“ผมมองว่าปลายปี 2024 ถึงประมาณต้นปี 2025 จะเป็นช่วงเวลาที่วงการสตาร์ทอัพน่าจะกลับมาดีได้อีกครั้ง” – ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์
สรุปสถานการณ์สตาร์ทอัพและแนวโน้มการฟื้นตัวในปีหน้า
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพทั่วโลกต้องเจอกับการระดมทุนที่ทำได้ยากมากขึ้นเนื่องจากความท้าทายหลายประเด็นที่ลากยาวมาตั้งแต่ช่วงโควิดและวิกฤตการเงินต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การล้มลงของ Silicon Valley Bank หรือสภาวะดอกเบี้ยสูงในรอบ 15 ปี ทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุน Venture Capital (VC) ที่คอยสนับสนุนเหล่าสตาร์ทอัพลดลง VC จึงระมัดระวังมากขึ้นกับการจัดสรรเงินทุน ส่งผลให้ธุรกิจสตาร์ทอัพอยู่ในโหมดชะลอตัว
ตารางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2007-2023
เมื่อก่อนในยุคดอกเบี้ยต่ำ สตาร์ทอัพสามารถระดมทุนได้เรื่อยๆ ตราบใดที่รายได้ (Top-line) ยังโต แต่ตัดมาที่ภาพปัจจุบัน ‘การเติบโต’ นั้นไม่ใช่คำตอบเดียวอีกต่อไปสำหรับสตาร์ทอัพที่ต้องการเงินทุน แต่ต้องมีแผนที่แสดงให้เห็นถึงกลยุทธ์ในการทำความสามารถที่จะสร้างกำไรให้ได้อย่างรวดเร็วด้วย
THE STANDARD WEALTH ได้มีโอกาสคุยกับ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ หรือ ‘หมู Ookbee’ ผู้ริเริ่มทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จรายแรกๆ ของประเทศไทย เกี่ยวกับทิศทางของวงการนี้ในอนาคต โดยณัฐวุฒิเล่าว่า “ในตลาดตอนนี้ผมยังไม่เห็นสตาร์ทอัพไหนที่ไม่สร้างกำไรแล้วสามารถระดมทุนได้รอบดีๆ เพราะส่วนที่ยังไม่ปรับตัวก็หายไปค่อนข้างเยอะแล้ว ส่วนใหญ่จะเหลือแต่ผู้ที่ยังทำกำไรได้”
หากพูดถึงในบริบทของประเทศไทย ด้วยบรรยากาศในตลาดหุ้นบ้านเราที่ไม่ค่อยสดใสในปีนี้ ทำให้ต้องมีการเลื่อน IPO ของหลายบริษัทออกไป หรือการออกหุ้นกู้ก็ยากขึ้นเพราะต้นทุนการเงินสูง เหล่านี้เป็นปัจจัยที่กดดันการเติบโตของสตาร์ทอัพไทยไปด้วย
นักลงทุน VC เองที่ส่วนหนึ่งเป็น Corporate Venture Capital (CVCs) ก็จะเน้นลงทุนกับสตาร์ทอัพที่สามารถเข้ามาเสริมธุรกิจเดิมขององค์กรนั้นๆ ได้ แต่เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ต่างคนก็ต่างพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายให้มีความรัดกุมมากขึ้น
ทั้งนี้ ณัฐวุฒิมองว่าของทุกอย่างมีวัฏจักรของมัน ขึ้นบ้างลงบ้าง และสำหรับวงการสตาร์ทอัพจุดพลิกไปในทิศทางที่ดีขึ้นก็มีแนวโน้มที่จะเริ่มฟื้นตัวในปลายปี 2024
“ผมมองว่าตอนนี้เราอยู่ในช่วงที่แย่เกินจริงไปมาก เพราะสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่ยังเหลือรอดในปัจจุบันคือพวกที่มีโมเดลธุรกิจที่แข็งแกร่ง ฉะนั้นเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น สตาร์ทอัพกลับมาทำกำไรได้ ผมก็ยังเชื่อว่าสุดท้ายยังไงคนก็ต้องลงทุนเพื่อหาผลตอบแทน และสตาร์ทอัพยังน่าลงทุนอยู่เมื่อเทียบกับหลายๆ ธุรกิจ”
โอกาสของสตาร์ทอัพไทยอยู่ตรงไหน และนักลงทุนมองหาอะไร?
จากประสบการณ์ที่เคยทำกองทุน VC ลงทุนในสตาร์ทอัพมาอย่าง 500 TukTuks 1 และ 2 กับ Orzon สตาร์ทอัพประเภทที่ณัฐวุฒิมองว่ามีโอกาสมากที่สุดในไทยตอนนี้คือ FinTech เนื่องจากความเหลื่อมล้ำในเรื่องการเงินยังมีอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมการเงินของไทยที่มีผู้เล่นหลักเป็นธนาคารต่างๆ ในตลาดก็คือด้านตรงข้ามของโอกาสที่อาจเป็นตัวจำกัดการเติบโตของสตาร์ทอัพสาย FinTech ได้ นอกเสียจากจะหาโซลูชันที่เฉพาะเจาะจงเจอจริงๆ ซึ่งโอกาสเป็นไปได้ก็มี เนื่องด้วยธรรมชาติของสตาร์ทอัพที่เคลื่อนตัวได้เร็ว เช่น ธุรกิจคริปโต เป็นตัวอย่างการเข้ามาจับตลาดโดยสตาร์ทอัพจนสามารถเติบโตได้อย่างมาก ก่อนที่ธนาคารจะเข้ามาในสังเวียนทีหลัง
ในฐานะนักลงทุน VC ของวงการสตาร์ทอัพไทยคนหนึ่ง ณัฐวุฒิชี้ให้เห็นถึงสิ่งสำคัญที่ธุรกิจสตาร์ทอัพต้องมีในตอนนี้ไปจนถึงตลอดปี 2024 คือความชัดเจนในแผนธุรกิจที่จะสร้างกำไรให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่เป็น ‘Growth at all costs’ หรือโฟกัสที่การเติบโตโดยไม่สนใจต้นทุนที่ต้องเสียไป
สุดท้ายความท้าทายของสตาร์ทอัพต่อจากนี้คือความคาดหวังในการเติบโตที่รวดเร็ว ท่ามกลางบรรยากาศการระดมทุนที่ยากขึ้น บวกกับปัจจัยคู่แข่งในตลาดที่เพิ่มขึ้นด้วยในหลายประเภทธุรกิจ ต่างจากตอนยุคแรกที่สตาร์ทอัพมีจำนวนน้อย แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น ถ้าหากสตาร์ทอัพเกิดใหม่หาวิธีการสร้างแผนธุรกิจที่ทำกำไรในเวลาอันสั้นได้เจอ สิ่งนี้ก็จะทำให้สตาร์ทอัพนั้นกลายเป็นผู้ที่มีโอกาสชนะต่อไปจากนี้