ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ระบุว่า การโจมตีโรงพยาบาลแม่และเด็กเป็น ‘อาชญากรรมสงคราม’
อาจดูเหมือนไม่ใช่ แต่คำตอบคือใช่ เพราะ ‘แม้แต่สงครามก็มีกฎกติกา’ ตามที่คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศกำหนดไว้
กฎกติกาเหล่านี้อยู่ในสนธิสัญญาที่เรียกว่าอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) ตลอดจนกฎหมายและข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ
อาชญากรรมสงครามคืออะไร
การจงใจโจมตีพลเรือน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อการอยู่รอดของพลเรือน ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม
การใช้อาวุธต้องห้าม เช่น ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล และอาวุธเคมี หรืออาวุธชีวภาพ ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม
ผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บต้องได้รับการดูแล รวมถึงทหารที่ได้รับบาดเจ็บก็มีสิทธิ์ได้รับการรักษาพยาบาลในฐานะเชลยสงคราม
กฎหมายอื่นๆ ห้ามการทรมานและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งถือเป็นความพยายามโดยเจตนาที่จะทำลายบุคคลบางกลุ่ม
ความผิดร้ายแรงระหว่างสงคราม เช่น ฆาตกรรม การข่มขืน หรือการกดขี่ข่มเหงหมู่ ถือเป็น ‘อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ’
มีข้อกล่าวหาอะไรบ้างเกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามในยูเครน
ยูเครนระบุว่า การโจมตีทางอากาศของรัสเซียต่อแผนกสูติกรรมและเด็กในมารีอูโปลเป็นอาชญากรรมสงคราม มีผู้เสียชีวิต 3 รายจากเหตุการณ์นี้ ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 1 ราย ขณะที่เจ้าหน้าที่และผู้ป่วย 17 รายได้รับบาดเจ็บ
นอกจากนี้ยังมีรายงานด้วยว่า กองทหารรัสเซียพุ่งเป้าโจมตีไปยังพลเรือนยูเครนที่กำลังหลบหนี อีกทั้งมีหลักฐานเพิ่มว่า รัสเซียใช้ระเบิดลูกปรายโจมตีพื้นที่พลเรือนของเมืองคาร์คิฟ
ระเบิดลูกปราย (Cluster Bomb) ถือเป็นอาวุธต้องห้ามในหลายประเทศ และถึงแม้รัสเซีย รวมทั้งยูเครน ไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดลูกปราย (Convention on Cluster Munitions) แต่เหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังเข้าข่ายเป็นอาชญากรรมสงคราม
นอกจากนี้กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรระบุว่า รัสเซียใช้ระเบิดสุญญากาศ หรือเทอร์โมบาริก (Thermobaric Explosives) ซึ่งแม้วัตถุระเบิดทำลายล้างเหล่านี้ไม่ได้ถูกห้ามใช้ แต่การจงใจใช้ระเบิดประเภทนี้ใกล้กับพื้นที่ของพลเรือนก็เท่ากับเป็นการฝ่าฝืนกฎกติกาสงครามเช่นกัน
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า แค่การรุกรานก็ถือเป็นอาชญากรรมแล้ว เพราะถือเป็นการทำสงครามเชิงรุก
อาชญากรสงครามจะถูกตามจับมาดำเนินคดีอย่างไร
แต่ละประเทศมีหน้าที่รับผิดชอบสืบสวนอาชญากรรมสงครามที่น่าสงสัย และบางประเทศทำมากกว่าประเทศอื่น โดยในสหราชอาณาจักรเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงได้เสนอที่จะช่วยรวบรวมหลักฐานการก่ออาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นในยูเครน
ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นอาชญากรสงครามจะถูกดำเนินคดีอย่างไร
มีการตั้งศาลเฉพาะกิจเกิดขึ้นหลายครั้งนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรวมถึงศาลอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายของยูโกสลาเวีย ตลอดจนการจัดตั้งองค์คณะขึ้นมาองค์คณะหนึ่ง เพื่อดำเนินคดีกับผู้นำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา โดยเมื่อปี 1994 กลุ่มหัวรุนแรงฮูตูสังหารประชาชนไปถึง 800,000 รายภายใน 100 วัน
ปัจจุบันศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court: ICC) และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (Court of Justice: ICJ) มีบทบาทในการรักษากฎกติกาสงคราม
ICJ ตัดสินเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างรัฐต่างๆ แต่ไม่สามารถดำเนินคดีกับบุคคลได้ ทั้งนี้ ยูเครนได้เริ่มยื่นฟ้องรัสเซียต่อศาล ICJ แล้ว ซึ่งหาก ICJ ตัดสินว่ารัสเซียมีความผิดจากการรุกรานยูเครน การบังคับคดีจะเป็นหน้าที่ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)
แต่เรื่องนี้มีจุดบอด เพราะรัสเซียซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของ UNSC สามารถใช้สิทธิยับยั้ง หรือ Veto ร่างมติใดๆ ของ UNSC ได้
ในขณะที่ ICC มีหน้าที่สืบสวนและดำเนินคดีกับอาชญากรสงครามรายบุคคล ซึ่งไม่ได้ถูกนำตัวมาขึ้นศาลของรัฐหรือประเทศ
ICC สามารถดำเนินคดีกับความผิดในยูเครนได้หรือไม่
คาริม ข่าน อัยการสูงสุดของ ICC กล่าวว่า มีหลักเกณฑ์ที่เชื่อได้ว่าอาชญากรรมสงครามได้เกิดขึ้นในยูเครน และเขาได้รับอนุญาตจาก 39 รัฐ ให้สอบสวนเรื่องนี้
เจ้าหน้าที่สอบสวนจะพิจารณาข้อกล่าวหาทั้งในอดีตและปัจจุบัน โดยย้อนไปถึงปี 2013 ก่อนรัสเซียผนวกไครเมียจากยูเครน
หากมีหลักฐานในการดำเนินคดีกับบุคคล อัยการจะขอให้ผู้พิพากษาของ ICC ออกหมายจับเพื่อนำตัวบุคคลเหล่านั้นมาขึ้นศาลในกรุงเฮก
แต่ ณ จุดนี้ อำนาจของศาลมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ กล่าวคือ ICC ไม่มีตำรวจศาลเป็นของตัวเอง ต้องอาศัยรัฐในการจับกุมผู้ต้องสงสัย
แล้วยิ่งรัสเซียไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC หลังจากที่ถอนตัวออกไปเมื่อปี 2016 ดังนั้นประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน จึงไม่ต้องส่งตัวผู้ต้องสงสัยให้กับ ICC ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน นอกเสียจากว่าผู้ต้องสงสัยเดินทางไปประเทศอื่น พวกเขาอาจถูกจับกุม
เป็นไปได้หรือไม่ที่ประธานาธิบดีปูตินหรือผู้นำคนอื่นๆ จะถูกดำเนินคดี?
ศาลอาจเอาผิดทหารที่ก่ออาชญากรรมได้ แต่คงเป็นเรื่องยากที่จะเอาผิดผู้นำที่เป็นผู้สั่งการทหารเหล่านั้น
ศ.ฟิลิปป์ แซนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่ University College London กล่าวว่า ปัญหาคือ ICC ไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้นำของรัสเซียในความผิดนี้ได้ เนื่องจากรัสเซียไม่ใช่ประเทศภาคีสนธิสัญญา ICC
ในทางทฤษฎีแล้ว UNSC สามารถขอให้ ICC ตรวจสอบความผิดนี้ แต่เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เนื่องจากรัสเซียสามารถใช้สิทธิ์ Veto ในฐานะ 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของ UNSC
มีวิธีอื่นที่จะเอาผิดผู้ก่ออาชญากรรมสงครามหรือไม่?
ประสิทธิผลของ ICC และการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสนธิสัญญาหรือข้อตกลงเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการเมืองและการทูตด้วย
ขณะที่ ศ.แซนด์ เรียกร้องให้ผู้นำโลกตั้งศาลเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินคดีกับอาชญากรรมการรุกรานในยูเครน
ภาพ: Hannah Peters / Getty Images
อ้างอิง: