×

CBDC คืออะไร…แล้วคนไทยจะได้ใช้เมื่อไร?

03.09.2021
  • LOADING...
CBDC

กระแสความสนใจในคริปโตเคอร์เรนซี อย่าง Bitcoin, Ethereum และเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับทิศทางของโลกการเงินที่กำลังมุ่งสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดหรือ Cashless Society ที่นับวันคนจะยิ่งควักเงินกระดาษออกมาจับจ่ายกันน้อยลงทุกที ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต่างเร่งศึกษาและพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลของตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า CBDC ซึ่งย่อมาจาก Central Bank Digital Currency ขึ้นมา

 

แล้ว CBDC ที่ว่าคืออะไร? CBDC ตามความเข้าใจแบบง่ายๆ ก็คือ เงินสกุลดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นเดียวกับสกุลเงิน Fiat หรือเงินกระดาษปกติ ในกรณีของไทย CBDC ก็คือเงินบาทหรือธนบัตรที่ออกโดยแบงก์ชาติ เพียงแต่อยู่ในรูปแบบ ‘ดิจิทัล’ เท่านั้นเอง ซึ่งเราเรียกกันว่า ‘บาทดิจิทัล’ 

 

โดย CBDC สามารถถูกนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่การชำระเงินระหว่างสถาบันการเงิน (Wholesale) ไปจนถึงการใช้ในระดับรายย่อย (Retail) หรือ การนำมาจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันของพวกเรานั่นเอง 

 

อธิบายมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจยังสงสัยว่า แล้วไอ้เจ้า CBDC นี่มันต่างจากคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และสเตเบิลคอยน์ (Stablecoin) ที่ออกโดยภาคเอกชนอย่างไร? 

 

ข้อแตกต่างที่ชัดเจนก็คือ CBDC ถือเป็น ‘สกุลเงิน’ ในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง ซึ่งมีคุณสมบัติในการเป็นสื่อกลางเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย สามารถรักษามูลค่า และเป็นหน่วยวัดทางบัญชีได้ ซึ่งต่างจากคริปโตเคอร์เรนซีที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งมักจะมีมูลค่าที่ผันผวนจากการใช้เพื่อเก็งกำไร ไม่มีกฎหมายรองรับ จึงไม่เหมาะสำหรับการนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ

 

ขณะที่สเตเบิลคอยน์ แม้จะถูกพัฒนาขึ้นบนฐานของเทคโนโลยีบล็อกเชน เหมือนกับ CBDC และมีเงินสกุลปกติ หลักทรัพย์ หรือทรัพย์สิน เช่น ทองคำ ค้ำประกันให้มูลค่ามีความไม่แน่นอนลดลงบ้าง แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับให้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายเช่นกัน

 

ปัจจุบันมีประเทศใดบ้างที่เริ่มใช้ CBDC ไปแล้ว แล้วคนไทยจะได้ใช้เมื่อไร? 

จีนถือเป็นชาติแรกที่ประกาศใช้เงินหยวนดิจิทัลสำหรับประชาชนอย่างเป็นทางการไปแล้วตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ขณะที่สวีเดนก็ได้เริ่มทดสอบการใช้เงินสกุลโครนาดิจิทัล หรือ e-krona ไปแล้วเช่นกัน และยังมีอีกธนาคารกลางในอีกหลายประเทศที่กำลังเดินหน้าศึกษาและทดลองเรื่องนี้อย่างจริงจัง เช่น ธนาคารกลางอังกฤษและแคนาดา    

 

สำหรับประเทศไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ถือเป็นธนาคารกลางแห่งแรกๆ ของโลก ที่ได้เริ่มศึกษาและพัฒนา CBDC โดยเริ่มต้นทดสอบระบบการชำระเงินต้นแบบในระดับสถาบันการเงิน (Wholesale) ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่งมาตั้งแต่ปี 2561 ภายใต้ชื่อโครงการ ‘อินทนนท์’ 

 

นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ร่วมมือกับธนาคารกลางฮ่องกงและธนาคารกลาง UAE ทดสอบระบบโอนเงินสกุลดิจิทัลข้ามประเทศระหว่างกันไปแล้วด้วย

 

วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อไม่นานมานี้ว่า การศึกษา CBDC ของ ธปท. ในปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมาก และอยู่ในขั้นตอนการต่อยอดศึกษา ออกแบบและพัฒนา CBDC สำหรับภาคธุรกิจ

 

โดยวชิราระบุว่า ธปท. มีแผนจะเริ่มทำ Pilot Test เพื่อทดสอบการใช้ CBDC สำหรับการใช้งานในภาคประชาชน หรือ Retail CBDC ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 โดยเบื้องต้นจะเป็นการทดลองใช้งานภายใน ธปท. ก่อน โดยเน้นการทดสอบระบบกลาง ซึ่งจะมีผู้ให้บริการเข้ามาร่วมทดสอบด้วย เมื่อมั่นใจในเรื่องของระบบและรูปแบบต่างๆ แล้วจึงจะเริ่มขยายวงทดสอบออกไปภายนอก  

 

อย่างไรก็ดี วชิรายังมองว่าการเปิดใช้ Retail CBDC ในวงกว้างระดับประเทศอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก ธปท. ยังต้องศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เพื่อหาข้อสรุปในเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยทางด้านเทคโนโลยีที่นำมาใช้ และรูปแบบที่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X