×

ความฝันของเราคืออะไรกันแน่ ทำไมเรามักจะฝันบ่อยๆ

18.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ความฝันเกิดขึ้นขณะที่สมองส่วนต่างๆ โดยเฉพาะนีโอคอร์เท็กซ์ ฮิปโปแคมปัส และบริเวณข้างเคียงถูกกระตุ้น ส่งผ่านชุดความจำ และทำงานร่วมกัน
  • ภาพความฝันเสมือนจริงที่เราเห็นขณะหลับนั้นเกิดขึ้นจากความทรงจำบางชุดถูกสุ่มและตรวจจับได้เป็นพิเศษขณะที่ถูกส่งผ่าน โดยจะถูกผสมผสานและปรุงแต่งเรื่องราวตามประสบการณ์ที่แต่ละคนนึกคิดและพบเจอ

     “เมื่อคืนผมฝันว่ากำลังวิ่งหนีซอมบี้อย่างกับในผีชีวะ”

     “รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเมื่อคืนตัวเองถูกลอตเตอรีรางวัลที่ 1 พอตื่นขึ้นมา เสียใจหนักมาก เพราะมันเป็นแค่ฝัน #ชมรมคนไส้แห้งตั้งแต่ต้นเดือน”

     บ่อยครั้งที่คนเราหลับและมักจะฝันเป็นเรื่องเป็นราว บางครั้งลุกขึ้นมากินน้ำแล้วยังกลับไปฝันต่อได้อีก แท้ที่จริงความฝันคืออะไรกันแน่ ทำไมเราถึงฝันบ่อยๆ ล่ะ?

     ความเชื่อเกี่ยวกับความฝันมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวอียิปต์ในดินแดนไอยคุปต์เมื่อหลายพันปีก่อน รวมถึงนักรบกรีกและโรมันโบราณเชื่อว่าความฝันคือรูปแบบหนึ่งของการมองเห็นอนาคตและอาจผูกโยงอยู่กับโลกหลังความตาย เป็นนิมิตที่ถูกนำมาใช้ตีความเป็นคำทำนายและคำพยากรณ์ที่ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางของอาณาจักร ดังนั้นการเมืองการปกครอง รวมถึงยุทธศาสตร์ทางด้านการรบในสมัยโบราณจึงผูกติดอยู่กับความฝันไม่น้อย

 

เรื่องของความฝันซับซ้อนกว่าที่คิด

     แท้จริงแล้วความฝันมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก ซิกมันด์ ฟรอยด์ นายแพทย์ด้านประสาทวิทยาชาวออสเตรีย ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ซึ่งศึกษาการทำงานของระบบประสาทและความคิดของมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์และด้านอื่นๆ โดยฟรอยด์มองว่า ‘ความฝันคือการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกและแรงปรารถนาบางอย่างที่ถูกกดทับและเก็บซ่อนเอาไว้ข้างในจิตใจลึกๆ ของผู้คน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะผูกโยงอยู่กับเรื่องทางเพศเป็นหลัก’

     เช่น เราอาจจะเคยฝันถึงหญิงสาวหรือชายหนุ่มในอุดมคติที่อยากจะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วย แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในโลกของความเป็นจริง เพราะอาจมีข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ อยู่ หรือแม้แต่ฝันว่าได้กินไส้กรอกหรือหอยนางรมตัวใหญ่ๆ ก็อาจจะสะท้อนแรงขับทางเพศที่ถูกกดทับไว้ได้เช่นกัน

     คาร์ล ยุง จิตแพทย์และนักจิตบำบัดชาวสวิตเซอร์แลนด์ ผู้เสนอแนวคิดต่างๆมากมายที่มีอิทธิพลต่อองค์ความรู้ในสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์คนสำคัญของโลกมองว่า ‘ความฝันคือพลังงานที่มีรูปร่างแบบหนึ่งที่เกี่ยวพันกับจิตใต้สำนึก บ่อยครั้งที่ความฝันของคนเราคือภาพสะท้อนของสิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็นและรู้สึกนึกคิดในแต่ละวัน เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สมองจะมีการประมวลผลและขบคิดถึงสิ่งต่างๆ’

 

ความฝันกับการทดลองวิทยาศาสตร์

     คำอธิบายหนึ่งของที่น่าสนใจของความฝันคือ ‘กระบวนการทำงานของสมองที่ใช้ลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นในแต่ละวันทิ้งไป และเลือกชุดข้อมูลที่เป็นประโยชน์ซึ่งจะถูกจัดเก็บในคลังของหน่วยความจำระยะยาว’ ซึ่งนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างความฝันและการทำงานของสมอง โดยเฉพาะในส่วนของฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่ควบคุมความจำ และนีโอคอร์เท็กซ์ (Neocortex) ที่ควบคุมความรู้สึกนึกคิดขั้นสูงของมนุษย์

     จากการทดสอบของสถาบันทางการแพทย์ Max Planck ในเมืองไฮเดลเบิร์ก ของเยอรมนีที่ได้ทำการทดลองกับหนูที่ถูกวางยาสลบ พบว่าสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์สามารถทำงานได้ดีในขณะที่นอนหลับ ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปกระตุ้นสมองส่วนฮิปโปแคมปัสให้ประมวลผลและเก็บข้อมูลระยะสั้น โดยสมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์นี้จะเป็นตัวตัดสินใจว่าข้อมูลความทรงจำชุดใดที่จะถูกส่งไปจัดเก็บเป็นข้อมูลระยะยาว และความทรงจำใดควรจะถูกลบและถูกลืมในที่สุด ซึ่งภาพความฝันเสมือนจริงที่เราเห็นขณะที่หลับจึงเกิดขึ้นจากความทรงจำบางชุดถูกสุ่มและตรวจจับได้เป็นพิเศษขณะที่ถูกส่งผ่าน โดยจะถูกผสมผสานและปรุงแต่งเรื่องราวตามประสบการณ์ที่แต่ละคนนึกคิดและพบเจอ

     โดยสมองสองส่วนนี้ก็จะทำงานร่วมกันกับสมองส่วนอื่นๆ อีกด้วย เช่น ในขณะที่มีการถ่ายโอนข้อมูลความทรงจำและสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวถูกกระตุ้น คุณอาจจะฝันว่ากำลังเล่นรถไฟเหาะที่สวนสนุก หรืออาจจะกำลังถูกผลักให้ตกลงมาจากหน้าผาสูงจนต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก

     ความฝันจึงเป็นการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่งของเซลล์สมองและระบบประสาทนั่นเอง บ่อยครั้งที่ความฝันกินเวลานาน และยิ่งถ้าความฝันนั้นเป็นเหตุการณ์หวาดเสียวและลุ้นระทึกมากๆ ด้วยแล้วก็จะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้าได้ง่ายเหมือนไม่ได้พักผ่อน เพราะสมองยังคงทำงานตลอดเวลา ดังนั้นถ้าใกล้ถึงช่วงเวลาพักผ่อน เราควรจะทำให้สมองและจิตใจว่างโดยการฟังเพลงเบาๆ ชิลล์ๆ ก่อนนอน ก็อาจจะทำให้นอนหลับได้เต็มอิ่มมากยิ่งขึ้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising