×

เมื่อ ‘This Means More’ ของผู้บริหารกับแฟนบอลลิเวอร์พูลมีค่าไม่เท่ากัน

06.04.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ในแถลงการณ์ของลิเวอร์พูลยืนกรานว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำให้ ‘ทุกคนยังมีงาน’ อยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้
  • ในช่วงแรกที่สถานการณ์การระบาดในอังกฤษเริ่มทวีความรุนแรง ลิเวอร์พูลเป็นสโมสรแรกๆ ที่ประกาศจะให้การสนับสนุนแก่ Foodbank ในเมือง
  • กลุ่ม SoS ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารของสโมสร โดยมีคำถามทั้งหมด 12 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่คือการขอความชัดเจนจากสโมสรเกี่ยวกับการตัดสินใจในครั้งนี้

ภาพลักษณ์ของสโมสรที่ทำทุกอย่างโดยยึดหลักความถูกต้องมาโดยตลอด ทำทุกสิ่งที่สโมสรฟุตบอลดีๆ สักแห่งควรจะทำ ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงเพียงข้ามคืน เมื่อลิเวอร์พูลประกาศที่จะให้มีการพักงาน (Furlough) สตาฟฟ์ของสโมสรในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับทีมฟุตบอล

 

การประกาศพักงานดังกล่าวจะทำให้สตาฟฟ์เหล่านั้นจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นจำนวน 80 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตามมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการในประเทศอังกฤษที่ประสบปัญหาในการประกอบธุรกิจจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา

 

ขณะที่ลิเวอร์พูลยืนยันว่า นอกจากส่วนที่รัฐช่วยเหลือแล้ว ทางสโมสรจะจ่ายเงินส่วนต่างที่ขาดไปเพื่อให้สตาฟฟ์ทุกคนจะได้รับเงินค่าจ้างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อย่างน้อยในช่วงนี้ที่จะไม่มีเกมการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก

 

แต่ถึงจะเป็นการกระทำที่ ‘ถูกต้อง’ ทั้งทางกฎหมาย และยังดูแลสตาฟฟ์ของทุกคนได้อย่างเต็มที่เหมือนเดิม ลิเวอร์พูลกลับเป็นสโมสรที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักที่สุดต่อการกระทำดังกล่าว

 

เสียงวิจารณ์จากคนภายนอกมองว่า สโมสรที่ร่ำรวยเงินทอง ประกาศข่าวดีว่ากำไร 42 ล้านปอนด์ในผลประกอบการปีล่าสุด และจ่ายเงินอีก 43.8 ล้านปอนด์ให้กับเอเจนต์เพื่อเป็นค่าตอบแทนในการเจรจาเรื่องซื้อขายผู้เล่นและการต่อสัญญาผู้เล่น การที่พวกเขาทำเช่นนี้ไม่ต่างอะไรจากการ ‘เบียดเบียน’ เงินช่วยเหลือซึ่งมาจากภาษีของทุกคน ซึ่งควรจะเป็นเงินที่นำไปใช้ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า

 

อย่างไรก็ดี ที่หนักกว่าคือเสียงวิพากษ์ของ ‘คนใน’ ไม่ว่าจะเป็นแฟนฟุตบอลหรืออดีตผู้เล่นที่ไม่อาจยอมรับกับสิ่งที่สโมสรกระทำลงไปได้

 

นี่คือ This Means More?

 

ไหนล่ะคำว่า You’ll Never Walk Alone?

 

ลองคิดสิว่าหาก บิลล์ แชงคลีย์ ยังอยู่ในวันนี้ นี่คือสิ่งที่เขาจะทำเช่นนั้นหรือ?

 

แต่ก่อนที่จะตัดสินอะไรลงไป เราควรจะได้มองเรื่องนี้อย่างรอบด้านสักหน่อย

 

บรรยาย: คาดว่ามีสตาฟฟ์ของสโมสรลิเวอร์พูลที่ถูกสั่งพักงาน 200 คน

 

Furlough คืออะไร

อย่างแรกที่ควรทำความเข้าใจก่อนคือเรื่องของการ ‘พักงาน’ (Furlough) ที่กลายเป็นคำที่แฟนฟุตบอลให้ความสนใจ

 

ในความหมายของคำว่า Furlough คือการที่ให้ลูกจ้างหรือพนักงานยุติการปฏิบัติงาน ‘เป็นการชั่วคราว’ ซึ่งมีความแตกต่างจากการ Layoff ที่เป็นการปลดพนักงานจากตำแหน่งทันที แต่มีโอกาสจะถูกจ้างงานกลับมาในภายหลังเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลง

 

ทางกฎหมายแล้วลูกจ้างหรือพนักงานที่ถูกสั่งพักงานจะยังถือว่ามีสถานะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานเหมือนเดิม แต่จะได้รับค่าตอบแทนลดลงจากเดิม หรือไม่ได้ค่าตอบแทนเลย ซึ่งอยู่ที่การตกลงกัน โดยกรณีของลิเวอร์พูล รัฐบาลจะอุ้มให้ 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เกิน 2,500 ปอนด์ต่อเดือน ขณะที่สโมสรยินดีที่จะจ่ายเงินในส่วนต่างตรงนี้ให้

 

เมื่อทุกอย่างกลับสู่สภาวะปกติ ทุกคนก็จะได้กลับมาทำงานตามเดิม หรือหากสถานการณ์ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ก็แล้วแต่การตกลงกันระหว่างทั้งสองฝ่าย

 

ในแถลงการณ์ของลิเวอร์พูลยืนกรานว่า การตัดสินใจครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำให้ ‘ทุกคนยังมีงาน’ อยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้

 

โดยระหว่างนี้สโมสรกำลังพยายามหาทางออกในเรื่องการลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะในการเจรจากับนักเตะของทีมที่เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อพรีเมียร์ลีกเสนอให้มีการลดค่าเหนื่อยลง 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อประคับประคองวงการฟุตบอลให้อยู่รอดได้ใน 1 ปีนับจากนี้

 

 

 

บรรยาย: เจอร์เกน คล็อปป์ ในฐานะผู้นำของทีมพยายามให้กำลังใจและให้คำแนะนำดีๆแก่ทุกคนเสมอ

 

สิ่งที่ลิเวอร์พูลช่วยเหลือสังคมในช่วงวิกฤตโควิด-19

ก่อนหน้าจะมีการประกาศพักงานสตาฟฟ์ในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับทีม ซึ่งแบ่งเป็น Matchday เช่น พนักงานขายอาหารและเครื่องดื่ม, พนักงานขายหนังสือโปรแกรม และส่วน Non-matchday ที่ไม่เกี่ยวข้องในวันแข่งขัน เช่น พนักงานต้อนรับ, เจ้าหน้าที่นำทัวร์ ลิเวอร์พูลได้มีส่วนในการช่วยเหลือชุมชนในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

 

โดยในช่วงแรกที่สถานการณ์การระบาดในอังกฤษเริ่มทวีความรุนแรง ลิเวอร์พูลเป็นสโมสรแรกๆ ที่ประกาศจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารอาหาร (Foodbank) ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่การแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกถูกพักการแข่งขัน เนื่องจากปกติแล้วจะมีการเปิดรับบริจาคอาหาร ของแห้ง ของใช้ที่จำเป็นเพื่อมอบให้แก่ผู้ยากไร้ คนไร้บ้าน หรือผู้ที่ต้องการในเวลานั้น

 

ลิเวอร์พูลบริจาคทันที 40,000 ปอนด์ให้แก่ Fans Supporting Foodbanks ซึ่งจะนำเงินไปซื้อของมามอบให้แก่ธนาคารอาหาร

 

นอกจากนี้ยังมีสจวร์ตของสนามแอนฟิลด์ที่ชำนาญเรื่องของการควบคุมฝูงชนขอเป็นอาสาสมัครดูแลความเรียบร้อยในซูเปอร์มาร์เก็ตที่โกลาหล เนื่องจากประชาชนวิตกและออกไปซื้อข้าวของเพื่อกักตุนเป็นจำนวนมาก 

 

บรรดาผู้เล่นในทีมเองก็มีความพยายามในการช่วยรณรงค์ให้ทุกคนอยู่ติดบ้านไว้ พยายามดูแลรักษาตัวเองในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ เช่นกันกับ เจอร์เกน คล็อปป์ ผู้จัดการทีมที่พยายามส่งสารที่ทรงพลังและช่วยสร้างความรู้สึกดีๆ ให้แก่แฟนๆ ทุกคน

 

แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน พยายามให้การช่วยเหลือธนาคารอาหารในเมืองกลาสโกว์ ที่บ้านเกิดในประเทศสกอตแลนด์อย่างลับๆ, ซาดิโอ มาเน บริจาคเงินให้แก่บ้านเกิดเซเนกัล เพื่อต่อสู้กับโรคร้าย 41,000 ปอนด์ และมี ‘นักฟุตบอลที่ไม่ขอเปิดเผยนาม’ บริจาคเงินอย่างต่อเนื่องให้แก่โรงพยาบาลอัลเดอร์ เฮย์ และโรงพยาบาลสตรีของเมืองลิเวอร์พูล

 

กัปตันทีมอย่าง จอร์แดน เฮนเดอร์สัน กัปตันทีมพยายามอยู่เบื้องหลังในการหารือร่วมกับกัปตันทีมของสโมสรอื่นในการจัดตั้งกองทุนที่จะระดมทุนเพื่อช่วยเหลือระบบสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) ที่เป็นฮีโร่ตัวจริงในการต่อสู้กับโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

 

เรียกว่ามีเรื่องราวดีๆ มากมายที่เกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ภาพลักษณ์ของสโมสรแข็งแกร่งและงดงาม

 

บรรยาย: บิลล์ แชงคลีย์ มหาบุรุษแห่งแอนฟิลด์ บิดาแห่งสโมสรลิเวอร์พูล

 

ถ้าเป็น ‘แชงค์ส’ จะไม่ทำแบบนี้

อย่างไรก็ดี การประกาศของสโมสรที่จะสั่งพักงานสตาฟฟ์เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาได้ทำให้ภาพลักษณ์ของสโมสรเสียหายอย่างไม่สามารถประเมินค่าได้

 

ตามสายตาของคนนอกแล้ว ลิเวอร์พูล ทีมจ่าฝูงพรีเมียร์ลีกซึ่งมีตัวเลขผลประกอบการ 533 ล้านปอนด์ มีกำไรก่อนเสียภาษี 42 ล้านปอนด์สำหรับฤดูกาล 2018-19 และสามารถจ่ายเงินให้แก่เอเจนต์นักฟุตบอลได้ถึง 43.8 ล้านปอนด์ในปีที่ผ่านมา การดูแลสตาฟฟ์ที่คาดว่าจะมีจำนวนราว 200 คนนั้นไม่น่าเป็นเรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง

 

พวกเขาร่ำรวย มีเงินทองมากมาย และไม่ควรที่จะมาเบียดเบียนคนอื่นแบบนี้

 

ลิเวอร์พูลควรจะทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี เหมือนที่พวกเขาพยายามทำตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่ FSG เข้ามาเทกโอเวอร์สโมสรและกอบกู้ทุกอย่างให้ลิเวอร์พูลค่อยๆ กลับมาเป็นสโมสรที่นอกจากจะเก่งกาจในสนาม พวกเขายังเป็นทีมที่น่าภาคภูมิใจอีกครั้ง

 

ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม ปีเตอร์ มัวร์ ซีอีโอของสโมสรถูกถามถึงความแตกต่างระหว่างลิเวอร์พูลกับสโมสรอื่นในโลกลูกหนัง

 

“เรามีบุคคลที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ บิลล์ แชงคลีย์ เป็นนักสังคมนิยมชาวสกอตแลนด์ที่เป็นผู้สร้างทุกอย่างที่นี่” มัวร์ตอบ El Pais สื่อจากสเปนที่ถาม

 

“แม้กระทั่งในวันนี้เมื่อเราพูดถึงเรื่องของการทำธุรกิจ เราจะถามตัวเองก่อนว่า ถ้าเป็นแชงคลีย์เขาจะทำอย่างไร บิลล์จะพูดอย่างไรในสถานการณ์แบบนี้

 

“เขาเป็นนักสังคมนิยมตัวจริงที่เชื่อว่าฟุตบอลคือการทำงานร่วมกัน ในแผนการตลาดของเราก็เลยช่วยกันคิดตีความว่าเราจะเอาสิ่งนี้มาแปลงเป็นคำพูดได้อย่างไร ซึ่งที่สุดแล้วมันคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของลิเวอร์พูล ก็คือคำว่า This Means More มันมากกว่าแค่แพ้หรือชนะ มากกว่าแค่การมาดูฟุตบอล ไปนั่งดูด้วยกันในผับแล้วกลับบ้าน”

 

อย่างไรก็ดี คำว่า This Means More กลับเป็นคำที่เจ็บปวดที่สุด เพราะคนที่ยอมรับในการกระทำของสโมสรไม่ได้คือเหล่าคนที่รักสโมสรอย่างสุดหัวใจ

 

เจมี คาร์ราเกอร์ ตำนานแห่งแอนฟิลด์เป็นคนแรกที่เปิดฉากโจมตีการกระทำของสโมสรที่น่าอับอาย 

 

“เจอร์เกน คล็อปป์ แสดงให้เห็นถึงความเห็นอกเห็นใจทุกคนตั้งแต่ช่วงที่เริ่มมีการระบาด ผู้เล่นในระดับอาวุโสของสโมสรพยายามอย่างหนักในการร่วมกับพรีเมียร์ลีกในเรื่องของการลดค่าเหนื่อย แต่แล้วความเคารพและความตั้งใจดีที่ผ่านๆ มาก็สูญสลายไป น่าอับอาย @LFC”

 

นอกจาก คาร์ราเกอร์ ยังมีอดีตนักเตะของสโมสรอีกหลายคนที่รับไม่ได้กับเรื่องนี้ และที่หนักที่สุดคือกลุ่มแฟนบอลที่มีเสียงอันทรงพลังมากที่สุดกลุ่มหนึ่งในนาม Spirit of Shankly (SoS) ได้ส่งเสียงสะท้อนถึงสโมสรที่พวกเขารักให้ได้รู้ว่า ทุกคน ‘ช็อก’ และ ‘โกรธ’ แค่ไหนกับการกระทำครั้งนี้

 

SoS ยังได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงผู้บริหารของสโมสร โดยมีคำถามทั้งหมด 12 ข้อ ซึ่งส่วนใหญ่คือการขอความชัดเจนจากสโมสรเกี่ยวกับการตัดสินใจในครั้งนี้

 

ความจริงหากเป็นสโมสรอื่นเรื่องคงไม่ใหญ่โตขนาดนี้ เหมือนกรณีของสเปอร์ส, นิวคาสเซิล ยูไนเต็ด, บอร์นมัธ หรือ นอริช ซิตี้

 

แต่เพราะนี่คือ ลิเวอร์พูล สโมสรที่เป็น ‘แบบอย่าง’ ในสิ่งที่ดีตลอดมา

 

พวกเขาควรจะดีกว่านี้ นี่คือสิ่งที่ไม่ว่าจะคนนอกหรือคนในคิด และผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น

 

 

ความจริงอีกด้านของธุรกิจฟุตบอลในยุคหลังโควิด-19

แม้จะปฏิเสธได้ยากว่าการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอันใดกับผู้จัดการทีมและผู้เล่นในทีม ได้ทำลายความรู้สึกดีๆ ลงไปมาก

แต่อีกด้านของความจริงคือสิ่งที่ลิเวอร์พูลเตรียมที่จะต้องเผชิญ

 

กับโลกฟุตบอลหลังการระบาดของโควิด-19 ที่จะแตกต่างจากเดิมอย่างมากแน่นอน

 

อย่างแรกที่พวกเขายังไม่รู้คำตอบคือ พรีเมียร์ลีกจะกลับมาลงสนามได้อีกครั้งไหม เพราะแม้จะมีความพยายามจากทุกฝ่ายเพื่อที่จะให้การแข่งขันกลับมาดำเนินต่อไปได้ ซึ่งล่าสุดกำหนดการที่มองไว้อยู่ที่เดือนมิถุนายน แต่ก็ยังไม่มีใครรู้อยู่ดีตกลงแล้วจะเป็นอย่างไร

 

ถ้าหากพรีเมียร์ลีกกลับมาไม่ได้ นอกจากที่ลิเวอร์พูลจะต้องลุ้นว่าสิ่งที่พวกเขาพยายามทำกันมาจนใกล้จะสำเร็จแล้วอย่างการคว้าแชมป์ลีกสูงสุดในรอบ 30 ปีจะจบลงด้วยการได้ถ้วยแชมป์ไหม พวกเขายังต้องเสี่ยงที่จะขาดรายได้จำนวนมากมายมหาศาล

 

มีการประเมินตัวเลขไว้ที่ 50 ล้านปอนด์เฉพาะในส่วนนี้ ไม่นับในส่วนของค่าบัตรผ่านประตูและรายได้ที่พึงเกิดขึ้นจากวันที่มีการแข่งขัน (สินค้าที่ระลึก อาหาร เครื่องดื่ม หนังสือโปรแกรม ฯลฯ) 

 

การขาดรายได้เหล่านี้ยังส่งผลกระทบต่อกระแสเงินสดของสโมสร ซึ่งเป็นส่วนที่จะถูกนำมาใช้จ่ายทั่วไป รวมถึงการจ่ายเงินสตาฟฟ์ต่างๆ ด้วย เพราะลำพังเงินรายได้จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีกจะแบ่งเป็น 3 งวด และงวดสุดท้ายจะได้รับเมื่อแข่งจบฤดูกาล

 

สโมสรยังมีรายจ่ายอีกมากมายมหาศาล โดยเฉพาะค่าเหนื่อยนักฟุตบอล ที่ลิเวอร์พูลเป็นหนึ่งในสโมสรที่จ่ายเงินค่าเหนื่อยผู้เล่นสูงสุดถึง 264 ล้านปอนด์ รองจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดแค่ทีมเดียว 

 

ไม่นับเรื่องของรายได้จากสปอนเซอร์ที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และจะมีผลกระทบอีกมากที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ไม่นับเรื่องที่ลิเวอร์พูลยังมีแผนในการปรับปรุงสนามแอนฟิลด์เพิ่มเติม และการสร้างศูนย์ฝึกใหม่ที่เคิร์กบีที่ล่าช้าไปอีก 1 ปี และแน่นอนว่าความล่าช้าหมายถึงเงินที่ต้องเสียเพิ่มขึ้น

 

ในมุมของผู้บริหาร เมื่อประเมินความเสี่ยงแล้ว หากจะมีการตัดสินใจลดค่าใช้จ่ายลงบ้าง จะมากหรือน้อยก็เป็นเรื่องปกติ ซึ่งพอดีกับที่มีนโยบายช่วยเหลือจากรัฐบาลพอดี 

 

อย่างน้อยสตาฟฟ์ทุกคนยังมีงานอยู่ และทุกคนยังได้รับเงินค่าจ้างเท่าเดิม

 

สำคัญที่สุดคือสโมสรยังมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งเหมือนเดิม หรืออาจจะไม่แกร่งเท่าเดิม แต่อย่างน้อยก็ยังสามารถทำให้ทุกอย่างก้าวไปข้างหน้าได้ อย่าลืมว่านี่คือ ‘ธุรกิจ’

 

เพียงแต่สิ่งที่ผู้บริหารอาจจะลืมหรือคาดไม่ถึงไปด้วยความ ‘หน้ามืด’ หรือลืมที่จะคิดแบบ บิลล์ แชงคลีย์ คือ

 

(สโมสร) ลิเวอร์พูลไม่ใช่แค่สโมสรฟุตบอล แต่ลิเวอร์พูลคือผู้คน

 

หากผู้คนเหล่านั้นไม่เห็นด้วย แปลว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด อาจจะไม่ผิดต่อหลักการของการบริหาร แต่มันน่าจะผิดต่อหลักการของสโมสรอย่างแน่นอน และนั่นหมายถึงทั้งสองฝั่งจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันและกันอย่างเร่งด่วน

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X