×

ทำไมอิสราเอลเกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่ แผนปฏิรูปศาลจำเป็นจริงหรือไม่

28.03.2023
  • LOADING...

ชาวอิสราเอลหลายแสนคนออกมาชุมนุมประท้วงตามเมืองสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเมืองเทลอาวีฟและเยรูซาเล็ม หลายพื้นที่สถานการณ์บานปลายกลายเป็นเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ความมั่นคง แม้มีผู้ร่วมชุมนุมจำนวนหนึ่งถูกควบคุมตัวและถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่การชุมนุมประท้วงใหญ่ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เกิดอะไรขึ้นที่อิสราเอล ทำไมถึงเกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่

 

ชาวอิสราเอลออกมารวมตัวประท้วงตั้งแต่เดือนมกราคม หลังรัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ได้ประกาศแผนปฏิรูประบบตุลาการของประเทศ  

 

แผนปฏิรูปศาลฉบับนี้จะจำกัดอำนาจศาลสูงสุดของอิสราเอล พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้รัฐสภาเข้าไปมีบทบาทในการคัดเลือกผู้ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลสูงสุดได้ รวมทั้งยังจะให้อำนาจรัฐสภาลงมติลบล้างคำตัดสินของศาลสูงสุดได้ หากได้รับมติเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่ง ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับระบบตุลาการของอิสราเอล นับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นในปี 1948

 

โดยหลายฝ่ายมองว่าแผนปฏิรูปฉบับนี้กัดกร่อนและคุกคามรากฐานความเป็นประชาธิปไตยของอิสราเอล ทั้งยังสะท้อนให้เห็นความพยายามในการกระชับอำนาจและความพยายามที่จะควบคุมระบบตุลาการของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ จึงมีการเรียกร้องให้เนทันยาฮูและรัฐบาลฝ่ายขวาสุดโต่งของเขายุติการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว

 

เหตุชุมนุมประท้วงส่อเค้ารุนแรงขึ้น หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาสภามีมติผ่านร่างกฎหมายสำคัญที่ทำให้การถอดถอนนายกรัฐมนตรีเป็นไปได้ยากมากยิ่งขึ้น โดยจำเป็นต้องให้ตัวนายกรัฐมนตรีเอง หรือ 2 ใน 3 ของคณะรัฐมนตรีลงมติเห็นชอบประกาศให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง หากเห็นว่าไม่เหมาะสมที่จะให้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศต่อไป

 

การประท้วงยกระดับขึ้นไปอีกในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หลังเนทันยาฮูมีคำสั่งปลด โยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมออกจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน หลังจากที่เขาออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุติแผนปฏิรูปศาล คำสั่งดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจรัฐบาลในหมู่ชาวอิสราเอลเป็นอย่างมาก และปะทุกลายเป็นเหตุชุมนุมประท้วงบนท้องถนน รวมถึงมีการนัดหยุดงานครั้งใหญ่ตามมา

อะไรคือเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการผลักดันแผนปฏิรูปครั้งนี้

 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าอิสราเอลไม่ได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน มีเพียงชุดกฎหมายพื้นฐานกึ่งรัฐธรรมนูญที่ใช้ในการปกครองเท่านั้น จึงทำให้ศาลสูงสุดมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก ในขณะเดียวกันอิสราเอลเองก็ไม่ได้มีสถาบันที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐสภา นอกเหนือไปจากศาลสูงสุดของอิสราเอล 

 

โดยเนทันยาฮูและบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนของเขาต่างมองว่า ศาลสูงสุดของอิสราเอลกลายเป็นกลุ่มอำนาจนำที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนชาวอิสราเอลอย่างแท้จริง ต่างจากบรรดาคณะรัฐบาลและสมาชิกสภาที่ได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชน 

 

นอกจากความพยายามที่จะปูทางให้รัฐสภามีสิทธิเข้าไปคัดเลือกผู้พิพากษาศาลสูงสุดแล้วนั้น เนทันยาฮูยังมองว่าการมอบอำนาจให้รัฐสภามีสิทธิลบล้างคำตัดสินใจของศาลสูงสุดได้ก็เป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งศาลสูงสุดไม่ควรแทรกแซงเจตจำนงของประชาชนที่เป็นผู้ลงคะแนนให้นักการเมืองเหล่านี้ก้าวขึ้นสู่อำนาจและมานั่งในรัฐสภา แผนปฏิรูประบบตุลาการอิสราเอลจึงมีความเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งยกตัวอย่างกรณีของสหรัฐอเมริกาที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองในฝ่ายบริหารเสนอชื่อว่าผู้พิพากษาคนใดสมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ 

 

ทางด้าน ยาริฟ เลวีน รัฐมนตรียุติธรรมอิสราเอล เคยกล่าวขณะที่เผยถึงแผนปฏิรูปดังกล่าวเป็นครั้งแรกเมื่อช่วงต้นปี 2023 ว่า “พวกเราเข้าคูหาเลือกตั้งเพื่อลงคะแนนเสียงหลายต่อหลายครั้ง แต่กลับปล่อยให้คนที่เราไม่ได้เลือกมาตัดสินใจแทนพวกเรา”

 

ขณะที่นักวิจารณ์มองว่าเนทันยาฮูผลักดันแผนปฏิรูปศาลอย่างจริงจังเนื่องจากเขากำลังเผชิญการพิจารณาคดีคอร์รัปชัน หลังถูกกล่าวหาว่าฉ้อโกง ติดสินบน รวมถึงใช้อำนาจในทางมิชอบ เบื้องต้นเนทันยาฮูยังคงให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

 

โดยร่างกฎหมายหลายฉบับที่ได้รับการผลักดันโดยรัฐบาลอิสราเอลในช่วงเวลานี้จึงถูกมองว่าใช้เป็นเครื่องมือในการปกป้องเนทันยาฮูจากการถอดถอนตัวเขาพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีความไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไป อันเป็นผลมาจากการพิจารณาคดีในชั้นศาล

 

นอกจากนี้นักวิจารณ์ยังแสดงความกังวลว่า ถ้าหากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเหนือฝ่ายตุลาการในการจัดตั้งผู้พิพากษาแล้ว ระบบศาลในอิสราเอลอาจจะขาดความเป็นเอกเทศ ฝ่ายสนับสนุนเนทันยาฮูอาจแต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีจุดยืนเอนเอียง สอดคล้องและเอื้อประโยชน์ให้กับเนทันยาฮูและพันธมิตรก็เป็นได้ ซึ่งจะส่งผลใหญ่หลวงต่อความชอบธรรมและความยุติธรรมในการตัดสินคดีความต่างๆ ในอิสราเอลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ผลสำรวจล่าสุดโดย The Israel Democracy Institute เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาชี้ว่า ชาวอิสราเอลส่วนน้อยมากที่สนับสนุนแผนปฏิรูปศาลฉบับนี้ ขณะที่เสียงส่วนใหญ่กว่า 72% ต้องการให้มีการประนีประนอม โดย 66% เห็นว่าศาลควรมีอำนาจในการพิจารณาหรือคัดค้านการออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และอีก 63% เห็นชอบกับวิธีการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้คงอยู่เช่นเดิม

 

ขณะที่ ไอแซก เฮอร์ซ็อก ประธานาธิบดีอิสราเอล ก็ออกมาเรียกร้องให้เนทันยาฮูยุติแผนการดังกล่าวด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งเตือนว่าอิสเราเอลจวนเจียนที่จะเกิดสงครามกลางเมืองมากขึ้นทุกขณะ แม้ว่าตำแหน่งของประธานาธิบดีอิสราเอลจะมีบทบาทส่วนใหญ่ในเชิงพิธีการ แต่เฮอร์ซ็อกก็เดินหน้าพูดคุยกับทุกฝ่ายและผลักดันให้เกิดการเจรจาหารือระหว่างกัน

 

ทางด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับเนทันยาฮูผ่านทางโทรศัพท์เมื่อช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ว่า “สังคมประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้นจากการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างแท้จริง การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานควรได้รับเสียงสนับสนุนอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

แผนปฏิรูปนี้จะส่งผลต่อชาวปาเลสไตน์หรือไม่ อย่างไร 

 

ระบบตุลาการที่อ่อนแอลงอาจส่งผลกระทบต่อทั้งชาวอิสราเอล รวมถึงชาวปาเลสไตน์ในการแสวงหาการปกป้องและคุ้มครองสิทธิจากศาล หากพวกเขาเชื่อว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐบาลอิสราเอล 

 

โดยชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกอิสราเอลยึดครองอาจได้รับผลกระทบจากแผนปฏิรูปในครั้งนี้ ขณะที่ชาวปาเลสไตน์ที่ได้สิทธิเป็นพลเมืองของอิสราเอล รวมถึงผู้ที่ถือบัตรประจำตัวผู้พำนักในอิสราเอลจะได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาจะไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ เนื่องจากฉนวนกาซาอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มกองกำลังฮามาสและอยู่นอกเหนืออำนาจของศาลสูงสุดอิสราเอล 

 

นักวิจารณ์ยังแสดงความกังวลว่า การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจโดยให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจนำเหนือฝ่ายตุลาการนั้นจะยิ่งส่งผลกระทบต่อชาวปาเลสไตน์ ซึ่งถือเป็นชนกลุ่มน้อยในอิสราเอลโดยตรง ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2022 ศาลอิสราเอลได้ยุติการขับไล่ครอบครัวชาวปาเลสไตน์ให้ออกจากย่าน Sheikh Jarrah ในเยรูซาเล็มตะวันออก พื้นที่ที่กลุ่มชาวยิวอ้างว่าเป็นดินแดนแห่งพันธะสัญญาที่ตนเป็นเจ้าของ แม้ว่าศาลอิสราเอลมักจะได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวชาวปาเลสไตน์อยู่บ่อยครั้งที่เพิกเฉยต่อกรณีการรุกล้ำดินแดนและตั้งถิ่นฐานของชาวอิสราเอลในดินแดนของปาเลสไตน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย

จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้

 

ร่างกฎหมายปฏิรูปศาลฉบับนี้จำเป็นต้องได้รับมติเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งหมด 3 ครั้ง ก่อนที่จะประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยล่าสุดเนทันยาฮูตัดสินใจเลื่อนระยะเวลาการลงมติครั้งที่ 2 และ 3 ออกไปจนถึงช่วงกลางเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับช่วงหลังวันหยุดยาวของชาวยิว เพื่อให้เกิดการขบคิดและอภิปรายกันอย่างแท้จริงในสังคมอีกระยะ 

 

อย่างไรก็ตาม เนทันยาฮูยังคงยืนยันว่าแผนปฏิรูปศาลฉบับนี้เป็นสิ่งจำเป็นต่ออิสราเอล ในขณะที่นักวิเคราะห์จำนวนไม่น้อยมองว่าการเลื่อนระยะเวลาการลงมติออกไปอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้สถานการณ์ภายในอิสราเอลสงบลง เนื่องจากชาวอิสราเอลจำนวนมากต่างมองว่าแผนปฏิรูปศาลของเนทันยาฮูกัดกร่อนระบอบประชาธิปไตยของประเทศนี้ และจะเปลี่ยนให้อิสราเอลกลายเป็นประเทศเผด็จการ จึงจำเป็นที่จะต้องยุติแผนปฏิรูปโดยเร็วที่สุด

 

ทางด้าน ยาอีร์ ลาพิด อดีตนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้เรียกร้องให้เนทันยาฮูยกเลิกคำสั่งที่ปลดกัลแลนต์พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลชุดปัจจุบันยุติการยกเครื่องกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้ โดยระบุกับรัฐสภาว่า “อิสราเอลกำลังถูกจับเป็นตัวประกันโดยกลุ่มคนหัวรุนแรงที่มีความสุดโต่ง ไม่มีการห้ามปรามและไม่มีขอบเขต”

 

หากแผนปฏิรูปศาลฉบับนี้ผ่านมติเห็นชอบจากรัฐสภา ศาลสูงสุดจะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่จำกัดขอบเขตอำนาจของตนเอง ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งในทางหลักการของรัฐธรรมนูญ คำถามสำคัญคือ ศาลสูงสุดมีอำนาจในการปัดตกร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้น รัฐบาลอิสราเอลจะตอบโต้กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนั้นอย่างไร นับเป็นสิ่งที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

 

แฟ้มภาพ: Amir Goldstein / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising