ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานว่า ‘เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2563 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเกือบเป็นปกติในหลายภาคส่วน’ และระบุว่า ดัชนีการบริโภคภาคเอกชนกลับมาทรงตัวเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนที่ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน รายงานฉบับนี้น่าจะส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวได้ดี คนกำลังกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ยอดขายตามร้านค้าน่าจะกำลังกลับเข้ามาใกล้เคียงกับปีก่อน เศรษฐกิจไทยเป็นเช่นนั้นจริงๆ หรือไม่ ผมอยากชวนผู้อ่านเดินตะลุยซอกแซกสอบถามคนค้าขายกันดูครับ
ในช่วงปลายไตรมาส 3 เข้าไตรมาส 4 เราอาจเห็นการกลับมาใช้จ่ายของคนมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดยาว คนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้กรุงเทพฯ เช่น พัทยา บางแสน ระยอง หัวหิน หรือ ชะอำ แต่ในกลุ่มที่เน้นนักท่องเที่ยวจากต่างชาติและมีระยะทางไกล เช่น เชียงใหม่และภูเก็ต อาจยังไม่คึกคักมากนัก แล้วนอกช่วงวันหยุดยาวกรุงเทพฯ เป็นอย่างไร
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ‘หุ้นไทย’ การฟื้นตัวยังเปราะบาง กังวลเศรษฐกิจชะลอตัวและโควิดกลับมาแพร่ระบาดในเอเชีย
- ประเทศไทยจะรับมืออย่างไร เมื่อ ‘อัตราการเกิดต่ำ’ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจและสังคม
- วิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างไร
ผมมีโอกาสเดินสำรวจตามพื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ และเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นจากช่วงกลางปี แต่ยังไม่แน่ใจว่าการใช้จ่ายกลับไปเป็นปกติได้เทียบปีก่อน โดยเฉพาะเมื่อเราไม่มีแรงสนับสนุนจากนักท่องเที่ยว โดยที่รายได้จากการท่องเที่ยวมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ของขนาดเศรษฐกิจไทย เมื่อรายได้ตรงนี้หายไปหมด คนไทยทั่วไปยิ่งระมัดระวังการใช้จ่าย รวมทั้งกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่แม้ยังมีงานทำ เงินเดือนยังไม่ถูกตัด แต่ไม่มั่นใจถึงความมั่นคงว่าจะถูกเลิกจ้างในอนาคตหรือไม่
อยากชวนให้ลองไปตามศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้าช่วงพักกลางวัน ถ้าไม่ใช่เป็นห้างที่เน้นนักท่องเที่ยว ผมเห็นว่าเริ่มมีคนมามากขึ้น แต่ยังไม่นับว่าแน่นเหมือนปีก่อน ส่วนห้างที่เน้นต่างชาติ ผมห่วงว่าเริ่มเห็นการทยอยปิดร้าน เพราะยอดขายอาจยังไม่เพิ่มมากพอจะชดเชยค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แล้วนอกจากศูนย์อาหารแล้ว ผมก็ไม่แน่ใจว่ามนุษย์เงินเดือนหรือพนักงานบริษัทเขาซื้อของใช้กันบ้างหรือไม่ ซึ่งอาจทำให้ยอดการค้าปลีกอาจยังไม่ขยับขึ้นมามากนัก
การเปลี่ยนแปลงของการทำงานก็มีผลต่อการใช้จ่าย เมื่อเรายังต้องรักษาระยะห่างทางสังคม จำกัดจำนวนผู้โดยสารในอาคารและระบบขนส่งมวลชน ที่ทำงานหลายแห่งสนับสนุนให้พนักงานเลือกทำงานที่บ้านได้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อระบบไอทีมีความพร้อมมากขึ้น การสื่อสาร การประชุมสามารถทำได้ใกล้เคียงกับการเจอตัวกัน เราจึงเห็นจำนวนคนที่เข้าทำงานกันลดลง ต่อให้คนที่เข้าทำงานใช้จ่ายซื้อสินค้า ซื้ออาหาร ดื่มกาแฟกันเท่าเดิม แต่เมื่อจำนวนคนลดลงได้ราวร้อยละ 30 มูลค่ารวมของการใช้จ่ายก็ลดลงได้
ส่วนคนที่ทำงานที่บ้านก็อาจไม่ได้มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเหมือนตอนที่ทำงานในบริษัท อาจไม่ได้ดื่มกาแฟนอกบ้าน ไม่ได้ทานขนม หรือไม่ได้เดินเล่นซื้อของในช่วงพักกลางวัน อาจใช้การสั่งซื้ออาหารให้มาส่งที่บ้านหรือซื้อสินค้าออนไลน์แทน ซึ่งหากร้านค้าใดไม่ได้มีบริการส่งสินค้าหรือเข้าร่วมกับเครือข่ายส่งอาหารตามบ้าน ก็อาจไม่ได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคตรงนี้มากนัก จากที่ผมลองถามร้านอาหารหรือร้านกาแฟตามห้างดู เขาก็บอกว่าดีขึ้นกว่าช่วงปิดเมืองในช่วงไตรมาส 2 แต่ยังไม่ดีเท่าปีก่อน
แล้วการใช้จ่ายอะไรที่เกือบเป็นปกติ เมื่อร้านค้าต่างบอกว่าขายของได้น้อยลง คนมาร้านอาหารลดลง ยอดขายกาแฟยังไม่เท่าเดิม มีสินค้าอะไรที่พอจะเป็นปกติบ้าง ข้อนี้ผมยังไม่แน่ใจ เพราะถ้าคิดว่าคนยังต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ ยังต้องอาบน้ำ แปรงฟัน ซักผ้า ของใช้จำเป็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตอาจยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่คนอาจเปลี่ยนพฤติกรรม คือแทนที่จะทานข้าวนอกบ้าน ก็หันมาซื้อวัตถุดิบทำอาหารทานเองที่บ้าน หรืออาจเริ่มมีการเตรียมอาหารกล่องมาทานเป็นมือกลางวันที่ทำงานเพื่อลดรายจ่าย หรือเราอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้จ่ายจากที่คนอาจลดการเดินทาง อยู่บ้านมากขึ้น อยากได้เฟอร์นิเจอร์หรือของใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำงานที่บ้านมากขึ้น
คนค้าขายปรับตัวอย่างไร จากที่ลองสอบถามร้านค้าที่ขายอาหารได้น้อยลง โดยบางร้านที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวอาจมียอดขายลดลงไปเกือบครึ่งจากช่วงต้นปี สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาคือความอดทนและคำว่าสู้ของคน ส่วนมากไม่ท้อถอย และต่างฝ่ายต่างช่วยเหลือกัน หากยอดขายไม่ดี รายได้หาย ก็ลดรายจ่าย เริ่มจากการขอลดค่าเช่าที่ ลดปริมาณอาหารหรือการสั่งซื้อของ ร้านค้าที่มีพนักงานก็ยังจ่ายเงินเดือนพนักงาน แม้อาจลดลงบ้าง แต่ก็ยังมีงานให้ทำ
ธุรกิจขนาดกลางที่ได้รับผลกระทบก็ปรับตัว หันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดต้นทุนด้านแรงงาน โดยเฉพาะช่วงที่ขาดแรงงานต่างชาติ ซึ่งคนค้าขายคงต้องอดทนรออีกระยะหนึ่งหรือจนกว่าจะมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเสริมรายได้ให้เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ ส่วนกำลังซื้อของแรงงานยังอ่อนแอ เพราะกำลังการผลิตของโรงงานยังต่ำ ต่อเนื่องจากยอดการส่งออกที่ยังหดตัว แต่แรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป สินค้าเกษตร และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อาจฟื้นตัวได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น หลังตัวเลขการส่งออกในกลุ่มนี้เริ่มฟื้นตัว
เศรษฐกิจไทยจะใกล้เคียงภาวะปกติเมื่อไร ใจจริงผมอยากเตือนว่าเราอาจไม่กลับไปเป็นปกติก็ได้ โควิด-19 มีส่วนทำร้ายเศรษฐกิจในระยะสั้น ให้รายได้ท่องเที่ยวหาย กำลังซื้อต่างประเทศลดลง ทำให้การส่งออกหดตัว การจ้างงานของไทยจึงมีปัญหา แต่โควิด-19 ก็มีผลระยะยาวกับเศรษฐกิจ นั่นคือการเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น การทำงานที่บ้านหรือการประชุมออนไลน์อาจยังมีต่อไป การใช้เครื่องจักรทดแทนคนงานจะยังมีต่อเนื่อง ซึ่งจะตอกย้ำว่าการพัฒนาทักษะในงานใหม่ๆ มีความจำเป็นมาก
สุดท้ายเราอาจใช้เวลาเกือบ 3 ปีกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะกลับไปอยู่ที่เดิมก่อนมีโควิด-19 หรือที่ราว 16.9 ล้านล้านบาท ส่วนกลุ่มธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยวอื่นๆ คงต้องอดใจรอเช่นกัน เพราะยังยากที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาที่ 40 ล้านคนต่อปีได้ในเวลาอันสั้นนี้ สิ่งสำคัญคือเราต้องประคองตัวเองให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปให้ได้ สิ่งที่ผมเรียนรู้จากผู้ประกอบการที่ไปแวะพูดคุยด้วยคือ เขาตุนสภาพคล่องไว้ เพราะอย่างน้อยธุรกิจยังสามารถอยู่รอดได้ มีกระแสเงินสดหมุนเวียนได้อยู่ ไม่ล้มหายไปก่อนครับ
ติดตามข่าวสารศรษฐกิจ ธุรกิจ การเงิน และการลงทุน เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: THE STANDARD WEALTH และ YouTube: THE STANDARD
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า