×

วิเคราะห์ว่าทำไม ‘เวิร์คพอยท์’ ถึงเลือกจับมือกับโคตรคูลและเมเจอร์ พร้อมกันในจังหวะเดียวถึง 2 ดีล น่านน้ำใหม่ของการสร้างรายได้ในอนาคต

14.11.2023
  • LOADING...
วิเคราะห์ว่าทำไม ‘เวิร์คพอยท์’ ถึงเลือกจับมือกับ โคตรคูล และ เมเจอร์

ถึงวันนี้ ‘เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์’ ซึ่งอยู่ในแวดวงของธุรกิจบันเทิงมานานกว่า 34 ปี ด้วยประสบการณ์ความเชี่ยวชาญในการผลิตรายการทีวี รับจัดอีเวนต์ และคอนเสิร์ต ทำให้มีรายได้เติบโตขึ้น แต่ถ้าเทียบในอดีตอาจไม่หวือหวามากนัก

 

ต้องยอมรับว่าธุรกิจทีวีต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งพฤติกรรมคนดูทีวีน้อยลง และเริ่มหันไปดูคอนเทนต์ในช่องทางสตรีมมิงแทน 

 

นี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เมื่อไม่นานมานี้ ‘เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์’ ออกมาเคลื่อนไหวลงทุนพร้อมกันในจังหวะเดียวถึง 2 ดีล เริ่มจากการให้บริษัทย่อยเข้าถือหุ้น 49% ในบริษัท โคตรคูล จำกัด ที่ประกอบธุรกิจผลิตและออกอากาศรายการผ่านช่องทางออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วยวงเงินไม่เกิน 216 ล้านบาท

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

รวมถึงการจับมือ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ตั้งบริษัทร่วมทุน ‘คาร์แมน ไลน์ สตูดิโอ’ เพื่อผลิตภาพยนตร์ร่วมกัน ด้วยการถือหุ้นฝ่ายละ 50%

 

“สัญญาณทั้งหมดสะท้อนถึงการ Diversify ธุรกิจหาโอกาสใหม่ๆ ในตลาดที่ตัวเองมีความเชี่ยวชาญมานาน อย่างธุรกิจการผลิตสื่อ”

 

สยาม ติยานนท์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในภาวะที่อุตสาหกรรมสื่อกำลังชะลอตัว เวิร์คพอยท์พยายามขยายช่องทางการหารายได้ นอกเหนือจากสื่อทีวีดิจิทัลที่เป็นธุรกิจหลัก ซึ่งมองว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวในมุมของบริษัทคือต้องการหาโอกาสใหม่ๆ อยู่แล้ว 

 

ที่สำคัญการขยายธุรกิจไปในอุตสาหกรรมสื่อที่เวิร์คพอยท์เองก็มีความเชี่ยวชาญ จะช่วยต่อยอดและเสริมทัพธุรกิจได้อย่างดี โดยเฉพาะในช่วงที่รายได้โฆษณาของสื่อดิจิทัลค่อนข้างชะลอตัวและไม่มีความแน่นอน

 

ขณะเดียวกันการจับมือกับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ เพื่อร่วมกันผลิตภาพยนตร์ เราก็เห็นแล้วว่าช่องทีวีดิจิทัลหลายๆ ช่องเริ่มหารายได้จากช่องทางด้านนี้มากขึ้น อย่าง BEC จับมือ ‘เอ็ม สตูดิโอ’ ร่วมผลิตภาพยนตร์ไทยเรื่อง ธี่หยด ก็เป็นลักษณะคล้ายๆ กัน

 

อีกด้านหนึ่งก็เป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ เนื่องจากการทำภาพยนตร์เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่หลายคนมองว่าเป็นโอกาสในการหารายได้เพิ่ม 

 

เนื่องจากกระแสภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้ถล่มทลาย อย่าง สัปเหร่อ และ ธี่หยด ทำให้ทีวีดิจิทัลรายอื่นๆ เห็นโอกาส มองในแง่ของนักลงทุน ถ้าภาพยนตร์ออกมาเรื่องหนึ่งแล้วจังหวะได้ ก็จะช่วยสร้างกำไรได้มากพอสมควร

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในลักษณะนี้คาดหวังรายได้ค่อนข้างยากเหมือนกัน เพราะการทำธุรกิจโดยเฉพาะภาพยนตร์ เราก็ไม่รู้ว่าเรื่องไหนจะสำเร็จบ้าง แน่นอนว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง

 

ด้าน ภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จำกัด หรือ MI GROUP วิเคราะห์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบันเวิร์คพอยท์คงหวังพึ่งรายได้จากโฆษณาโดยตรงยากแล้วเหมือนกับทุกช่อง แต่ช่องทางที่สร้างรายได้และเป็นกระแสได้ดีคือคอนเทนต์ เห็นได้จากการประสบความสำเร็จของรายการ ร้องข้ามกำแพง ที่เวิร์คพอยท์ส่งไปขายในต่างประเทศภายใต้ชื่อว่า The Wall Duet ก็ได้รับกระแสตอบรับค่อนข้างดี

 

ขณะที่การลงทุนจับมือกับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ตั้งบริษัทร่วมทุน ‘คาร์แมน ไลน์ สตูดิโอ’ เวิร์คพอยท์ยังคงบทบาทในความเป็นผู้ถือหุ้น แต่ไม่ได้ลงไปบริหารจัดการเอง ซึ่งยังปล่อยให้ครีเอเตอร์เป็นคนดำเนินงาน 

 

สุดท้ายอนาคตจะมีกลยุทธ์การเติบโตในรูปแบบไหนต้องรอดูอีกครั้ง หรือการให้บริษัทย่อยเข้าถือหุ้นในบริษัท โคตรคูล เพื่อผลิตและออกอากาศรายการผ่านช่องทางออนไลน์ในแพลตฟอร์มต่างๆ เป็นหลัก ในอนาคตคงหวังนำไปต่อยอดในตลาดต่างประเทศด้วย เพราะในช่วงระยะหลังจะเริ่มเห็นเวิร์คพอยท์เริ่มเข้าไปโฟกัสในตลาดอาเซียน

 

ถ้ามองในฐานะนักลงทุน เวิร์คพอยท์เป็นบริษัทมหาชน ในทุกๆ ไตรมาสต้องออกไปชี้แจงกับผู้ถือหุ้น จำเป็นต้องมีความชัดเจนในแง่ของการเติบโตทั้งรายได้และกำไร เพราะวันนี้ธุรกิจสื่ออยู่ในช่วงขาลง ฉะนั้นปัจจัยที่เวิร์คพอยท์หันมาโฟกัสเรื่องคอนเทนต์ ก็เป็นการทำให้ผู้ถือหุ้นมีความเชื่อมั่นว่าบริษัทกำลังเดินหน้าไปสู่อนาคตที่ดูมีความหวัง

 

เรียกได้ว่าการลงทุนดังกล่าวไม่ใช่ความเคลื่อนไหวครั้งแรก เพราะจะเห็นว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เวิร์คพอยท์พยายามเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้หลากหลาย เห็นได้จากปี 2565 เวิร์คพอยท์จับมือกับเซ็ปเป้ ผู้ผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ นำคาแรกเตอร์ครูเพ็ญศรี จากซิตคอม หกฉากครับจารย์ ของเวิร์คพอยท์มาพัฒนาเป็นสินค้าลูกอม ซึ่งเซ็ปเป้นั้นเป็นผู้ผลิตและดูแลในส่วนของช่องทางการจำหน่าย ขณะที่เวิร์คพอยท์ดูเรื่องการทำตลาด ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่ตัวเองถนัดอยู่แล้ว 

 

ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้หลักของ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ WORK ส่วนใหญ่มาจากธุรกิจ Media หรือขายเวลาโฆษณาทีวีและออนไลน์ มีสัดส่วน 80% และกลุ่ม Non-Media สัดส่วน 20% ที่ประกอบไปด้วย การรับจ้างจัดงาน, คอนเสิร์ต, ละครเวที และการขายสินค้าอื่นๆ

 

ปี 2563 บริษัทมีรายได้รวม 2,336 ล้านบาท

ปี 2564 บริษัทมีรายได้รวม 2,312 ล้านบาท

ปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 2,510 ล้านบาท

ส่วนรายได้ 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2566 มีรายได้รวม 1,905 ล้านบาท

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X