×

ทำความเข้าใจ ‘Carbon Credit คืออะไร สำคัญอย่างไรกับ SMEs’ ในวันที่วิกฤตโลกร้อนมีผลต่อการเติบโตของธุรกิจ [ADVERTORIAL]

โดย THE STANDARD TEAM
29.07.2022
  • LOADING...
Carbon Credit

กฎข้อบังคับและมาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวิกฤต Climate Change จะเป็นตัวเร่งให้ SMEs ยุคนี้ต้องหันมาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจระหว่างประเทศ เพราะนี่อาจเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าธุรกิจของคุณจะได้ ‘ไปต่อ’ หรือ ‘พอแค่นี้’

 

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็กำลังผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ มาเป็นตัวกำหนดทิศทางการลดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าภายใน 2 ปี จะเริ่มมีผลบังคับใช้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้จะมองเป็นอุปสรรคหรือโอกาส ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Quantum Technology Foundation Thailand (QTFT) และ ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จะฉายภาพใหญ่ของวิกฤต Climate Change และแนวทางการเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการตรวจวัด เพื่อวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำความเข้าใจ ‘Carbon Credit คืออะไร สำคัญอย่างไรกับ SMEs’ ในพอดแคสต์ THE SME HANDBOOK by UOB Season 4 รวม Know-How การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจ SMEs

 

แต่ก่อนที่คุณจะไปทำความเข้าใจเรื่อง Carbon Credit และแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เราอยากให้คุณเข้าใจว่าความจริงแล้ว ‘ก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพราะทำให้อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศโลกอุ่นกว่าดาวดวงอื่นๆ’ การตีตราก๊าซเรือนกระจกเป็นผู้ร้ายจึงเหมือนเป็นการปกปิดความผิดของมนุษย์ ดร.จิรวัฒน์บอกว่า “มนุษย์ต่างหากที่ทำให้สมดุลของมันสูญเสีย”

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 1 ล้านปีก่อน ก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนไดออกไซด์บนโลกยังมีปริมาณที่เหมาะสม พืชสามารถดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตแล้วปล่อยออกซิเจนออกมาให้สิ่งมีชีวิตบนโลกได้หายใจ แต่พอต้นไม้ตายแล้วทับถมไปเรื่อยๆ พลังงานหรือคาร์บอนบางส่วนจึงถูกเก็บสะสมอยู่ในซากพืชซากสัตว์เหล่านั้น 

 

จนกระทั่ง 1 ล้านปีต่อมา มนุษย์ค้นพบว่าซากพืชซากสัตว์ที่กลายเป็นฟอสซิลมีพลังงานสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำการเผาเพื่อเอาพลังงานมาใช้ ทำให้สมดุลของคาร์บอนเปลี่ยนแปลงไปจากการนำคาร์บอนที่เก็บสะสมล้านปีที่แล้วกลับเข้าสู่บรรยากาศอีกครั้งหนึ่ง คาร์บอนที่เพิ่มมากขึ้นนำไปสู่ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

Carbon Credit

 

ดร.พูนเพิ่ม เล่าว่า ช่วงปี 1990 นักวิทยาศาสตร์เห็นตรงกันว่าก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่เพิ่มสูงขึ้นกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงกับโลก เห็นได้ชัดตั้งแต่หลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม จนเกิดการรวมตัวยื่นเรื่องไปที่องค์การสหประชาชาติเพื่อตั้งหน่วยงาน United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) ขึ้นในปี 1992

 

แม้จะมีการวัดและคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลก แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องเครื่องมือการวัดและแนวทางที่ยังไม่ชัดเจน จนปี 1997 เกิดข้อผูกพันทางกฎหมายชื่อว่า Kyoto Protocol หรือพิธีสารเกียวโต เพื่ออธิบายถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขวิกฤตของสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

 

หนึ่งในข้อมูลที่ค้นพบคือ สื่อของก๊าซเรือนกระจกที่ต้องการลดปริมาณให้ได้มากที่สุดมีอยู่ 7 ชนิด ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทน, ไนตรัสออกไซด์, ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน, เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน, ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์

 

คำถามต่อมาคือต้องลดเท่าไร? แล้วใครเป็นคนรับผิดชอบ? กว่าจะได้ข้อสรุปก็ล่วงเลยมาถึงปี 2015 หลายประเทศเห็นตรงกันว่ารอช้าไม่ทันการจึงเกิดเป็น Paris Agreement ความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมประกาศความรับผิดชอบนี้เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะลดเท่าไรก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของแต่ละประเทศ

 

หลังจากประเทศไทยประกาศว่าจะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี 2030 นำไปสู่ความอลหม่านของคนทำธุรกิจ เมื่อรัฐบาลเริ่มมีการผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมทั่งเร่งร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อขานรับ Paris Agreement โดยให้หน่วยงานหรือโรงงานต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และแผนการลดก๊าซเรือนกระจกให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ตนสังกัด

 

 

ทำไม SMEs ต้องเริ่มให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ดร.จิรวัฒน์ให้คำตอบว่า กฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือกำแพงภาษีที่อาจโดนเรียกเก็บหากสินค้า 9 ประเภท ได้แก่ ปูน, อะลูมิเนียม, เหล็ก, พลังงาน, ปุ๋ย, เคมีอินทรีย์, พลาสติก, ไฮโดรเจน และพอลิเมอร์ ที่ผู้ผลิตส่งไปยุโรปไม่มีการบริหารจัดการเรื่อง Carbon Footprint ซึ่งข้อบังคับนี้จะมีผลเดือนมกราคม ปี 2566

 

“มีผลต่อธุรกิจไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากประเทศไทยส่งออกเหล็กซึ่งเป็นอะไหล่รถยนต์เป็นอันดับต้นๆ ของโลก รวมถึงพอลิเมอร์ซึ่งก็คือเส้นใยผ้า ธุรกิจในกลุ่มนี้จึงได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมถึง RE100 นโยบายที่บริษัทจะต้องใช้พลังงานทดแทน 100% ในช่วงเวลาหนึ่ง หากไม่สามารถทำตามนโยบายนี้ได้อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

 

“นี่คือความท้าทายของ SMEs ต่อจากนี้ จากเดิมที่เป้าหมายธุรกิจคือการทำกำไร จากนี้ไปคนทำธุรกิจต้องแข่งกันที่การบริหารจัดการคาร์บอน ทุกอย่างเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิจต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการตรวจวัดปริมาณคาร์บอนในกระบวนการผลิตก่อน แล้วมาศึกษาต่อว่าจะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง อันไหนเหมาะกับภาคธุรกิจตัวเองที่สุด หรืออันไหนที่ยังไม่ใช่ Priority ของภาคธุรกิจนั้นๆ”

 

แต่จะวัดด้วยวิธีการใดและจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบไหน ดร.พูนเพิ่มให้แนวคิดเริ่มต้นเพื่อช่วยให้ SMEs ไม่หลงทาง ได้แก่

 

  • ธุรกิจของคุณคืออะไร เพราะวิธีลดก๊าซเรือนกระจกมีหลากหลาย หากคุณทำธุรกิจที่ต้องใช้ไฟฟ้าเยอะและต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้า อาจเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนมาใช้หลอด LED หรือในธุรกิจโลจิสติกส์ อาจต้องศึกษาเรื่องเส้นทางเพื่อลดการใช้น้ำมัน
  • ตรวจสอบกระบวนการในธุรกิจ ว่ามีกระบวนการใดบ้างที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • จัดลำดับจากกระบวนการที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากมากไปหาน้อย โดยวัดจาก ‘Carbon Footprint สำหรับองค์กร’
  • กำหนดเป้าหมายเพื่อหาเครื่องมือหรือข้อกำหนดเชิงนโยบาย ที่จะมาลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการนั้นๆ ได้ เช่น การลดการใช้พลังงานหรือเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานที่เป็นฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียน

 

สำหรับองค์กรที่ต้องการเข้าสู่กระบวนการวัด คำนวณ เพื่อวางแผนลดก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันมีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ทำหน้าที่ควบคุมในเรื่องการวัดก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจนั้นๆ โดยในการวัดก๊าซเรือนกระจกทำได้ 2 รูปแบบ ได้แก่

 

  • การวัดเชิงองค์กร เป็นการดูภาพรวมของกิจกรรมทุกอย่างในไลน์การผลิต ไปจนถึงการดำเนินชีวิตของพนักงานว่านำมาซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร
  • การวัดเชิงผลิตภัณฑ์ จะลงดีเทลไปที่ตัวผลิตภัณฑ์ เช่น ฝาขวดน้ำ 1 ชิ้น ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ซีลปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร ตัวขวดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร การกลั่นน้ำหรือการกรองน้ำปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร

 

องค์กรภาคธุรกิจที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดแนวทางการปฏิบัติและประเมิน Carbon Footprint สำหรับองค์กร ทั้งการวัดเชิงองค์กรและการวัดเชิงผลิตภัณฑ์ ได้ที่ http://ghginfo.tgo.or.th/index.php/th/download-th 

 

ดร.จิรวัฒน์กล่าวเสริมว่า องค์กรที่ยังเป็นอนาล็อกอาจประเมิน Carbon Footprint ของตัวเองได้ยากกว่าองค์กรที่มีระบบดิจิทัล เพราะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการ Data จำนวนมาก จึงต้องมีเทคโนโลยี Big Data เข้ามาเกี่ยวข้อง “โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ด้านดิจิทัล ฟังเผินๆ อาจรู้สึกไม่เกี่ยวกับเรื่องคาร์บอน แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นสำคัญอย่างหนึ่งที่เราจะวัด Carbon Footprint ในองค์กรเลยก็ว่าได้”

 

Carbon Credit สำคัญอย่างไรกับธุรกิจ SMEs 

 

Carbon Credit ถูกออกแบบมาสำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตได้ แต่จะมีบางธุรกิจที่ทำกิจกรรม เช่น ปลูกต้นไม้ ทำสวน แล้วมีการวัดว่าธุรกิจของเขาดูดคาร์บอนไปเท่าไร หลังจากนั้นจะได้ใบรับรองในการซื้อหรือขายคาร์บอนเครดิตที่ตนผลิตได้ เพื่อนำไปขายในอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องการคาร์บอนเครดิต

 

ในประเทศไทยมีโครงการ Thailand Voluntary Emission Reduction Program หรือ T-VER เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเภทของโครงการที่สามารถเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, การพัฒนาพลังงานทดแทน, การจัดการของเสีย, การจัดการในภาคขนส่ง, การปลูกป่า/ต้นไม้, การอนุรักษ์/ฟื้นฟูป่า และการเกษตร หากกิจกรรมที่ธุรกิจคุณทำสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ก็สามารถเก็บเป็น Carbon Credit แล้วขายต่อให้ธุรกิจอื่น

 

หมายความว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ได้เป็นเรื่องการเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจเท่านั้น แต่อาจได้ผลตอบแทนกลับมาในรูปของการขาย Carbon Credit

 



กรณีศึกษา การสูญเสียโอกาสจากความไม่พร้อมในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ


ดร.พูนเพิ่มเล่าเคสตัวอย่างของ Facebook ที่ต้องการเข้ามาตั้งเซิร์ฟเวอร์ในประเทศไทย แต่นโยบายของเมืองไทยไม่ตอบรับกับนโยบายของบริษัท เพราะเขาต้องการให้เซิร์ฟเวอร์ใช้พลังงานหมุนเวียน ทำให้ Facebook ขาดความเชื่อมั่นและตัดสินใจย้ายไปตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่ประเทศอื่นแทน

 

“ถ้ามองเชิงนโยบาย ประเทศไทยค่อนข้างพร้อมกว่าประเทศเพื่อนบ้านเยอะ แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องการปฏิบัติ คือเรามีกฎออกมาแล้ว แต่กลับไม่มีการซัพพอร์ต ไม่มีตัวอย่างให้เห็นว่ามันต้องทำอย่างไร หรือถ้ามีก็จะเป็นกรณีศึกษาโดยองค์กรขนาดใหญ่ เช่น ปลูกต้นไม้ 1 ล้านไร่ ปลูกต้นไม้ 2 ล้านต้น ซึ่งไม่ใช่สเกลที่ SMEs จะนำตัวอย่างมาประยุกต์ใช้ได้ชัดเจน”

 

ดร.พูนเพิ่มยกตัวอย่าง SMEs ที่เคยเข้าไปช่วยแก้ปัญหาเรื่องพลังงานไฟฟ้า โจทย์คือจำเป็นต้องเปิดไฟสปอตไลต์ขนาดใหญ่หน้าโรงงานตลอดทั้งคืน แต่แค่เปลี่ยนเป็นหลอดไฟ LED พลังงานสูง ก็สามารถประหยัดพลังงานได้ 20-30% การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและยังช่วยลดค่าไฟ

 

หรือตัวอย่างของธุรกิจโลจิสติกส์ การบริหารจัดการเส้นทางการขนส่งที่ดี เลือกเส้นทางการขนส่งที่สั้นลง จะช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

 

“การทำเพื่อสิ่งแวดล้อมไม่ได้สร้างต้นทุนอย่างเดียว หากวางแผนดีๆ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้อีกทาง”

 

อย่าลืมถามคำถาม 3 ข้อ ในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นข้อมูลดิจิทัลขององค์กร

  1. ธุรกิจของเราต้องเก็บข้อมูลอะไร
  2. ข้อมูลที่เก็บจะเอาไปใช้ทำอะไร
  3. ระบบแบบไหนที่เหมาะสม  

“หลายบริษัททำกลับกันคือนำระบบเข้ามาแล้วค่อยคิดว่าจะเก็บอะไร ทำให้ต้นทุนสูง การเริ่มต้นจากเป้าหมายที่ชัดเจนจะทำให้ต้นทุนไม่ได้สูงมาก และสุดท้ายมีพื้นฐานการเก็บข้อมูลที่ดี ก็สามารถต่อยอดไปใช้งานภาคธุรกิจอื่นๆ ได้นอกจากการเก็บข้อมูลคาร์บอน”

 

ข้อคิดสำหรับ SMEs ที่ตัดสินใจปรับเปลี่ยนธุรกิจ เพื่อโลกและเพื่อการแข่งขันในอนาคต

 

พยายามมองกฎข้อบังคับเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นโอกาสที่จะเพิ่มการแข่งขันกับคู่แข่งในระดับสากล เพราะว่าผู้บริโภคในปัจจุบันนี้เขาไม่ได้วัดแค่คุณภาพของสินค้า แต่วัดไปถึงว่ากระบวนการผลิตสินค้าเหล่านั้นมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน

 

“ดังนั้นคุณต้องเริ่มต้นวัดตัวเองก่อนว่าเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไร มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในมิติไหนบ้าง การปรับตัวให้ได้คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้ว่าควรที่จะลดเรื่องอะไร แล้วลดได้เท่าไร ตามศักยภาพและสถานะของเราเองด้วย ถ้าธุรกิจสามารถประเมินคาร์บอนได้ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์และองค์กร ก็จะมี Data ที่พร้อมสำหรับนำไปคำนวณและวิเคราะห์ธุรกิจในลำดับต่อไปได้” ดร.จิรวัฒน์กล่าว

 

ดร.พูนเพิ่มกล่าวว่า “การรับมือสิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นคาร์บอนหรือว่าเทคโนโลยีต่างๆ ก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดคือคนในองค์กรต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้มากพอ สำหรับ SMEs ที่ไม่สามารถจ้างที่ปรึกษาจากภายนอกได้ตลอดเวลา ต้องมอบหมายหน้าที่ให้คนกลุ่มหนึ่งดูแลโดยตรง สุดท้ายแล้วความรู้ต่างๆ มันคือพื้นฐานที่จะทำให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับอนาคตได้”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X