×

10 ภาพข่าวสุดไวรัลแห่งปี 2566 ผ่านชัตเตอร์ช่างภาพ THE STANDARD

25.12.2023
  • LOADING...

ทรงอย่างแบด

 

23 มกราคม 2566: ฮาย นักร้องนำวง Paper Planes ศิลปินร็อกขวัญใจวัยรุ่นฟันน้ำนม ยกมือทำสัญลักษณ์ I LOVE YOU ในการแสดงเพลงสุดฮิต ทรงอย่างแบด ที่เวทีกลาง เทศกาลตรุษจีนเยาวราช ถนนเยาวราช กรุงเทพมหานคร สำหรับกิจกรรมนี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อตอกย้ำความสัมพันธ์อันดี และแสดงออกถึงการยินดีให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนในโอกาสที่ประเทศจีนผ่อนคลายมาตรการให้ชาวจีนเดินทางกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต / https://thestandard.co/paper-planes-yaowarat/

 


 

 

13 เมษายน 2566: เอิ้ก ชาลิสา และ กะทิ กะทิยา ยูทูเบอร์ชื่อดัง ร่วมงานสงกรานต์ประจำปี 2566 ‘สงกรานต์สยาม ผ้าขาวม้าปล่อยจอย’ ที่สยามสแควร์ และนับเป็นครั้งแรกของการกลับมาจัดงานสงกรานต์ที่สยามสแควร์ หลังจากงดจัดงานไปนานกว่า 3 ปี เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด บรรยากาศเต็มไปด้วยความสุข สนุกสนานใจกลางสยาม ที่หนาแน่นไปด้วยมหาชนทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่มาดับร้อนท่ามกลางอุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส ด้วยอาวุธครบมือทั้งปืนฉีดน้ำและแว่นกันน้ำ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / https://thestandard.co/siam-square-songkran-2023/

 


 

 

23 เมษายน 2566: ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดนครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ช่วยพยุง พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ก่อนการขึ้นปราศรัยที่ลานตลาดเซฟวัน จังหวัดนครราชสีมา โดย พล.อ. ประวิตร กล่าวว่า ตนพูดไม่เก่ง แต่ทำงานประสานประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายได้ นำพาคนเก่งมาร่วมมือกันก้าวข้ามความขัดแย้ง ผู้สมัคร สส. จังหวัดนครราชสีมาของพรรคพลังประชารัฐที่ยืนอยู่ตรงนี้จะรับใช้ประชาชนอย่างจริงจัง ตนขอประกาศว่าพวกเราทำได้ พร้อมแล้วที่จะรับใช้ประชาชน ขอฝากชาวอีสานทุกคนด้วย 

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / https://thestandard.co/prawit-korat-rally/

 


 

 

3 พฤษภาคม 2566: ตู้ล็อกเกอร์มีการล็อกกุญแจและปิดเทปผนึกไว้ พร้อมเจ้าหน้าที่เขตและตำรวจเซ็นกำกับภายในห้องที่จัดเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดมีกล้องวงจรปิดคอยจับภาพ เพื่อรักษาความปลอดภัย โดยระบบเป็นแบบออนไลน์ เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบและบันทึกภาพได้แบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงมีเจ้าหน้าที่เฝ้าบริเวณทางเข้า-ออก เป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เป็นการทั่วไปล่วงหน้าที่สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต / https://thestandard.co/pre-election-check/

 


 

 

7 พฤษภาคม 2566: ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตใส่เสื้อยืดลายบิกินีที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง โดยมีประชาชนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าทยอยเดินทางมาต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่สถานที่จัดให้ลงคะแนนอยู่ภายในอาคารและมีขนาดใหญ่ จึงยังไม่พบปัญหาการแออัดของผู้ที่เดินทางมาหรือสภาพอากาศร้อน ภาพรวมยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ในจุดนี้มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ 25,383 คน

 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา / https://thestandard.co/advance-election-2566-thai-jap-din-daeng/

 


 

 

7 พฤษภาคม 2566: ช่างภาพข่าว THE STANDARD ที่ลงพื้นที่ติดตามมาตั้งแต่ช่วงเช้าเปิดหีบเลือกตั้ง รายงานว่า ภายหลังการจัดเก็บอุปกรณ์ เจ้าหน้าที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ตรวจสอบถุงผ้าที่บรรจุบัตรลงคะแนนโดยละเอียดก่อนการเคลื่อนย้าย ซึ่งทุกใบจะต้องมีรหัสประจำถุงและสายรัดประจำถุงที่ตรงกัน และแต่ละถุงจะมีบัตรลงคะแนนไม่เกิน 1,000 ชุด ภายหลังที่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งปิดรับลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าตามเวลาที่กำหนด พร้อมเก็บอุปกรณ์และคัดแยกบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง เพื่อส่งมอบให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดำเนินการต่อ ที่หน่วยเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร /https://thestandard.co/advance-election-070566-2/

 


 

 

15 พฤษภาคม 2566: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวที่พรรคก้าวไกล หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ สรุปว่าพรรคก้าวไกลได้จำนวน สส. เป็นอันดับ 1 เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพี่น้องประชาชนได้แสดงเจตจำนงผ่านคูหาเลือกตั้งให้พรรคก้าวไกลได้คะแนนเป็นอันดับ 1 จึงขอประกาศว่าพรรคก้าวไกลพร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล น้อมรับฉันทมติของพี่น้องประชาชน พลิกขั้วเปลี่ยนข้างจากฝ่ายค้านเดิมในการจัดตั้งรัฐบาล

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / https://thestandard.co/pita-ready-to-form-government/

 


 

 

15 พฤษภาคม 2566: รังสิมันต์ โรม ลงมาจากการประชุมพรรค ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล เพื่อห้ามปรามชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ และสันธนะ ประยูรรัตน์ ไม่ให้ทะเลาะกัน ภายหลังจากที่ชูวิทย์ยื่นเรื่องเพื่อขอให้ทางพรรคพิจารณาถอดสันธนะออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เนื่องจากกังวลว่าพรรคจะถูกมองว่ามีมาเฟียคุม เพราะพฤติกรรมของลูกน้องสันธนะที่ใส่เสื้อมีโลโก้พรรคก้าวไกล จากนั้นชูวิทย์เดินทางกลับออกไปประมาณไม่ถึง 10 นาที สันธนะกลับเข้ามาที่พรรค เมื่อชูวิทย์ทราบก็รีบเดินทางกลับมาที่พรรคทันที พบว่าสันธนะยืนรออยู่ พร้อมระบุว่า มาได้ ตรงกลางถนนเลย ไม่อยากรบกวนสถานที่ของพรรค หลังจากนั้นจึงเกิดเหตุวุ่นวายขึ้นทันที โดยทั้งสองฝ่ายสลับกันตะโกนด่าทอตอบโต้กันไปมา จนตำรวจต้องเข้ามาห้ามเหตุ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / https://thestandard.co/chuwit-vs-santhana-at-move-forward-party-building/

 


 

 

17 พฤษภาคม 2566: แกนนำ 6 พรรคการเมืองกินข้าวร่วมกันโดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความชื่นมื่น ก่อนทยอยออกมาจากร้านเพื่อเดินทางกลับหลังพูดคุยจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล ซึ่งรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 310 เสียง ที่ร้านอาหารบริเวณถนนสุโขทัย ก่อนที่จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการในวันถัดมา

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / https://thestandard.co/6-parties-dinner-17052566-2/

 


 

 

11 กรกฎาคม 2566: ไอซ์-รักชนก ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล แสดงอาการออกทางหน้าตาระหว่างการประชุมร่วมกันของรัฐสภาที่มี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้มี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเพียงผู้เดียว โดยไม่มีสมาชิกพรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อแคนดิเดตขึ้นมาแข่ง

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร / https://thestandard.co/30th-prime-minister-vote-13072023-15/

 


NOW AND NEXT 2024

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising