×

ประเทศไทยจะรับมืออย่างไร เมื่อ ‘อัตราการเกิดต่ำ’ กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหายนะครั้งใหญ่ของเศรษฐกิจและสังคม

โดย THE STANDARD TEAM
15.03.2022
  • LOADING...
low birth rates

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุ ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ปี 2564 เพียง 544,570 คน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นสวนทาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คาดการณ์ว่า ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 69 ล้านคนในปี 2593 และเหลือ 47 ล้านคนในปี 2643 
  • หลายปัจจัยส่งผลให้วิกฤตส่อเค้ารุนแรง ทั้งอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงรวดเร็ว ทัศนคติการมีครอบครัวและมีบุตรที่เปลี่ยนไป ภาวะมีบุตรยาก และความหลากหลายทางเพศที่เปิดกว้าง 
  • กรมอนามัยเตรียมตั้งรับจัดทำมาตรการและนโยบายมากว่า 20 ปี หนึ่งในนั้นคือ นโยบายและยุทธศาสตร์ การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตของประชากรอย่างมีคุณภาพ 

ปัญหาประชากรศาสตร์จ่อคิวเป็นปัญหาระดับโลก เมื่อ ‘อัตราการเกิดต่ำ’ กลายความเสี่ยงครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและปัญหาสังคม 

 

ปี 2543-2563 อัตราการเกิดทั่วโลกลดลงถึง 21% หากเป็นเช่นนี้ต่อไปคาดการณ์ว่าภายในสิ้นศตวรรษ มีอย่างน้อย 23 ประเทศที่ประชากรจะลดลงกว่าครึ่ง รวมถึงประเทศไทย เพราะหากเทียบข้อมูลจากสำนักงานสถิติในประเทศต่างๆ การคาดการณ์ที่ว่านั้นไม่เกินจริงเลย เมื่อเกาหลีใต้เองก็เพิ่งเผยว่าปี 2564 อัตราการเกิดอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ฝั่งประเทศจีนปี 2564 อัตราการเกิดลดลงมาอยู่ที่ 7.52 ต่อประชากร 1,000 คน ถือว่าต่ำสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน    

 

low birth rates

 

ประเทศไทยก็วิกฤตไม่แพ้กัน สำนักงานสถิติแห่งชาติระบุ ตัวเลขเด็กเกิดใหม่ปี 2564 เพียง 544,570 คน ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นสวนทาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์คาดการณ์ว่า ประชากรไทยจะลดลงเหลือ 69 ล้านคนในปี 2593 และเหลือ 47 ล้านคนในปี 2643 

 

หากเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจเกิดวิกฤตขาดแคลนแรงงานในอนาคต และส่งผลต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาวได้ ในหลายประเทศมีการวางแผนรับมือมาสักระยะแล้ว อย่างที่ญี่ปุ่น ออกมาตรการจ่ายเงินให้กับคู่รักที่ต้องการมีลูกในเมืองหลวง 100,000 เยน (28,000 บาท) ต่อลูก 1 คน และในท้องถิ่นบางเมืองมอบเงิน 1 ล้านเยน (200,000 บาท) ให้ครอบครัวที่มีลูกคนที่ 4 

 

ด้านสิงคโปร์ กระทรวงพัฒนาสังคมและครอบครัวกระตุ้นการสร้างครอบครัวด้วยการให้เงินช่วยเหลือเด็กแรกเกิดแบบจ่ายครั้งเดียว 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (72,000 บาท) ให้กับเด็กที่เกิดช่วง 1 ตุลาคม 2563 – 30 กันยายน 2565 ในขณะที่เกาหลีใต้แจกเงินเด็กแรกเกิด 1 ขวบ 300,000 วอน (8,000 บาท) ทุกเดือน และผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้รับเงิน 1 ล้านวอน (30,000 บาท) และค่าใช้จ่ายเตรียมคลอดอีกครอบครัวละ 2 ล้านวอน (60,000 บาท) ทางด้านสหราชอาณาจักรเปิดรับคนต่างชาติเข้ามาอยู่ในประเทศเพื่อเพิ่มจำนวนประชากร

 

แล้วประเทศไทยมีนโยบายและแผนรับมือกับวิกฤตอัตราการเกิดต่ำอย่างไร นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เผยว่า จากการคาดการณ์ความรุนแรงของปัญหาในขณะนี้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มประชากรลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2643

 

low birth rates

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย


“หากเทียบระดับความรุนแรงในขณะนี้อาจเห็นได้ไม่ชัดนัก แต่อีก 20 ปีข้างหน้า ถ้าอัตราการเกิดยังลดลงต่อเนื่องจะเริ่มเห็นผลกระทบที่ชัดเจน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคม เพราะผู้จ่ายภาษีลดลง งบประมาณในการพัฒนาประเทศและเงินอุดหนุนให้กับกองทุนต่างๆ อาจไม่เพียงพอ ประกอบกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น การให้สวัสดิการกับผู้สูงอายุหรือแม้แต่เด็กแรกเกิดอาจได้รับผลกระทบ” 

 

นพ.สุวรรณชัย เล่าย้อนกลับไปในช่วงปี 2506-2526 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่มากกว่า 1 ล้านคนต่อปี เนื่องจากโครงสร้างสังคมทำให้หลายครอบครัวมีบุตรเพื่อเป็นแรงงานในครอบครัว ปี 2513 รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายด้านประชากร มุ่งเน้นเรื่องการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด ส่งเสริมให้ครอบครัวหนึ่งมีบุตร 2 คน และได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้หลังจากปี 2526 เป็นต้นมา อัตราการเกิดต่ำกว่า 1 ล้านคน จนกระทั่งปี 2553 อัตราเด็กเกิดใหม่อยู่ที่ 850,000 คนต่อปี ก็เริ่มเห็นผลกระทบกับภาคเศรษฐกิจและสังคมชัดขึ้น 

 

“อีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเกิดต่ำในปัจจุบันคือเรื่องของอัตราการเจริญพันธุ์ วิธีดูคือ ให้ดูจำนวนบุตรที่เกิดโดยเฉลี่ยตลอดช่วงอายุของผู้หญิง ค่าที่เหมาะสมคือ 2 หมายความว่า ชาย-หญิงแต่งงานกันควรจะมีลูกเพื่อทดแทนอยู่ที่ 2 คน ซึ่งเราพบว่าตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์ในประเทศไทยลดลงรวดเร็วควบคู่มากับอัตราการเกิดต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาหลายประเทศ ตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์ลดลงช้ากว่าประเทศไทย” 

 

คาดการณ์ภายในปี 2643 จะมีมากถึง 95 ประเทศทั่วโลกที่จำนวนประชากรลดลง และส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งในทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า “ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำที่สุด รองจากเกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเก๊า และญี่ปุ่น”   

 

low birth rates

 

ปัจจัยที่ทำให้ ‘อัตราการเกิดต่ำ’

การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่ออัตราการเกิดต่ำหรือไม่ ประเด็นดังกล่าว นพ.สุวรรณชัย ให้ความเห็นว่า “การคาดการณ์ทั้งหมดนั้นเป็นการทำแบบจำลองก่อนสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ตามการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ในช่วง 2 ปีนี้ อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เร่งปัญหานี้ให้เกิดเร็วขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจทำให้หลายครอบครัวขาดรายได้หรือรายได้ลดลง ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจมีบุตร เนื่องจากเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและไม่มั่นใจว่าจะสามารถดูแลเด็กที่เกิดมาได้อย่างมีคุณภาพ” 

 

ปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขภาพรวมทั่วโลกถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเกิดโรคระบาดกับอัตราการเกิดต่ำ แต่หากดูเฉพาะตัวเลขสถิติของประเทศไทยในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 นั้น พบอัตราการเกิดลดลงคงที่ คือ ลดลงปีละเฉลี่ย 40,000 คนต่อปี อาจกล่าวได้ว่าการระบาดของโรคไม่ใช่ตัวแปรสำคัญนัก 

 

ส่วนสาเหตุแท้จริงที่ทำให้ ‘อัตราการเกิดต่ำ’ ตามการวิเคราะห์ของ The Economist Intelligence Unit พบ 4 กลุ่มปัจจัย ได้แก่ นโยบายประชากร, การขยายตัวของเมืองและการพัฒนา, การมีส่วนร่วมของแรงงานเพศหญิง และการเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรม แต่สำหรับประเทศไทย นพ.สุวรรณชัย อธิบายว่า “ปัญหาดังกล่าวเกิดจากหลายสาเหตุ สำนักอนามัยเจริญพันธุ์ ได้มีการวิเคราะห์ปัจจัยหรือสถานการณ์ที่มีผลต่อภาวะการเจริญพันธุ์ต่ำในประเทศไทย ปัจจัยแรกคือ ผลต่อเนื่องจากนโยบายวางแผนครอบครัวที่ดำเนินการมาต่อเนื่องกว่า 40 ปี ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพียงแต่สังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงรวดเร็ว

 

low birth rates

 

“ปัจจัยต่อมาคือ จำนวนหญิงวัยเจริญพันธุ์ลดลง ตัวเลขปี 2555 หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 15-49 ปี มีจำนวน 18,000,000 คน แต่ปี 2563 ลดลงเหลือประมาณ 16,500,000 คน ประเด็นต่อมาคือ หญิงไทยแต่งงานลดลง ด้วยทัศนคติที่เปลี่ยนไป มุมมองต่อความสมบูรณ์ในชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับการแต่งงานมีบุตรเท่านั้น ที่สำคัญผู้หญิงมีบทบาททางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น มีการศึกษาและหน้าที่การงานที่ดี มองว่าหากคู่ครองไม่ดี การอยู่เป็นโสดเป็นทางเลือกที่ดีกว่า รวมถึงรูปแบบของชีวิตคู่ที่หลากหลายมากขึ้น สังคมเปิดกว้างเรื่องการครองคู่ระหว่างเพศเดียวกัน

 

“แนวคิดเกี่ยวกับการมีบุตรก็เป็นปัจจัยสำคัญในสังคมปัจจุบัน คู่แต่งงานต้องการมีบุตรลดลง หลายคู่มองว่าการมีลูกมีผลกระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิต หน้าที่การงาน รวมทั้งภาระเพิ่มขึ้น หลายคู่ต้องวางแผนระยะยาวก่อนว่าหากมีแล้วจะเลี้ยงอย่างไร ส่งเข้าเรียนที่ไหน และรอจนกว่าจะพร้อมจริงๆ ทำให้ระยะเวลาการมีลูกยืดออกไปจนกระทั่งผู้หญิงประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากเนื่องจากอายุที่มากขึ้น หรือในคู่แต่งงานที่พร้อมแต่ประสบปัญหามีบุตรยากหรือไม่สามารถมีบุตรได้ ก็ส่งผลต่อภาพรวมของอัตราการเกิดต่ำทั้งสิ้น”

 

ผลกระทบจากอัตราการเกิดต่ำในระยะยาว

เมื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอัตราการเกิดที่ลดลง นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า โครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนไป สัดส่วนของประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานจะลดลง ในขณะที่สัดส่วนของประชากรวัยสูงอายุจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้อัตราส่วนพึ่งพิงวัยสูงอายุต่อวัยแรงงานเพิ่มขึ้น

 

“เมื่อประชากรวัยแรงงานลดลง ผลกระทบที่ตามมาคือ การขาดแคลนแรงงาน ผลิตผลของประเทศลดลง รายได้จากการจัดเก็บภาษีลดลง ผลกระทบต่อมาคือ โครงสร้างครอบครัวของสังคมไทยจะเปลี่ยนไป ครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวไร้บุตรหลานมากขึ้น ทำให้ผู้สูงอายุในอนาคตต้องพึ่งพาตัวเอง สัดส่วนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นยังเพิ่มภาระทางงบประมาณในการดูแลทั้งทางสุขภาพและทางสวัสดิการสังคมต่างๆ เนื่องจากรัฐต้องแบกรับค่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นทุกปี นอกจากนี้การที่ผู้สูงอายุขาดคนดูแล อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตในระยะยาวด้วย” 


มาตรการและแผนรับมือของกรมอนามัย

จากสาเหตุและผลกระทบที่จะตามมา ‘กรมอนามัย’ เตรียมแผนรับมืออย่างไรนั้น นพ.สุวรรณชัย บอกว่า การแก้ปัญหาเด็กเกิดน้อยคงไม่มุ่งเน้นเฉพาะการเพิ่มจำนวนการเกิด แต่ต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการเกิดด้วย 

 

low birth rates

 

“การเพิ่มจำนวนการเกิดนั้นต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ต้องทำ อย่างน้อยต้องชะลอไม่ให้อัตราการเกิดลดลง และพยายามขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เพื่อจูงใจให้มีครอบครัวและมีลูก ที่ต้องทำควบคู่กันคือ ให้ความสำคัญกับคุณภาพการเกิดให้มากที่สุด ปัจจุบันกรมอนามัยดำเนินการผ่านนโยบายด้านสุขภาพตั้งแต่ก่อนแต่งงานมีการให้คำปรึกษา จนกระทั่งมีคู่ ตั้งครรภ์ก็ต้องรีบฝากครรภ์ให้เร็วที่สุดและดูแลตามมาตรฐานที่กำหนด ไปจนถึงระหว่างคลอดก็ต้องทำให้เด็กสมบูรณ์มากที่สุด ซึ่งจะต้องดูแลตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์” 

 

ตัวอย่างมาตรการหลักในการสนับสนุนครอบครัวที่ต้องการมีบุตร 

 

  • ผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวที่มีเด็ก อายุ 0-5 ปี
  • ส่งเสริมการจัดตั้งสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยอายุต่ำกว่า 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก่อนวัยเรียนในเวลากลางวัน ที่พ่อแม่จะต้องออกไปทางานประกอบอาชีพ
  • ช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาภาวะมีบุตรยากให้เข้าถึงการรักษาในอายุที่น้อยลง เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีลูกมากขึ้น
  • ส่งเสริมการเข้าถึงบริการ การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ การฝากครรภ์และการดูแลในช่วงคลอด เช่น การตรวจสุขภาพชาย-หญิง ก่อนการตั้งครรภ์ การให้วิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก เพื่อลดภาวะซีดและป้องกันความพิการแต่กำเนิด การตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียและดาวน์ซินโดรมในหญิงตั้งครรภ์ เพื่อให้การเกิดทุกรายมีคุณภาพ และเด็กที่เกิดมาทุกรายมีสุขภาพแข็งแรงพร้อมที่จะเติบโตและมีพัฒนาการสมวัยต่อไป

 

ข้อมูลจากโครงการการเจริญพันธุ์และสุขภาวะยังพบว่า คู่แต่งงานจำนวนมากมองว่าการมีลูกส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าและความมั่นคงในหน้าที่การงาน กว่า 39% ผู้หญิงต้องออกจากงานเพื่อดูแลลูก ดังนั้นมาตรการสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนประเด็นนี้คือ 

 

  • การยืดหยุ่นเวลาทำงาน การใช้นโยบาย Work from Home กับครอบครัวที่มีบุตร เพื่อให้พ่อและแม่บริหารจัดการเวลาในการเลี้ยงดูบุตรโดยไม่กระทบกับความมั่นคงของรายได้และความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน
  • ลดหย่อนภาษีสำหรับเลี้ยงดูบุตรเพิ่มขึ้น ปัจจุบันค่าลดหย่อนบุตรเป็นค่าลดหย่อนแบบเหมาสำหรับคนที่มีลูก สามารถลดหย่อนลูกได้คนละ 30,000 บาทต่อปี แต่ถ้ามีลูกตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายที่เกิดในปี 2561 หรือหลังจากนี้ จะสามารถลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป คนละ 60,000 บาทต่อปี 
  • ให้คูปองส่วนลดของใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็ก หรืออาจะใช้วิธีการเดียวกับนโยบายคนละครึ่ง 

 

low birth rates

 

นอกจากมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยลดภาระในการเลี้ยงดูบุตรแล้ว การสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อผู้ที่ต้องการจะมีบุตรก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันดำเนินการ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ไม่ว่าจะเป็นทำให้ประชาชนมีความมั่นคงทางรายได้ ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพด้วยค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมไปถึงโอกาสในอนาคตของบุตรหลานที่จะเกิดมา ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่ทั้งสิ้น

 

ในเรื่องของภาวะมีบุตรยาก ปัจจุบันองค์กรด้านสุขภาพระหว่างประเทศจัดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคชนิดหนึ่งที่จำเป็นต้องดูแล “ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการ หากเราดูแลตั้งแต่อายุน้อยๆ โอกาสที่จะมีบุตรก็จะเพิ่มมากขึ้น ลดโอกาสเด็กเกิดมาแล้วมีปัญหาความผิดปกติให้ต่ำลงด้วย” นพ.สุวรรณชัย กล่าวเสริม 

 

“จริงๆ แล้วประเทศไทยตระหนักถึงปัญหานี้มากว่า 20 ปี และได้ดำเนินการหลายภาคส่วน แต่ก็ยังไม่เพียงพอและไม่ทันต่อสถานการณ์ เรามี ‘นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ’ ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตของประชากรอย่างมีคุณภาพ รวมถึงโครงการเกี่ยวข้องกับการเกิดและการเจริญเติบโตถึง 144 โครงการที่ดำเนินงานโดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ผลสำเร็จของการดำเนินงานเป็นไปได้เพียง 21.2% เท่านั้น เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ยังต้องพึ่งงบประมาณจากส่วนกลางเพื่อดำเนินกิจกรรมโครงการ รวมถึงทรัพยากรบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวมีไม่เพียงพอ” 

 

ดังนั้นหากมองที่เป้าหมายอาจดูเหมือนไม่มีสัญญาณที่ดีขึ้น แม้ในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่นั่นเป็นเพียงด้านเดียวที่เห็น เพราะความจริงแล้วในหลายประเทศสามารถชะลออัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงเร็วให้ช้าลงได้ หรือบางประเทศชะลอจนตัวเลขคงที่ด้วยมาตรการและนโยบายต่างๆ 

 

“การดำเนินงานเรื่องนโยบายประชากรด้านสาธารณสุขของประเทศไทยถือเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้นนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติที่กำลังดำเนินการอยู่นี้ หากทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน” นพ.สุวรรณชัย กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising