หลังจากที่เราใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนี้ และบัตรลงคะแนนจะไปไหน จะถูกนับคะแนนอย่างไร
THE STANDARD สรุปขั้นตอนการจัดการกับบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไว้ดังนี้
บัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ‘ลงคะแนนแล้ว’ ไปไหนต่อ
Note: บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งหมดยังไม่มีการนับคะแนน นับวันเลือกตั้งจริง 14 พ.ค.
- ทำลายบัตรเลือกตั้งที่เหลือ: ไม่ว่าจะเต็มเล่มหรือไม่เต็มเล่ม จะถูกทำลายด้วยโลหะแทงกลางบัตร ทะลุทุกฉบับรวมปกหน้า-หลัง ใช้เชือกร้อยรูผูกรวมให้เป็นปึกเดียวกัน ป้องกันไม่ให้บัตรถูกนำไปใช้
- นับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง: เจ้าหน้าที่เปิดหีบเลือกตั้งนับจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง บรรจุทุกซองลงในถุงพลาสติกใส
- ส่งบัตรเลือกตั้ง: ไปรษณีย์ไทยรับผิดชอบในการขนส่ง โดยรับซองใส่บัตรเลือกตั้ง รวมทั้งบัญชีจำนวนซองใส่บัตร ส่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตตามที่ระบุไว้หน้าซอง
- ปลายทางตรวจสอบจำนวนซองใส่บัตรเลือกตั้ง: ตรงตามตัวเลขบัญชีซองใส่บัตรเลือกตั้งที่ต้นทางส่ง จากนั้นจะทำบัญชีรับมอบซองใส่บัตรเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่นำซองใส่บัตรเลือกตั้งใส่หีบบัตรใส่สายรัด ลงลายมือชื่อไปเก็บรักษาไว้ยังที่ปลอดภัย
- ประกาศสถานที่นับคะแนน: ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน คณะกรรมการประกาศสถานที่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ดังนั้นอาจไม่ใช่สถานที่เดียวกับผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.
- แกะซองใส่บัตรเลือกตั้ง ก่อนนับคะแนน: 14 พ.ค. เวลา 17.00 น. เจ้าหน้าที่เบิกหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ตรวจนับจำนวนซอง นำบัตรเลือกตั้งออกจากซองแยกตามประเภท
- เริ่มนับคะแนน: แบ่งเจ้าหน้าที่เป็นสองชุด ชุดแรกนับคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขต ชุดที่สองนับคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
- สรุปผลคะแนนที่นับ: เมื่อนับคะแนนเสร็จเรียบร้อย กปน. จะเช็กยอด ทำรายงานผลนับคะแนน
- รวมผลคะแนนภายในเขตเลือกตั้ง ประกาศบนเว็บไซต์ กกต. จังหวัด ภายใน 5 วัน: รวมผลการนับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งภายในเขตเลือกตั้งนั้นๆ เข้าด้วยกัน
- ผลคะแนนจากการใช้สิทธิเลือกตั้งวันจริง
- ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต
- ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต
- ผลคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์
อ้างอิง:
- iLaw, ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566