สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ รายงานว่า GDP ไทยในไตรมาสที่ 4 ขยายตัว 1.7% ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปี 2566 โตเพียง 1.9% ชะลอตัวจากปีก่อนที่ระดับ 2.5%
โดยการเติบโตเศรษฐไทยทั้งปี 2566 ยังแทบรั้งท้ายในกลุ่มประเทศในอาเซียน โดยโตนำเพียงสิงคโปร์เท่านั้น สวนทางฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนามโตทะลุ 5% และมาเลเซียที่โตเกือบ 4%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมไทย? FDI อินโดฯ-เวียดนามพุ่ง สวนทาง ‘ไทย’ หากเดินช้าเสี่ยงหลุดสถานะผู้นำเศรษฐกิจอาเซียน
- ‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตเพียง 1.9% พร้อมหั่น GDP ไทยปี 2567 เหลือ 2.7%
ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH โดยระบุว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและเพื่อนบ้านแตกต่างกันค่อนข้างมากมาจาก ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ตัวอย่างเช่น โครงสร้างประชากร สังคมผู้สูงวัย ความสามารถด้านการแข่งขัน และการลงทุนที่แตกต่างกัน
“ไทยเมื่อเทียบกับเวียดนามและอินโดนีเซียอยู่กันคนละระยะพัฒนาการ (Development Stage) โดยไทยเคยผ่านจุดนั้นมาแล้ว เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่า การเติบโต (Growth) ที่ระดับ 5-6% ของประเทศเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติ” ณัฐพรกล่าว
แม้ไทยอาจเทียบมาเลเซียได้ อย่างไรก็ตาม มาเลเซียยังสามารถดึงดูดการลงทุนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าไฮเทคได้มากกว่าไทย และมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Future Industry) ได้มากกว่าไทย
สำหรับความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession) ณัฐพรระบุว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า โอกาสที่ GDP ไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 จะติดลบ QoQ ‘ยังมีน้อยอยู่’ พร้อมมองว่า เศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 น่าจะทรงตัว QoQ เนื่องจากแม้ยังไม่มีงบประมาณจากภาครัฐเข้ามา แต่ภาครัฐก็น่าจะยังเร่งเบิกจ่ายเงินที่เหลือจากปีงบประมาณ 2566 ต่อไปได้ ดังนั้นการใช้จ่ายภาครัฐก็น่าจะยังไม่หดตัวรุนแรง ขณะที่การส่งออก QoQ ก็น่าจะยังขยายตัวต่อได้ แม้ว่าจะมีความกังวลต่อสถานการณ์ในทะเลแดงก็ตาม