×

‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตเพียง 1.9% พร้อมหั่น GDP ไทยปี 2567 เหลือ 2.7%

19.02.2024
  • LOADING...
สภาพัฒน์ เผย เศรษฐกิจไทย ปี 2566 โตเพียง 1.9%

‘สภาพัฒน์’ เผยเศรษฐกิจไทยปี 2566 โตเพียง 1.9% ขณะที่ GDP ไตรมาส 4 หดตัว QoQ หมายความว่า ขาข้างหนึ่งของเศรษฐกิจไทยก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) แล้ว หลังเศรษฐกิจโลกขนาดใหญ่หลายประเทศเข้าสู่ภาวะดังกล่าวไปแล้ว เช่น ญี่ปุ่น และอังกฤษ

 

วันนี้ (19 กุมภาพันธ์) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เผยว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทั้งปี 2566 ขยายตัว 1.9%YoY ชะลอตัวจากขยายตัว 2.5% ในปี 2565

 

ปัจจัยหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ชะลอตัวมาจากการหดตัวของภาคส่งออกสินค้า การใช้จ่าย และการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการส่งออกภาคบริการยังขยายตัวในเกณฑ์ดี ดังนี้

 

  • การบริโภคภาคเอกชนปี 2566 +7.1%
  • การอุปโภคภาครัฐบาลปี 2566 -4.6%
  • การลงทุนภาคเอกชนปี 2566 +3.2%
  • การลงทุนภาครัฐปี 2566 -4.6%
  • การส่งออกสินค้าและบริการปี 2566 +2.1%
  • การนำเข้าสินค้าและบริการปี 2566 -2.2%

 

เมื่อแยกเป็นรายไตรมาสพบว่า ไตรมาสแรกของปี 2567 ขยายตัว 2.6% ไตรมาส 2 ขยายตัว 1.8% ไตรมาส 3 ขยายตัว 1.4% และไตรมาส 4 ขยายตัว 1.7%

 

จับตา Technical Recession

 

เมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส (QoQ) สภาพัฒน์เผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ติดลบ 0.6% โดยมีปัจจัยหลักมาจากการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยการติดลบดังกล่าวสะท้อนว่า ไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค (Technical Recession)

 

ทั้งนี้ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (Technical Recession) หมายความว่า GDP ติดลบอย่างน้อย 2 ไตรมาสติดต่อกัน

 

สำหรับประเด็นที่ว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรกของปี 2567 มีความเป็นไปได้ที่จะหดตัว QoQ หรือหดตัวต่อเนื่องติดกันเป็น 2 ไตรมาสหรือไม่

 

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ต้องรอดูตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ ของไตรมาส 1

 

“ถ้าส่งออกและบริโภคยังขยายตัวได้ การท่องเที่ยวยังคงไปได้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับขึ้นมาได้ โอกาสที่ไตรมาส 1 จะติดลบ QoQ จนนำไปสู่ Technical Recession ก็จะลดลง จึงต้องติดตามข้อมูลดูอีกที เนื่องจากปัจจุบันเพิ่งผ่านมาแค่เดือนเดียวเท่านั้น” ดนุชากล่าว

 

ทั้งนี้ ไม่ใช่ไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่เสี่ยงเข้าสู่ Technical Recession แต่ก่อนหน้านี้ก็มีหลายประเทศเข้าสู่ภาวะดังกล่าวแล้วในไตรมาสที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นและอังกฤษ

 

สภาพัฒน์หั่น GDP ไทยปี 2567 เหลือ 2.7%

 

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2567 สภาพัฒน์คาดการณ์ว่า GDP ไทยจะโตราว 2.2-3.2% (ค่ากลางที่ 2.7%) นับว่าลดลงเมื่อเทียบกับประมาณการก่อน เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่า GDP ปี 2567 ราว 2.7-3.7% (ค่ากลางที่ 3.2%)

 

โดยเหตุผลที่ทำให้สภาพัฒน์ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ หลักๆ มาจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจภายในประเทศไทยจีน

 

สำหรับปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงในปี 2567 อื่นๆ มีดังนี้

 

ปัจจัยสนับสนุน

 

  • การกลับมาขยายตัวของการส่งออก
  • การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการลงทุนภาคเอกชน
  • การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ
  • การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะการกระจายตัวไปในเมืองรองมากขึ้น

 

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

 

  • การลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยเป็นผลจากความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณในปีงบประมาณ 2567 รวมถึงการลดลงของพื้นที่ทางการคลัง ซึ่งจะกลายเป็นข้อจำกัดต่อการดำเนินนโยบายเพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะต่อไป
  • สัดส่วนหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มเปราะบาง ครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้ภาคเกษตร
  • ผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งต่อผลผลิตภาคเกษตรจากสภาวะเอลนีโญ (El Niño) ทำให้ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติและอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร
  • ความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก ทั้งจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในหลายภูมิภาคและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน

 

ภาพ: wuttipong charoensub / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising