×

ทำไมเราถึงเจอโฆษณาแปลกๆ ได้! รายงานเผย Facebook คว้าแชมป์เข้าถึง ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ มากที่สุดกว่า 79.49% ตามด้วย Instagram และ Tinder

26.07.2022
  • LOADING...
Facebook

หลายคนอาจนึกแปลกใจว่าทำไมแอปต่างๆ บนโลกออนไลน์โดยเฉพาะ Facebook ถึง ‘ฉลาด’ ในการแนะนำสิ่งต่างๆ ที่ตรงใจเรา แต่หารู้ไม่ว่าทั้งหมดนี้มาจากการที่เรากด ‘ยอมรับ’ ทำให้พวกเขาสามารถเข้าถึง ‘ข้อมูลส่วนบุคคล’ และนำไปประมวลผล จนเป็นที่มาของการแนะนำสิ่งต่างๆ

 

แอปต่างๆ สามารถรวบรวมข้อมูล เช่น วันเกิด และที่อยู่อีเมล ไปจนถึงสัตว์เลี้ยง งานอดิเรก ส่วนสูง น้ำหนัก หรือแม้กระทั่งสิ่งที่เราชอบ และยังสามารถจัดเก็บข้อมูลธนาคาร รวมทั้งลิงก์ไปยังบัญชีโซเชียลมีเดีย ซึ่งวิธีการใช้ข้อมูลนี้จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ แต่บ่อยครั้งจะส่งผลให้มีการโฆษณาที่ตรงเป้าหมาย

 

ไม่ใช่แค่ข้อมูลส่วนบุคคลเท่านั้น แต่บางครั้งยังมีการจัดเก็บอื่นๆ เช่น ภาพลักษณะส่วนบุคคลโดยใช้สิ่งต่างๆ เช่น การจดจำภาพและเสียง เพื่อช่วยให้ลงชื่อเข้าใช้ได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างเช่น ทุกครั้งที่คุณใช้ฟิลเตอร์ TikTok หรือ Instagram พวกมันจะติดตามการเคลื่อนไหวของใบหน้าเพื่อสร้างภาพเหมือน แม้ว่ามันอาจสร้างผลลัพธ์ที่น่าขบขัน แต่ก็ช่วยให้บริษัทเหล่านี้สามารถจับภาพของเราและรวบรวมภาพของเราได้

 

รายงานของ Clario ชี้ว่า Facebook อยู่ในลำดับ 1 ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลในฐานะเครือข่ายโซเชียล ขึ้นอยู่กับว่าเราให้สิทธิ์เข้าถึงรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้สามารถแนะนำเพื่อน บอกให้คนอื่นรู้ว่าวันนี้เป็นวันเกิด แนะนำกลุ่มให้เข้าร่วม และที่สำคัญที่สุดคือโฆษณา

 

โดยโฆษณาเป็นวิธีที่ Facebook นำข้อมูลต่างๆ มาใช้ประโยชน์ได้สูงสุด จนทำให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 1.66 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6 แสนล้านบาท ในปี 2018 โดยจากข้อมูลทั้งหมดที่ธุรกิจสามารถรวบรวมได้ตามกฎหมาย Facebook สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลกว่า 79.49%

 

ตามมาด้วย Instagram ที่อยู่ในเครือเดียวกัน ซึ่งสามารถรวบรวม 69.23% ของข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด เช่น งานอดิเรก ส่วนสูง น้ำหนัก และรสนิยมทางเพศ โดยสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อโฆษณาและแนะนำบัญชีที่ควรติดตาม

 

แอปหาคู่ Tinder ตามมาติดๆ ด้วยตัวเลข 61.54% เช่นเดียวกับอายุ รสนิยมทางเพศ ส่วนสูง ความสนใจ และการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง ระบบยังเก็บรายละเอียดธนาคารไว้ด้วย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่นำมาไว้ขายตัวเลือกระดับพรีเมียมอย่าง Tinder Plus ได้ง่ายขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการพยายามจับคู่ Tinder ยังติดตามว่าเราใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างไร หากมีการเชื่อมโยงบัญชีเข้าด้วยกัน ตลอดจนยังรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่โต้ตอบกับผู้ใช้รายอื่น เช่น ผู้ใช้ที่โต้ตอบด้วย และจำนวนข้อความที่ส่งและรับ ขณะที่ Grindr รวบรวมข้อมูลเกือบเท่าๆ กัน โดยจัดเก็บ 58.97%

 

ด้าน TikTok เก็บรวบรวม 46.15% ของข้อมูลที่มีอยู่ในตัวเรา รวมถึงการจดจำใบหน้า ข้อมูลเสียง และคลังภาพ ขณะที่แอปในเครือของ Google จากการศึกษานี้พบว่า Maps อาจรู้จักผู้ใช้มากที่สุดด้วยตัวเลข 23.08% ของข้อมูลผู้ใช้ที่มีอยู่ทั้งหมด รวมถึงการจดจำภาพของสภาพแวดล้อมและตำแหน่งของเราอย่างชัดเจน

 

YouTube สามารถรวบรวมข้อมูลจำนวนเท่ากัน แต่ยักษ์ด้านวิดีโอจะเน้นเก็บข้อมูลงานอดิเรกและความสนใจของเราจากประวัติการดูและเนื้อหาที่ต้องการ แอปอื่นๆ ของ Google เช่น Docs, Sheets และ Gmail จะเก็บรวบรวมเพียง 12.82% ของข้อมูลที่มีอยู่ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยชื่อ อีเมล และภาษาที่เราพูดหรือเขียนได้

 

ขณะที่ผู้ค้าปลีกอย่าง Amazon ใช้ข้อมูลจำนวนน้อยที่สุดเพื่อกำหนดเป้าหมาย แม้จะเป็นผู้ค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (และใช้เงินประมาณ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ในการโฆษณาในปี 2019) Amazon รวบรวมข้อมูลเพียงเศษเสี้ยวของข้อมูลเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่นๆ เพียง 23.08% เท่านั้น

 

ธุรกิจค้าปลีกนั้นเก็บข้อมูลน้อยมาก โดย IKEA เก็บข้อมูล 23.08%, Nike 25.64% และ Depop 25.64% นอกจากชื่อ ที่อยู่อีเมล และที่อยู่บ้าน พร้อมกับรายละเอียดธนาคาร เพื่อให้การซื้อทางออนไลน์ง่ายขึ้น แต่มีเพียง Nike และ Depop เท่านั้นที่จัดเก็บส่วนสูงและน้ำหนักไว้เพื่อเสนอเสื้อผ้าที่เหมาะสมให้เรา เป็นต้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X