×

‘ปืนลั่น-ดีเบตเก็บแต้ม-สว. ตัวร้ายภาค 2’ ถอดรหัสเลือกตั้ง 2566 กับทางเบี่ยงและทางเสี่ยงของเพื่อไทย

19.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • นักวิชาการรัฐศาสตร์ระบุว่า กฎหมายร่างมาเพื่อให้ กกต. ทำงานง่ายขึ้น ไม่ถูกกดดันหรือมีข้อจำกัดต่างๆ ทำให้ไม่เห็นบทบาท กกต. เอาจริงเอาจัง เลือกตั้งผ่านไป 6 เดือนแล้ว มีเพียงใบแดงของ สส. สอบตกในพื้นที่ กทม. เท่านั้น ส่วนใบอื่นไม่ทราบว่าจะเลยไปถึงช่วงเวลาใด
  • ดิจิทัลวอลเล็ตคงไม่ผ่านองค์กรอิสระ แม้กระทั่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็คงจะผ่านยาก การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน จึงเป็นโจทย์ยาก เป็นทางไกลและทางเสี่ยง
  • ประชาชนจะรอคอยด้วยความอดทน สำหรับการแจกเงิน 10,000 บาท หากไม่สามารถแจกได้ตามกำหนด ความรู้สึกไม่พอใจอาจเกิดขึ้น และการรอคอยของประชาชนน่าจะจบสิ้น
  • การชูแพทองธารเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ดูเหมือนพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวผู้นำตลอดเวลา เพราะเศรษฐาแม้จะขยันแต่ชอบทำปืนลั่น จึงต้องมาทำให้ช้ำก่อน

หากมองย้อนไปในปี 2566 นับเป็นปรากฏการณ์ที่การเลือกตั้งจะถูกจารึกไว้อีกครั้งว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอย่าง ‘พรรคก้าวไกล’ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ 

 

เช่นเดียวกับปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งในสภาเป็นอันดับ 1 รวบรวมเสียงได้ 255 เสียง จาก 6 พรรคการเมือง แต่กลับไม่ถึงฝัน พรรคพลังประชารัฐขึ้นสู่การเป็นรัฐบาล ตอกย้ำคำพูดของ สมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ว่า ‘รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา’ 

 

มาวันนี้เหตุการณ์นั้นย้อนกลับมาเกิดกับพรรคก้าวไกล ด้วยกติกา ด้วยอุดมการณ์ ผลประโยชน์ หรือเทคนิคการหาเสียงใดๆ สุดท้ายแล้วพรรคเพื่อไทยสามารถกลับเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้งภายใต้การนำของ เศรษฐา ทวีสิน 

 

THE STANDARD สนทนากับ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ย้อนเหตุการณ์เลือกตั้ง 2566 ถึงสาเหตุปัจจัยพรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แต่พรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล และอนาคตรัฐบาลเศรษฐาในการบริหารประเทศต่อจากนี้

 

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยพบมวลชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ

เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยพบมวลชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ
ภายหลังที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

กกต. รับบทคนไม่จริงจัง 

 

เมื่อการเลือกตั้ง 2566 ถูกกำหนดขึ้น คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. คือหน่วยงานที่ควรมีบทบาทมากที่สุด กลับกลายเป็นกลุ่มที่เงียบที่สุด มีปฏิกิริยาตอบโต้น้อยที่สุด ต่างจาก กกต. ชุดที่ผ่านๆ มา ไม่เพียงเท่านั้น ความผิดพลาดของ กกต. ชุดนี้ก็มีมากมายเกินกว่าจะนับไหวเลยทีเดียว

 

ตั้งแต่ ‘ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า’ ระบบล่มในวันสุดท้าย ประชาชนลงทะเบียนไปแล้ว กลับไม่มีชื่อปรากฏตอนใช้สิทธิ

 

‘ชื่อจังหวัดเขียนผิด’ พะเยา เขียนเป็น พระเยา/พะเยาว์, ศรีสะเกษ เขียนเป็น ศรีษะเกษ และ อุตรดิตถ์ เขียนผิดเป็น อุตรดิตฐ์ 

 

‘เลขเขตรหัสหน้าซองบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าผิด บัตรตกเครื่องบิน’ กลายเป็นบัตรเสีย เกิดปรากฏการณ์บัตรเขย่ง 

 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงปัญหาการพิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน, กรณีมีมติไม่รับคำร้อง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลถือหุ้น ITV แต่ยังพิจารณาตามมาตรา 151 ที่ว่าลงสมัครทั้งที่รู้ว่าไม่มีคุณสมบัติหรือมีคุณสมบัติต้องห้าม

 

จนเกิดคำถามในใจหลายคนๆ กกต. ทำหน้าที่ได้สุดความสามารถแล้วหรือไม่ และเมื่อความผิดพลาดที่มากขึ้นเรื่อยๆ คำถามที่เลวร้ายที่สุดจึงผุดขึ้นมาว่า ‘กกต. มีไว้ทำไม’ 

 

กรรมการประจำหน่วยกำลังคัดแยกบัตรเลือกตั้ง ตามหน่วยเลือกตั้งที่ระบุไว้หน้าซอง ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2566
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ในมุมมองของอดีต กกต. สมชัย ศรีสุทธิยากร มองเช่นเดียวกันว่า การทำหน้าที่ของ กกต. ชุดนี้ล่าช้าและมีเหตุให้ผิดพลาดจำนวนมาก 

 

การเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านไป 6 เดือนแล้ว กลับมีเพียงใบแดงของ เกศกานดา อินช่วย ผู้สมัคร สส. พรรคประชาธิปัตย์ ที่สอบตก ในพื้นที่ 30 เขต กทม. หลังมีหลักฐานว่ามีการซื้อเสียงเท่านั้น ส่วนใบอื่นๆ ยังไม่มีการพิจารณา และไม่ทราบว่าจะเลยไปถึงช่วงเวลาใด

 

ทั้งนี้การเลือกตั้งในปี 2562 มีการแจกใบส้มเพิกถอนสิทธิสมัครของ สุรพล เกียรติไชยากร ว่าที่ สส. เขต 8 เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ภายในระยะเวลา 1 เดือนหลังการเลือกตั้ง ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ส่วนใบเหลืองใบแรกคือ กรุง ศรีวิไล ซึ่งออกมาหลังการเลือกตั้ง 1 ปี 

 

“ถือเป็นกติกาที่ออกแบบมาแล้วมีปัญหา ทำให้ กกต. ไม่สามารถกำกับการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิผล และไม่เห็นบทบาท กกต. เอาจริงเอาจังในเรื่องราวเหล่านี้”

 

บางครั้งก็กลายเป็นคนค้างคา

 

อดีต กกต. ยังเล่าถึงปัญหาของ กกต. ชุดปัจจุบันว่า ในการเขียนกฎหมายพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ซึ่งร่างโดย กกต. นั้น มีการปรับหลายอย่างตามความต้องการของ กกต. เช่น

  • การขยายเวลาประกาศผลเป็น 60 วัน จากเดิมที่ใช้เวลา 30 วัน โดยใช้เหตุผลว่า 30 วัน ไม่สามารถแจกใบเหลือง-ใบแดงได้ทัน แต่ท้ายที่สุดเมื่อครบ 60 วันก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น

  • การนำเอาภาคประชาชนออกจากการเลือกตั้ง ซึ่งในกฎหมายฉบับก่อนๆ ระบุว่าจะต้องมีภาคเอกชนสังเกตการณ์ในหน่วยเลือกตั้งทุกๆ หน่วย อย่างน้อยหน่วยละ 1 คน แต่ กกต. ก็นำรายละเอียดส่วนนี้ออกไป

  • ระบบการรายงานผลอย่างไม่เป็นทางการ ประโยคนี้ก็ถูกเอาออกไป ส่งผลให้เมื่อการนับคะแนนเสร็จสิ้นจะไม่มีการรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการผ่านแอปพลิเคชัน โดยให้เหตุผลว่างบประมาณไม่เพียงพอในการจัดทำและกังวลระบบล่ม

 

“กฎหมายร่างมาเพื่อ กกต. ให้ กกต. ทำงานง่ายขึ้น ไม่ถูกกดดันหรือมีข้อจำกัดต่างๆ แม้กระทั่งการขยายเวลาการให้ใบเหลือง-ใบแดงหลังการเลือกตั้ง ซึ่งเดิมจะมีกรอบเวลา 1 ปีเพื่อส่งศาลฯ ปรากฏว่า มีชัย ฤชุพันธุ์ ได้นำข้อความเหล่านี้ออก เจตนาอาจให้คดีค้าง ให้เหมือนกับว่า คนทำผิดจะรู้สึกว่าไม่ใช่ปีเดียวจบ 3-4 ปีก็เอาเรื่องได้”

 

กกต. เปิดศูนย์ E-War Room ควบคุม-ตรวจสอบหาเสียงเลือกตั้งทางออนไลน์ ควบคุมการกระทำผิด เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2566

 

กติกาใหม่ที่เว้าแหว่ง

 

“พรรคการเมืองก็ต้องหาวิธีการปรับตัวเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด หรือมีโอกาสชนะภายใต้กติกาที่ถูกออกแบบมา ซึ่งในปี 2566 กติกาไม่เอื้อให้กับพรรคเล็ก ดังนั้นพรรคหรือคนต่างๆ ที่เคยคิดว่าจะแยกตัวออกมาไปไม่รอดต้องกลับเข้าไป”

 

ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า แยกตัวก่อนกลับเข้าสู่พรรคพลังประชารัฐ เช่นเดียวกับพรรคไทยสร้างไทยของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็พยายามฝืน ฝืนถึงที่สุดแล้วก็สู้ไม่ได้ พรรคเสรีรวมไทยก็พยายามฝืน แต่สุดท้ายฝืนมาได้เสียงเดียวแต่ก็สู้ไม่ได้

 

จากบัตรใบเดียวสู่บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ อดีต กกต. กล่าวขึ้นมาทันทีทันใดว่า ‘เป็นกติกาที่ไม่ดี’ เพราะเปลี่ยนจำนวนของบัตร แต่ไม่ได้เปลี่ยนให้บัตร 2 ใบเป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศ เนื่องจากการแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ครบทุกมาตรา 

 

มาตรา 90 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ที่กำหนดให้การสมัคร สส. เขตแล้วเสร็จ จึงสมัคร สส. บัญชีรายชื่อตามมาภายหลัง ไม่ได้รับการแก้ไข 

 

กระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดความยากที่แต่ละพรรคการเมืองจะมีเบอร์ที่ตรงกันในการเลือก สส. แบบแบ่งเขต และ สส. แบบบัญชีรายชื่อ ผลที่เกิดขึ้นคือประชาชนลำบากในการจดจำ พรรคการเมืองหาเสียงยาก ผู้สมัครไม่พูดถึงเบอร์ของพรรค 

 

ส่งผลให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ที่ตามปกติคะแนนของ สส. แบบบัญชีรายชื่อจะเป็นไปตามผู้สมัครที่มีชื่อเสียงมากกว่าพรรคการเมืองที่มีชื่อเสียง  

 

เมื่อจดจำไม่ได้ ประชาชนจึงกาเบอร์ของผู้สมัครเหมือนกันทั้ง 2 ใบ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่จับสลากได้หมายเลข 1-9 จะได้คะแนนโดยการกาที่สำคัญผิดในรายชื่อ

 

เมื่อเรียงคะแนนออกมาปรากฏว่า พรรคเหล่านี้มี สส. 1 คน เข้าไปทำหน้าที่ในสภาถึง 6 พรรคด้วยกัน ประกอบด้วย พรรคใหม่, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคเป็นธรรม, พรรคท้องที่ไทย, พรรคสังคมใหม่ และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน 

 

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวขอบคุณ พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีของคนไทยทุกคนที่พรรคก้าวไกล
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2023
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ในเมือง-ใกล้เมือง-ชนบท รสนิยมไม่เหมือนกัน

 

โซเชียลมีเดียเป็นวิถีในการดำรงชีวิตของคนในสังคม และทำให้เข้าถึงกลุ่มคนแต่ละกลุ่มได้ดีกว่าวิธีการอื่นๆ ในการหาเสียง เพราะการเลือกตั้งในยุคปัจจุบัน หากเดินหาเสียงตามบ้านช่วงกลางวันจะเจอแต่คนป่วยติดเตียง คนแก่ เด็กเล็กที่ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เจอแม่บ้านที่อาจเป็นชาวต่างชาติ

 

คนที่มีสิทธิเลือกตั้งจะออกไปทำงาน การแจกโบรชัวร์ไว้ก็เหมือนกับขยะที่ไม่ได้รับความสำคัญ ซึ่งการจะรู้จักและเข้าถึงผู้สมัครต้องดูว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสพสื่อใด ไม่ว่าจะเป็น YouTube, Facebook, TikTok หรือ X (Twitter) สื่อเหล่านี้จะมีการคัดกรองคน สังเกตพฤติกรรมการใช้สื่อ ซึ่งได้ผลกับกลุ่มคนที่มีอุปกรณ์และมีวิถีชีวิตที่เข้าถึงสื่อ

 

แต่การรับสารแบบนี้ อดีต กกต. วิเคราะห์ว่า ใช้ได้แค่เพียงคนจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะผลการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา ในเมืองจะมีผลแบบหนึ่ง ใกล้เมืองเป็นแบบหนึ่ง และชนบทเป็นอีกแบบหนึ่ง 

 

ในเมือง เช่น กรุงเทพฯ สื่อสำคัญที่สุดและนโยบายจุดยืนของพรรคสำคัญที่สุด เป็นการเลือกตามอุดมการณ์ ทำให้กรุงเทพมหานครมี สส. เป็นพรรคก้าวไกลเกือบทั้งหมด เว้นเพียงเขตเดียว 

 

ปริมณฑลได้ก้าวไกลทั้งหมด 

 

ใกล้เมืองจะเป็นอีกแบบหนึ่ง คือมีการปะปนเลือกระหว่างนโยบายกับตัวบุคคล 

 

ขณะที่ชนบทจะเลือกโดยเน้นตัวบุคคลทั้งหมด

 

ที่สำคัญการจัดทัพของพรรคก้าวไกลเป็นการจัดทัพที่น่าสนใจ ไม่เพียงแต่ทันกระแสเท่านั้น แต่สามารถทำนโยบายที่เป็นรูปธรรมออกมาได้มากที่สุด 300 นโยบาย มีอาร์ตเวิร์กสวยงาม เว็บไซต์ อ่านง่ายชัดเจนและดูเป็นความหวังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นความเข้มแข็งของทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี โซเชียลมีเดีย รู้วิธีสื่อสารกับประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ดีเบตสะสมคะแนน

 

บุคลากรของพรรคก้าวไกลที่ดีเบตในเวทีรายการต่างๆ มีความรู้ลึกซึ้งจริง และด้วยความเป็นหนุ่มสาว ความจำ การพูดการจาจะดีกว่าคนอื่นๆ สามารถโต้ตอบได้เร็ว ไม่ว่าจะเป็น ไหม-ศิริกัญญา ตันสกุล, ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ เท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ซึ่งถือเป็นการสะสมคะแนน แต่สิ่งสำคัญที่สุด ตนคิดว่าเป็นเรื่องของจุดยืนทางการเมืองที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่จำนนต่อระบบการเมืองแบบเดิมๆ ไม่ยอมให้ประเทศอยู่ภายใต้ภาวะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เรียกคะแนน

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ได้อานิสงส์จุดยืนแบบนี้ ทำให้คนเชื่อเหมือนกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ขณะนี้ความเชื่อดังกล่าวถูกทำลายไปเยอะพอสมควร เพราะพรรคเพื่อไทยเมื่อได้อำนาจก็ไม่แสดงความพยายามในการรักษาจุดยืนทางการเมือง

 

บรรยากาศงาน THE STANDARD DEBATE: เลือกตั้ง 66 ENDGAME เกมที่แพ้ไม่ได้ ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 
ภาพ: ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม        

 

ก้าวไกลไม่รับบทหนูทดลอง

 

อดีต กกต. ย้ำด้วยว่าที่คนเลือกก้าวไกลไม่ใช่อยากลอง แต่เขาอยากสนับสนุนให้ได้ เพราะเด็ก (พรรคก้าวไกล) เหล่านี้ทำการบ้านเตรียมตัวมาดี และไม่ซื้อเสียง เป็นพรรคเดียวที่ตนพูดได้ว่าไม่ซื้อเสียง ซึ่งในการลงพื้นที่เราจะรู้ เพราะการจัดเวทีปราศรัยในต่างจังหวัดมีต้นทุน รถปิกอัพวิ่งไปตามหมู่บ้านเพื่อไปรับคน แต่ละคนต้องได้รับค่าจ้าง และจะต้องไปสปอนเซอร์ร้านค้าเพื่อให้มาขายของ ซึ่งทุกพรรคการเมืองเวลาจัดเวทีใช้ต้นทุนขนาดนั้น แต่พรรคก้าวไกลเราจะเห็นอีกแบบ คนมาเองโดยที่เราไม่ต้องเอารถปิกอัพไปรับ

 

นี่คือความแตกต่าง และนี่เป็นสิ่งที่เขาได้กระแสอย่างนี้มาทุกจังหวัด แต่ก็ถูกโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามที่เห็นต่างจำนวนมาก ซึ่งการโจมตีดังกล่าวควรจะเป็นการโจมตีที่ได้ผลแต่กลับไม่ได้ผล แม้กระทั่งตอนนี้ก็ยังโดนโจมตีตลอดเวลา

 

กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยกมือวันทยหัตถ์ทักทายเจ้าหน้าที่ชุดตรวจเก็บกู้วัตถุระเบิด วัตถุต้องสงสัย หรือ EOD ก่อนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่รัฐสภา
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

สว. บนเส้นขนานประชาธิปไตย

 

ที่ผ่านมาเป็นการเจรจาทางการเมือง เมื่อดีลจบก็คือการยกมือให้ฝั่งที่สนับสนุน แต่ถ้าดีลไม่จบ อย่างกรณีพรรคก้าวไกล สว. ก็จะโหวตคว่ำ ไม่ผ่าน เอาพรรคก้าวไกลสร้างเป็นเงื่อนไข ถ้าไม่ยอมจะไม่ได้นายกรัฐมนตรีและไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เลวร้ายมากสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

เมื่อลองถามอดีต กกต. ว่า สว. ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างที่ประชาชนคาดหวังใช่หรือไม่ สมชัยระบุว่า ก็คงอย่างนั้นมั้ง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพรรคก้าวไกลใจอ่อนเร็วเกินไป สถานการณ์ไม่ได้ต้องยอมจำนนเร็วขนาดนั้น หรือถึงขั้นต่อให้สู้ไม่ได้ จนต้องรีบยกให้พรรคเพื่อไทย จริงๆ จะต้องขอโอกาสในการโหวตรอบที่ 2 แต่ด้วยความไว้วางใจเพื่อนรัก 

 

อดีต กกต. ยืนยันด้วยว่า ต่อให้ได้ สว. ชุดใหม่เข้ามาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะทำให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ตรงเจตนารมณ์ของประชาชนตามที่มีกระแสข่าว เพราะการเลือกตั้งใหม่นั้น ในสมัยของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปต่อไม่ได้ จึงต้องยุบสภา แต่ตามปกติแล้วถ้าไม่เลวร้ายถึงที่สุด สส. หรือรัฐบาลก็จะไม่ยุบสภา เขาจะตื้อไปเรื่อยๆ เพราะว่า ‘การยุบสภาคือความเสี่ยง เสี่ยงที่เขาอาจไม่ได้กลับมาเลย’ 

 

เก้าอี้ที่นั่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่างเปล่า หลัง สว. ลงชื่อเข้าร่วมประชุม แต่ไม่เข้าห้องประชุม ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถเปิดประชุมได้ ที่รัฐสภา
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566
ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ตัวร้ายภาค 2 จะกลับมาหรือไม่ 

 

สว. เดิมลงไม่ได้หมดแล้ว เพราะมีข้อจำกัดว่าต้องเว้นวรรค 2 ปี แต่ สว. ชุดใหม่ เชื่อว่าไม่ใช่ฐานลุงป้อม แต่จะมาเป็นฝ่ายสนับสนุน 

 

หลังจากเลือกตั้งแล้วเสร็จ สว. จะกลายเป็น 2 กลุ่มคือ สว. ที่สนับสนุนรัฐบาล และ สว. ที่เป็นอิสระ แล้วมีแนวโน้มว่า สว. ที่ไปสนับสนุนรัฐบาลจะมีมากกว่าครึ่ง แต่ สว. ไม่ได้มีบทบาทอะไรอยู่แล้ว จะมีก็แค่การหารือร่วมกันในบางเรื่อง

 

แม้จะไม่มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่การทำหน้าที่ของ สว. ที่ผ่านมา ทำให้ดูแย่ในสายตาประชาชน ซึ่ง สว. ใหม่จะกลับมาพลิกฟื้นภาพลักษณ์นี้ได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นตัวของตัวเอง โดยไม่พึ่งพาอาศัยใครเลย ตามเจตนาของคนร่างกฎหมาย ก็อาจจะทำให้ได้ สว. ที่ดี ซึ่งเราบอกไม่ได้ว่าจะได้ขนาดนั้นไหม

 

11 พฤษภาคม 2567 สว. ชุดปัจจุบันจะครบ 4 ปี แต่จะอยู่ต่อไปจนกว่า สว. ชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือนกว่า และจำนวน สว. ที่ลดลงเหลือ 200 คน จาก 250 คน ซึ่งมาจาก 20 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มอาชีพ ซึ่งต้องมาจากการเลือกไขว้กับกลุ่มอาชีพอื่น 

 

คำถามคือจ้างคนมาสมัครได้ไหม ตนอาจจะไปหาคนมาสมัครอีกสัก 10 คน โหวตให้ตัวเอง ซึ่งนี่คือการออกแบบที่เป็นปัญหา จะพยายามทำถึงขนาดวางแผนเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อให้ได้เข้าไปเป็น สว. เชื่อว่ามีโอกาสเกิดขึ้นแน่นอน แต่ก็มีต้นทุนของการใช้จ่ายที่เกิดขึ้น แม้ว่า กกต. จะบอกว่าห้ามซื้อเสียง กกต. จะบอกว่าห้ามใช้จ่ายฮั้วกัน ถ้าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็ผ่านเข้ามา

 

แต่เมื่อเข้าไปเป็น สว. แล้วกระบวนการในการที่จะถูกดึงไปให้อยู่ในมุ้งของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยการเสนอประโยชน์จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน อาจจะมีเดือนละ 200,000 บาท แต่ว่ากระบวนการแบบนี้คือกระบวนการที่เรียกว่าการจัดซื้อ หรือการเอาทุนคืน

 

เศรษฐา ทวีสิน เดินทางเข้าร่วมการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 1/2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

นายกฯ คนปืนลั่น

 

เศรษฐา ทวีสิน ในเชิงดีกรีความสามารถ ประสบการณ์ การบริหาร เหนือกว่า อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร เพราะผ่านการเป็นซีอีโอบริษัทใหญ่ ประสบความสำเร็จในการบริหารธุรกิจ ฉะนั้นจึงมีประสบการณ์สูงกว่า การที่เศรษฐาขึ้นมา คนไม่ได้ผิดหวัง และคิดว่าเพื่อไทยเลือกมาน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ที่ส่งมาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม และคิดว่าควรให้โอกาสเศรษฐาในการเป็นนายกรัฐมนตรี

 

แต่พอผ่านมา 3 เดือนกระสุนลั่นใส่ตัวเอง (ปืนลั่น / กระสุนลั่น หมายถึง คนที่ทำลายตัวเองหรือแผนการของตัวเอง เปรียบเหมือนคนพกปืนแล้วปล่อยให้ปืนลั่นใส่ขาตัวเอง)

เยอะมาก และไม่เป็นไปตามที่คิดไว้สักเท่าไร และโดยบุคลิกของท่านเอง ต่อหน้าคนอาจจะดูยิ้มแย้มแจ่มใส แต่เบื้องหลังดุดันพอสมควร จึงอาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนใกล้ชิด รวมถึง สส. เพื่อไทยเองด้วยซ้ำ 

 

ความจริงแล้วตั้งแต่ช่วงหาเสียง อุ๊งอิ๊งคะแนนดีกว่าเศรษฐามาแต่ไหนแต่ไร ตอนเลือกตั้งทุกคนคิดว่าเป็นอุ๊งอิ๊ง ไม่มีใครคิดว่าเป็นเศรษฐา พรรคเพื่อไทยขายอุ๊งอิ๊งมาตลอด และคะแนนอุ๊งอิ๊งก็นำมาตลอด ซึ่งห่างกับเศรษฐาและ ชัยเกษม นิติสิริ เยอะมาก และเหตุการณ์ที่ทำให้รู้จักเศรษฐาก็มีเพียงช่วงเดียว คือตอนประกาศนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งก็ไม่ทำให้เศรษฐามีคะแนนนิยมสูงขึ้น

 

เศรษฐา ทวีสิน แถลงรายละเอียดนโยบายและเงื่อนไขของผู้ที่จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
ที่ทำเนียบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
ภาพ: ฐานิส สุดโต 

 

ดิจิทัลวอลเล็ต ด่านหินของรัฐบาลเศรษฐา

 

“คิดว่าคงไม่ผ่านองค์กรอิสระ แม้กระทั่งคณะกรรมการกฤษฎีกาก็คงจะผ่านยาก ถ้ากฤษฎีกาเอาเข้าคณะชุดอาจารย์พนัส สิมะเสถียร คงจบ เพราะอาจารย์พนัสคงไม่อยากสร้างหนี้ให้ลูกหลาน การออกเป็น พ.ร.บ.กู้เงิน เป็นโจทย์ยาก ทางไกล ทางเสี่ยง” 

 

อดีต กกต. กล่าวว่า ไม่มีใครฟังตนที่บอกว่าให้ผลักเงินดังกล่าวเข้างบประมาณแผ่นดิน แล้วแยกเป็น 2 ปี คือปี 2567 จำนวน 2.5 แสนล้านบาท โดยไปปรับปรุงตัดนู่นตัดนี่ให้เหลือ 2.5 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2568 อีกจำนวน 2.5 แสนล้านบาท แจก 2 งวด งวดละ 5,000 บาท ห่างกันแค่ 5 เดือน เดือนพฤษภาคมที่จะถึงออกในส่วนของงบประมาณปี 2567 ส่วนเดือนตุลาคมออกในส่วนของปี 2568 แต่ในเมื่อจะไม่แบ่งเงิน โอกาสจะไปไกลมากสำหรับเรื่องนี้

 

ส่วนคณะกรรมการกฤษฎีกา ตนเชื่อว่าอาจตอบในเชิงมีหมายเหตุต่างๆ เช่น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ตัดสินใจต้องรับผิดชอบ ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจให้ความเห็นเชิงตักเตือนมา 

 

เหมือนในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร กรณีเดินหน้าจัดการเลือกตั้งที่มีการเตือนสารพัด ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็เตือน ผู้ตรวจการแผ่นดินก็เตือน กกต. ก็เตือน แต่ไม่เชื่อและเดินหน้าจัดการเลือกตั้งทำให้เกิดความเสียหาย (**การเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถจัดขึ้นพร้อมกันทั่วราชอาณาจักร โดยมีสาเหตุมาจากการคว่ำบาตรของประชาธิปัตย์และการปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งของ กปปส.)

 

อดีต กกต. บอกด้วยว่า ที่โครงการดิจิทัลวอลเล็ตผ่าน กกต. มาได้ เพราะในเงื่อนไขไม่ได้เขียนเหมือนกัน สิ่งที่เสนอ กกต. ที่มาของเงิน 4 อย่างคือ
1. เงินประมาณการรายได้ที่เพิ่มขึ้นในปี 2567 จำนวน 2.6 แสนล้าน
2. มูลค่าเพิ่มที่เกิดขึ้นจากโครงการ 1 แสนล้านบาท
3. ประหยัดงบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท 
4. การบริหารจัดการงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน จำนวน 90,000 ล้านบาท ซึ่ง กกต. จะไม่ได้สอบสวนเอง แต่จะเป็นพยานในขั้นตอนการสืบสวน

 

กฤดิทัช แสงธนโยธิน, เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ, วรเชษฐ เชิดชู, สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, สันติ พร้อมพัฒน์, ภูมิธรรม เวชยชัย, ชลน่าน ศรีแก้ว, ประเสริฐ จันทรรวงทอง, อนุทิน ชาญวีรกูล, วราวุธ ศิลปอาชา, ทวี สอดส่อง, เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส และ บัญชา เดชเจริญศิริกุล ร่วมแถลงจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและพรรคการเมืองรวม 11 พรรค ที่รัฐสภา 
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

บทบาทในอีก 4 ปี ข้างหน้า ใครจะเข้าชิง

 

ถ้าเกิดมีการเลือกตั้งใหม่ แต่ละพรรคการเมืองจะเป็นอย่างไร อดีต กกต. เรียงลำดับแต่ละพรรคให้เราฟังว่า 

 

พรรคเพื่อไทย/พรรคก้าวไกล – จะได้คะแนนเสียงจาก สส. เขตชนบท เหมือนเดิม และเชื่อว่าอิทธิพลของพรรคก้าวไกลในชนบทยังไม่ถึง พรรคเพื่อไทยยังได้เปรียบในส่วนนี้อยู่ แต่ในเขตเมืองจะไม่มีที่สำหรับพรรคเพื่อไทยอีก ฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งใหม่สัดส่วนที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะคงสัดส่วนเดิม แต่ขยายพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นและลดเพื่อไทยลงมาเล็กน้อย

 

พรรคประชาธิปัตย์ – ต้องเอาตัวรอดในตอนนี้ ไม่ทำให้ไม่แย่ไปกว่าเดิม แต่ทำให้ดีกว่าเดิมคงเป็นไปได้ยาก ตัวเลข 25 ที่นั่งก็ต้องรักษาเอาไว้ให้ได้ หรืออาจยอมน้อยกว่าเดิม แต่โอกาสของประชาธิปัตย์ในกรุงเทพฯ เป็นศูนย์แล้ว เพราะในการจัดอันดับ ประชาธิปัตย์เป็นพรรคอันดับ 4 อันดับ 5 ติดต่อกันมา 

 

ภาคใต้ก็เหมือนกัน กลายเป็นว่าพื้นที่ของพรรคประชาธิปัตย์โดนโจมตีเรียบแล้ว ฉะนั้นไม่ใช่เรื่องของการกินบุญเก่าได้มากมายนัก

 

พรรคภูมิใจไทย – เป็นพรรคเก็บตก อยู่กลางๆ ใครจะไปจะมาก็ดึงตัวกัน เพื่อให้พรรคตัวเองมีคะแนนเสียงมากขึ้น แต่ก็เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่ได้เสียงมากกว่านี้ หรืออาจได้น้อยลง คิดว่าทุกพรรคน่าจะได้คะแนนน้อยลงยกเว้นพรรคก้าวไกลที่จะได้เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยก็จะได้น้อยลง แต่พรรคก้าวไกลคงไม่ทำคะแนนจนสามารถแลนด์สไลด์ได้ 250 เสียง เชื่อว่าก็ยังจะต้องจับมือกับพรรคอื่นๆ เพื่อตั้งรัฐบาล ซึ่งต้องเลือกจับมือกับพรรคที่ไม่ทรยศ

 

มาจนถึง พรรค (2 ลุง) พลังประชารัฐ/รวมไทยสร้างชาติ – ไม่มีอะไรเหลือแล้ว เพราะจุดขายของพรรครวมไทยสร้างชาติคือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อไม่มี พล.อ. ประยุทธ์ ก็ไม่มีอะไรจะขาย จุดขายของพรรคพลังประชารัฐก็คงไม่ใช่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็คงต้องหาวิธีการขายอย่างอื่น หรือไปรวมตัวกับพรรคอื่น เพื่อให้เกิดความสามารถที่จะไปโน้มน้าวจูงใจคน ซึ่งอนาคตอาจกลับมาจับมือกันเพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566
ภาพ: THE STANDARD

 

ผู้ชม (ประชาชน) ไม่ปลื้มผลงาน

 

เหนือสิ่งอื่นใดคือปัจจุบัน รัฐบาลทำหน้าที่ดูแลประชาชนตามที่สัญญาได้ดีพอหรือไม่ นโยบายที่กล่าวมาตลอดการหาเสียง กระทั่งเข้าสู่การเป็นรัฐบาลแล้วมีอะไรที่เป็นที่น่าพอใจบ้าง 

 

สมชัยระบุว่า พรรคเพื่อไทย รวมถึงคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ไม่ได้แสดงถึงความกระตือรือร้นหรือความคืบหน้าในการแก้ไขใดๆ เลย 

 

เงิน 10,000 บาท แจกไม่ได้ แต่คนจะรอเดือนพฤษภาคม 2567 เพราะหากพูดมากไปอาจไม่ได้ 10,000 บาท จึงต้องรักษาเขาไว้ก่อน แต่พอถึงเวลา เดือนพฤษภาคมก็ไม่ได้อีก ความรู้สึกไม่พอใจได้เกิดขึ้นแล้ว 

 

นโยบายลดราคาพลังงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ก็อั้นได้แค่นี้ พอถึงเดือนมกราคมปีหน้าก็ขึ้นแล้ว และขึ้นเยอะกว่าเดิม ค่ารถไฟ 20 บาทก็อั้นได้ไม่นาน เพราะขาดทุนวันละ 7 ล้านบาท 

 

การพักหนี้เกษตรกรก็เพียงแค่ปีเดียว เงินชาวนาที่ให้ไร่ละ 1,000 บาท ก็เป็นอานิสงส์ของเก่า เนื่องจากปีที่แล้วมีการตั้งงบประมาณให้กรมการข้าว 1.5 หมื่นล้านบาท ก็ไปเอาของเขาคืนโดยไม่ให้กรมการข้าวใช้ 

 

ทุกอย่างเป็นการสร้างความพอใจระยะสั้น แล้วระยะยาวจะประชาชนจะแบกรับสิ่งเหล่านี้อย่างไรเมื่อไม่มีนโยบายมารองรับ

 

“ประชาชนจะรอคอยด้วยความอดทน เมื่อยังไม่มีอะไรคืบหน้า การรอคอยของประชาชนน่าจะจบสิ้น ความอดทนก็น่าจะหมด”

 

ส่วนมวลความไม่พอใจ เมื่อไหลมาตกตะกอนรวมกัน จะก่อให้เกิดกลุ่มคนที่ต่อต้านหรือไม่นั้น อดีต กกต. ฟันธงเลยว่าจะได้ผลมาก เมื่อถึงเวลาในจังหวะที่คนไม่พอใจในเรื่องเศรษฐกิจ โดยมีกลุ่มคนที่เป็นแกนนำในทางการเมือง

 

ชลน่าน ศรีแก้ว, แพทองธาร ชินวัตร, เศรษฐา ทวีสิน และ ชัยเกษม นิติสิริ ร่วมงานรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 
ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

หากเป็นแบบนั้นจริง รัฐบาลเศรษฐาจะอยู่ครบจนจบเทอมไม่เปลี่ยนหัวกลางคันใช่หรือไม่ อดีต กกต. ยังคงอุบเงียบ ก่อนจะแย้มตอบเป็นนัยๆ ว่า ไม่ครบ 3 เดือนยังช้ำขนาดนี้ ในแง่ของการที่จะเดินต่ออาจไม่ง่ายเท่าไร และการชูแพทองธารเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก็ดูเหมือนพร้อมที่จะเปลี่ยนตัวผู้นำตลอดเวลา 

 

“เอาเศรษฐามาทำให้ช้ำก่อน แม้จะขยันแต่ชอบทำปืนลั่น”

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising