว่าชาวอเมริกันหรือชาวเอเชียเช่นเรา เนื่องจากยังไม่มีการพบว่านโยบายให้ใช้วันลาหยุดนั้นส่งผลร้ายต่อประสิทธิภาพการทำงาน
Brigid Schulte ผู้เขียนหนังสือ Overwhelmed: Work, Love and Play When No One has the Time และผู้อำนวยการมูลนิธิ Better Life Lab at the New America Foundation เสริมว่า “งานวิจัยแต่ละชิ้นมักชี้ตรงกันไปที่ว่าการพักผ่อนนั้นมีส่วนสำคัญ โดยแสดงให้เห็นอีกว่าคนที่ไม่ใช้วันลาพักร้อนมัก ป่วยง่ายกว่า มีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยกว่า เครียดกว่า และยังขี้ตื่นตระหนก และมีโอกาสรู้สึกซึมเศร้ามากกว่า ซึ่งนั่นส่งผลต่อการทำงาน”
เธอยังกล่าวอีกด้วยว่า เป็นสิ่งจำเป็นต่อคนทำงานระดับบริหารตั้งแต่เลเวลผู้จัดการไปจนถึงระดับซีอีโอ ในการให้ความสำคัญและสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมให้คนใช้วันลาโดยที่ไม่ ‘รู้สึกผิด’ การกำหนดให้พนักงานใช้วันลาหรือส่งเสริมให้วางแผนวันหยุด โดยนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลงานในระยะยาวสามารถส่งผลดีแก่ทั้งองค์กรและตัวลูกจ้างเอง
นี่อาจฟังแล้วพิลึก แต่เชื่อไหมว่าการลาพักร้อนเป็นเรื่องที่ต้องฝึกปฏิบัติ Brigid Schulte เสริม “ยิ่งเรารอวันหยุด เรายิ่งโหยหามันกว่าเดิม”
ถ้าอย่างนั้นเราจะสร้างนิสัยเริ่มเดินไปขอวันลาพักร้อนจากฝ่ายบุคคลได้อย่างไรล่ะ? คำตอบคือ เช่นเดียวกับความสำเร็จอื่นๆ นั่นแหละ ที่ต้องอาศัยการวางแผนสักหน่อย
“เหตุผลหลักที่ผู้คนไม่ยอมใช้วันลาก็เพราะพวกเขาไม่คิดว่าจะสามารถละจากงานได้ หรือคิดว่าจะกระทบกับงานหากต้องหยุดงานไป” เธอเสริม แต่กระนั้นต้องพึ่งทักษะการจัดการที่เยี่ยมยอดสักหน่อย
หากไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร Amatenstein แนะว่า “ลองจดลงใส่ปฏิทินก่อนล่วงหน้าเพื่อคำนวณเวลาวางแผนการเดินทาง และเมื่อคุณจดวันเดินทางแน่ๆ ลงไปแล้ว แม้ว่าจะอีก 6 หรือ 8 เดือนต่อจากนี้คุณก็จัดการตัวเองได้ง่ายขึ้นอีกเยอะเลย”
รู้อย่างนี้แล้วก็เริ่มจัดการงานในอนาคตที่ทำได้ จดใส่ตารางถึงวันเดินทาง จากนั้นก็เรียงลำดับความสำคัญของงาน แล้วเริ่มลงมือปั่นมันเสีย อย่าลืมตกลงกับเจ้านายและเพื่อนร่วมงานรอบตัวว่าคุณจะขอหายตัวไปสักพัก เพื่อที่ว่าคนในออฟฟิศจะได้ไม่ตกใจว่าคุณอันตรธานหายไปไหน
ผู้เชี่ยวชาญยังบอกอีกด้วยว่า การวางแผนล่วงหน้าจะบังคับให้คุณทั้งจัดการตัวเอง ทั้งงาน เงิน และการเดินทางได้อย่างน่าทึ่ง และยังช่วยให้คุณจัดสมดุลในชีวิตการทำงานและพักผ่อนได้อย่างดีเลิศ และกลับมาด้วยความสดใส แรงบันดาลใจเต็มเปี่ยม พร้อมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
อ่านเสร็จปุ๊บ ใครอยากเริ่มดูโปรฯ ตั๋วเครื่องบินก็อย่ารู้สึกผิด เพราะจงรู้ว่าการลาพักร้อนเสียบ้างก็สำคัญไม่แพ้การไปหาหมอฟันหรือจ่ายภาษีเลย
เพราะอะไรน่ะหรือ
เพราะสุขภาพกายและใจของคุณก็สำคัญไม่แพ้ส่วนอื่นใด และใครจะไปรักษาได้นอกจากตัวคุณเอง ดังนั้นเลิก #throwback จงออกไปใช้สิทธิ์และแสดงความรักให้กับตัวเองหน่อยไหม
อ่านเรื่องคุณทำงานมากกว่า 39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่หรือเปล่า? หรืองานของคุณกำลังฆ่าคุณช้าๆ ได้ที่นี่
Cover Photo: 20th Century Fox
อ้างอิง: