×

ทำไมการปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์จึงเป็นเรื่องยากเย็น

07.09.2021
  • LOADING...
history

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • แนวคิดในการเขียนประวัติศาสตร์ไทยให้ความสำคัญกับทฤษฎีมหาบุรุษ (Great Man Theory) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้คนรู้สึกว่าชาติพ้นภัยและเจริญก้าวหน้าได้นั้นมาจากผู้นำที่ดีและเก่งกล้า ผนวกกับความคิดว่าชาติไทยที่รอดพ้นสงครามและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้นี้เป็นผลมาจากกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘ราชาชาตินิยม’ ในประวัติศาสตร์ 
  • ผลที่ตามมาคือ ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์ว่าด้วยประชาชน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และอื่นๆ อีกมากมายที่รวมกันเรียกว่าชาติไทยดังเช่นทุกวันนี้
  • ตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากการเขียนและกำหนดเนื้อหาโดยคนที่มีอำนาจ จึงเป็นประวัติศาสตร์แบบ Top Down ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดการถกเถียง เพราะมีลักษณะเป็นเรื่องเล่าเพียงชุดเดียว หรือ Mono Narrative 
  • จะทำอย่างไรให้วิชาประวัติศาสตร์เป็น ‘ศาสตร์’ ในความหมายของวิชาที่สอนให้คนคิดและวิเคราะห์ทั้งเหตุการณ์ในอดีตและเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ในปัจจุบันได้ จนรู้เท่าทันอำนาจของประวัติศาสตร์ที่อดีตกำลังกำหนดปัจจุบันและอนาคต  

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลหรือรัฐประหาร ประวัติศาสตร์จะเป็นวิชาแรกๆ ที่รัฐมนตรีแทบทุกคนต้องการปรับปรุง ราวกับเป็นมิชชัน สาเหตุเป็นเพราะวิชานี้มีอำนาจในการกำหนดจิตสำนึกทางการเมืองและวิธีคิดต่อชนชั้นของคนในชาติ 

 

แต่เหมือนโศกนาฏกรรม วิชาประวัติศาสตร์กลับเป็นวิชาที่ปรับปรุงล่าช้ามาก เช่นเดียวกับงบประมาณเพื่อพัฒนาบุคลากรก็ยังไม่มีอย่างจริงจัง บางครั้งมีหน่วยงานทหารหวังดีมาอบรมประวัติศาสตร์ให้กับครูและนักเรียน หวังจะสร้างความรักชาติให้เกิดขึ้น แต่ปัญหาคือวิธีการสอนและข้อมูลไม่ทันสมัย กลายเป็นถอยหลังเข้าคลอง

 

เมื่อไม่นานมานี้ผมได้รับการติดต่อเป็นผู้ให้ความเห็นกับการปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์ของสำนักเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาณที่ดีของการเปลี่ยนแปลง เพราะเริ่มจากหน่วยงานราชการหลัก และก่อนหน้านี้ยังมีการสำรวจและสัมภาษณ์นักเรียนและครูจำนวนมาก เพื่อถามความเห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์ที่ควรเป็นจะเป็นอย่างไร 

 

ทั้งครูและนักเรียนรุ่นใหม่ต่างมองว่า วิชาประวัติศาสตร์ในปัจจุบันไม่กระตุ้นให้นักเรียนคิดเป็น เน้นความจำ เนื้อหาไม่ได้ต้องการให้ถกเถียง แต่ให้เชื่อ มีแกนเรื่องเป็นสถาบันกษัตริย์ ซึ่งทำให้มีปัญหาต่อการถกเถียงในเชิงประวัติศาสตร์ สะท้อนประวัติศาสตร์แบบ ‘ราชาชาตินิยม’ (คือเน้นความรักชาติผ่านสถาบันกษัตริย์มากจนเกินไป) อีกทั้งไม่ได้ให้ความสำคัญกับท้องถิ่น 

 

คำถามก็คือ แม้ว่าครูและนักเรียนจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงวิชาประวัติศาสตร์แล้ว แต่ทำไมมันจึงเป็นเรื่องยากเย็นที่พูดกันมาเป็นสิบปี ในฐานะที่มีประสบการณ์อยู่บ้าง จึงอยากสะท้อนปัญหาให้เห็นผ่านบทความนี้ แน่นอนว่าทั้งหมดที่เขียนอาจไม่ครอบคลุม และมีบางเรื่องที่ผมก็ไม่ได้รู้ไปเสียทั้งหมด แต่ต้องการเล่าให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น เผื่อว่าในอนาคตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นบ้าง เท่าที่ผมเห็นมี 8 ประการสำคัญที่ทำให้การปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องยากเย็น ดังนี้

 

ประการแรก ประวัติศาสตร์ยังถูกให้ค่าว่าเป็นเรื่องของชนชั้นนำหรือกษัตริย์ 

เรื่องนี้มีพื้นฐานจากตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ในอดีตอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 มีพื้นฐานมาจากพงศาวดาร ดังนั้นทำให้เนื้อหาของวิชานี้อิงกับพงศาวดาร ที่มีอิทธิพลมากคือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา 

 

history

 

แต่เหนือไปกว่าเนื้อหาที่อิงจากพงศาวดารแล้ว คือแนวคิดในการเขียนประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับทฤษฎีมหาบุรุษ (Great Man Theory) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ส่งเสริมให้คนรู้สึกว่าชาติที่พ้นภัยต่างๆ และเจริญก้าวหน้าได้นั้นมาจากผู้นำที่ดีและเก่งกล้า แนวคิดนี้เองเมื่อผนวกกับความคิดว่าชาติไทยที่รอดพ้นสงครามและเจริญก้าวหน้าขึ้นมาได้นี้เป็นผลมาจากกษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถ ความคิดแบบนี้ฝังลึกลงไปในสมอง และก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ‘ราชาชาตินิยม’ ในประวัติศาสตร์ 

 

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ประวัติศาสตร์ไทยไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์สังคม ประวัติศาสตร์ว่าด้วยประชาชน ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และอื่นๆ อีกมากมายที่รวมกันเรียกว่าชาติไทยดังเช่นทุกวันนี้

 

history

 

ประการที่ 2 ระบอบการเมืองและการรัฐประหาร 

ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ เกิดการรัฐประหารหลายครั้งและระบอบการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ภายใต้ระบอบการเมืองแบบนี้เอง ประวัติศาสตร์ที่เน้นการทหารและกษัตริย์นักรบจึงได้รับความสำคัญ เห็นได้ชัดจากตอนที่ พล.อ. ประยุทธ์ ทำรัฐประหาร ก็นำหนัง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาฉายซ้ำ เพราะประวัติศาสตร์แบบนี้ย่อมส่งเสริมระบอบการเมืองทำนองนี้ ด้วยประวัติศาสตร์แบบนี้เองที่ทำให้ทหารเป็น ‘ฮีโร่’ และสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า

 

ประการที่ 3 การก้าวก่ายของการเมือง 

สืบเนื่องมาจากการรัฐประหาร ทำให้ความพยายามในการพัฒนาวิชาประวัติศาสตร์ไปสู่ทิศทางที่เน้นประวัติศาสตร์ภาคประชาชน สังคม และท้องถิ่นมากขึ้นนั้นเกิดการสะดุด เพราะข้าราชการประจำด้านการศึกษาต้องทำงาน สนองนโยบายของนายคนใหม่อยู่ตลอดเวลา ทำให้แผนการปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์ที่วางไว้ต้องหยุดชะงักหรือเปลี่ยนแผน เรื่องนี้จะแก้ไขได้ก็ด้วยข้าราชการประจำต้องผลักดันให้เกิดแผนแม่บทและโครงการในระยะยาว 

 

history

 

บางครั้งนายใหม่ก็ไม่ได้มีความรู้มากนักด้านประวัติศาสตร์ (ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของข้าราชการการเมือง) ทำให้มองเห็นว่าวิชาประวัติศาสตร์ที่เป็นอยู่นั้นดีแล้ว การปรับปรุงจึงกระทำเพียงระดับผิวเผินในแง่ของเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ แต่ลงไปไม่ถึงแก่นทางความคิดของความเป็น ‘ศาสตร์’ ของประวัติศาสตร์ ทางออกของเรื่องนี้อย่างหนึ่งคือ ข้าราชการประจำคงต้องพยายามผลักดันให้เกิดแผนแม่บท (Master Plan) ในการปรับปรุงและตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการหน้าใหม่ๆ เข้าไป เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง 

 

ประการที่ 4 ขาดแคลนครูสังคม 

เรื่องนี้อาจมองว่าเป็นปัญหาหรือไม่ใช่ปัญหาในบางแง่มุมก็ได้ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีข้อจำกัดเรื่องอัตราครูในยุคหนึ่ง ทำให้บางโรงเรียน ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายวิชา ครูพละอาจจำต้องสอนวิชาประวัติศาสตร์ ไม่ใช่ว่าครูไม่เก่งหรือไม่มีความรู้ แต่วิชาแต่ละวิชาย่อมมีศาสตร์และวิธีการของตัวเอง จะเอาครูประวัติศาสตร์ไปสอนพละก็คงไม่ใช่ 

 

ด้วยสถานการณ์แบบนี้ทำให้ครูต้องอ่านต้องท่องตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์ให้นักเรียนฟังเป็นหลัก นี่คือเหตุผลที่ทำให้วิชาประวัติศาสตร์กลายเป็นวิชาที่น่าเบื่อ อันเป็นผลมาจากข้อจำกัดของครูและตำรา แม้ว่ากระทรวงศึกษาธิการจะตระหนักถึงปัญหานี้ แต่ภาคการเมืองก็ไม่เคยขยับเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจังในการเพิ่มอัตราครูสังคม แม้ว่าทุกครั้งของการรัฐประหาร วิชานี้จะสำคัญมากสักเพียงใดก็ตาม 

 

ประการที่ 5 ตำราเรียนแบบ Top Down ไม่เอื้อต่อการถกเถียง 

หมายถึงตำราเรียนวิชาประวัติศาสตร์เกิดขึ้นจากการเขียนและกำหนดเนื้อโดยข้าราชการการเมือง ข้าราชการ และนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำให้เรื่องที่กลายมาเป็นเนื้อหาวิชาถูกกำหนดขึ้นจากคนที่มีอำนาจ จึงเป็นประวัติศาสตร์แบบ Top Down 

 

การผูกขาดความรู้เช่นนี้ทำได้ในยุคสมัยหนึ่งที่ความรู้ทางประวัติศาสตร์ยังไม่ตกอยู่ในมือของเอกชนมากนัก และไม่แพร่หลายในโลกอินเทอร์เน็ตเท่ากับทุกวันนี้ แต่ทุกวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก นักเรียนมัธยมหลายคนอ่านงานวิชาการ เปิดรับเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ใหม่ๆ จนทำให้ตำราเรียนแบบ Top Down กลายเป็นของล้าหลัง ข้อมูลไม่ทันสมัย และไม่มีสิ่งใดจะถกเถียงได้ ถึงถกเถียงไปก็อาจจะสอบตก เพราะไม่ตรงกับตำรา หรือหมิ่นครูเสียฉิบ 

 

ตำราเรียนแบบ Top Down ไม่เอื้อให้เกิดการถกเถียง เพราะอย่างที่กล่าวเนื้อหามีลักษณะเป็นเรื่องเล่าเพียงชุดเดียว หรือ Mono Narrative และมีความเชื่อเกี่ยวกับสถาบันกำกับ ตัวอย่างเช่น คนไทยรับรู้กันโดยทั่วไปว่าพระนเรศวรทรงใช้พระแสงของ้าวฟันพระมหาอุปราชา ลักษณะนี้เรียกว่า ‘เรื่องเล่าชุดเดียว’ แต่ความจริงแล้วมีหลักฐานชั้นต้นอื่นที่บันทึกว่าพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ด้วยปืนของพระนเรศวร ข้อมูลที่แตกต่างกันนี้ความจริงเป็นเรื่องน่าสนุกในการถกเถียงให้นักเรียนรู้จักการตั้งคำถามและชั่งน้ำหนักกับความน่าเชื่อถือในเรื่องหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรอง แต่ปรากฏว่า เมื่อปี 2557 มีคนเสนอหลักฐานชุดนี้ต่อที่สาธารณะ กลับถูกทหารแจ้งความเอาผิดมาตรา 112 เลย (ดูเพิ่มเติมในข่าวนี้ https://www.bbc.com/thai/thailand-42714062

 

นี่คือกรณีตัวอย่างที่ชัดเจนที่เนื้อหาทางประวัติศาสตร์ถูกกำหนดโดยให้มีเรื่องเล่าชุดเดียว อาจเพื่อรักษาพระเกียรติ หรือตำราถูกเขียนตามๆ กันมานับจากพงศาวดารโดยไม่มีการเพิ่มเติมหลักฐานใหม่เข้าไป หรือคิดเพื่อจะปรับปรุงเนื้อหาเพื่อเอื้อต่อการถกเถียง 

 

history

 

ประการที่ 6 ที่ผ่านมาไม่รับฟังเสียงนักเรียนและประชาชน 

อาจด้วยข้อจำกัดบางอย่าง ทำให้ตำราสมัยก่อนถูกกำหนดและเขียนขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่ง บางเล่มเขียนโดยนักวิชาการคนเดียว บางเล่มสองคน หรือบางทีเขียนโดยผู้ช่วยของนักวิชาการ แต่ประวัติศาสตร์นั้นกว้างใหญ่กินขอบเขตของเวลามาก ทำให้เกิดปัญหาความไม่ลึกมากพอในเนื้อหาและตามไม่ทันข้อมูลใหม่ๆ ที่สำคัญด้วยคือ การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดทางประวัติศาสตร์ (Historical Approach) และบริบททางสังคมการเมืองนั้นมีพลวัตสูงในปัจจุบัน ทำให้ตำราเรียนไม่สามารถตอบสนองต่อความอยากรู้ ความต้องการ การเปลี่ยนแปลงของความรู้ และอื่นๆ ได้อย่างเพียงพอ เพราะตำราไม่เคยพัฒนาขึ้นมาจากความต้องการของสังคม (นักเรียน+ประชาชน) อย่างไรก็ตาม น่าดีใจที่ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการสภาการศึกษามีความตั้งใจจะปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งก็ขอให้ดำเนินการไปให้จนสุดปลายทาง

 

ประการที่ 7 ขาดตำราวิชาประวัติศาสตร์แนวใหม่ 

ความจริงแล้วการประชุมการอบรมเชิงปฏิบัติการทางประวัติศาสตร์ การพัฒนาตำราประกอบการอบรม คู่มือครู แนวทางการพัฒนาหลักสูตร และสื่อประกอบการสอน มีมาพอสมควร แต่มีปัญหาบางอย่าง เช่น สื่อประกอบการสอนหลายชิ้นเน้นเรื่องพระมหากษัตริย์และการทำสงครามของชาติไทยจนไม่มีพื้นที่ของเนื้อหาอื่น เป็นเหมือนการผลิตซ้ำวาทกรรมแบบเดิม อีกทั้งคนเข้าร่วมอบรมมักเป็น ‘ครูน้อย’ ไม่ใช่ครูใหญ่ จึงได้แต่รับฟังและฝึกหัดตนเอง แต่ไม่มีโอกาสผลักดันไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ต่อให้อยากผลักดัน แต่ตำราและหลักสูตรนั้นก็เป็นเหมือนเครื่องพันธนาการ ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก เปลี่ยนมากเดี๋ยวเด็กสอบตกก็จะเกิดปัญหาขึ้นอีก 

 

แต่ที่สำคัญคือ ที่ผ่านมายังไม่มีการรื้อ สังคายนา และเขียนตำราใหม่แบบไล่เรียงชั้นปีตั้งแต่ ป.1-ม.6 อย่างจริงจัง ที่ว่าต้องสังคายนาเพราะเนื้อหาซ้ำมีมาก และเยอะเกินไป เช่น เรื่องเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จนทำให้ไม่มีเนื้อที่มากพอสำหรับประวัติศาสตร์เรื่องอื่นๆ ขอให้เข้าใจว่าการลดทอนเนื้อหาสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่เพราะไม่สำคัญ แต่ควรสรุปให้เห็นว่าแกนสำคัญของประวัติศาสตร์พระราชานั้นคืออะไร 

 

ดังนั้นจึงต้องมีการดีไซน์เนื้อหากันใหม่เพื่อให้เหมาะกับการถกเถียง เนื่องจากเป้าหมายของการศึกษาในยุคปัจจุบันไม่ได้ต้องการแค่คนที่อ่านออกเขียนได้ ไม่ได้ต้องการให้พลเมืองที่ดื่มด่ำกับประวัติศาสตร์แบบชาตินิยม แต่ต้องการคนที่คิดเป็น รู้เท่าทันปัญหาและอำนาจทางประวัติศาสตร์ อีกทั้งมีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ละทิ้งความรู้เดิม หรือเรียนรู้เรื่องเดิมแบบใหม่ได้ (อ้างอิงคำพูดของ Alvin Toffler 1970)  ไม่เช่นนั้นแล้วก็เป็นเรื่องยากที่จะนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ (Competency Based Curriculum) 

 

ประการสุดท้าย ทุนนิยมของสำนักพิมพ์ 

ด้วยนโยบายเสรีเกี่ยวกับตำราเรียน ทำให้สำนักพิมพ์แต่ละแห่งมีอิสระพอสมควรกับการทำตำราเรียนขึ้นมา โดยมีหลักสูตรกำกับและรับรองมาตรฐานของตำราเหล่านี้ถูกกำหนดโดยคณะกรรมการตรวจตำรา จากนั้นโรงเรียนจะคัดเลือกตำราอีกครั้งหนึ่ง ตำราแต่ละเล่มภายใต้บริษัทเอกชนนี้จึงย่อมมีต้นทุนค่าเขียนตำรา ซึ่งมักจะไปจ้างนักวิชาการภายนอก มีทั้งเขียนจริงและควบคุมการผลิต มีทั้งเขียนคนเดียวหรือเขียนเป็นทีม ราคาค่าเขียนตำรานี้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของคนเขียนและการตกลง แต่แพงแน่นอน และใช้เวลามาก เมื่อเป็นเช่นนั้นทำให้การคิดจะเปลี่ยนแปลงตำราไม่เกิดขึ้นได้โดยง่าย เพราะทุกอย่างมีต้นทุนทั้งที่เห็นได้ด้วยตาและที่ไม่เห็น หากเปลี่ยนแปลงแบบถึงรากถึงโคนย่อมใช้เงินทุนอย่างมหาศาล 

 

ข้อเสนอของผมอย่างหนึ่งคือ รัฐมนตรีหรือผู้มีอำนาจต้องคุยกับสำนักพิมพ์เหล่านี้อย่างจริงจัง ให้เวลากับเขา รวมไปถึงกระทรวงศึกษาธิการเองจะต้องสร้างต้นแบบของตำราเรียนประวัติศาสตร์ในอนาคตขึ้นมาให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่การเขียนบอกหลักการและกำหนดหลักสูตรเป็นข้อๆ อย่างที่เคยเป็นมา ที่สำคัญด้วยคือต้องปลดล็อกและดีลให้จบว่าเรื่องบางเรื่องสามารถเขียนเพื่อเป็นเคสสำหรับการถกเถียงได้ตามความจริง (ความจริงที่มีมากกว่าหนึ่ง) เพื่อให้คนเขียนตำราสามารถเขียนได้อย่างเต็มเหนี่ยว 

 

ทั้งหมดนี้คือปัญหาเท่าที่ผมเห็นจากการคลุกคลีในระดับหนึ่ง ยังมีอีกหลายเรื่องที่ซับซ้อนและเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไปทีละเปราะ ที่สำคัญกว่าเนื้อหาคือการจะทำอย่างไรให้วิชาประวัติศาสตร์เป็น ‘ศาสตร์’ ในความหมายของวิชาที่สอนให้คนคิดและวิเคราะห์ทั้งเหตุการณ์ในอดีตและเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ในปัจจุบันได้ จนรู้เท่าทันอำนาจของประวัติศาสตร์ที่อดีตกำลังกำหนดปัจจุบันและอนาคต เรื่องแนวทางการปรับปรุงวิชาประวัติศาสตร์นี้เอาไว้ผมจะมาขายเป็นไอเดียอีกสักบทความหนึ่ง  

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X