×

เดี๋ยวอ้วน เดี๋ยวผอม คุ้มไหม เมื่อชื่อเสียงและเงินทองของนักแสดงต้องแลกมาด้วยปัญหาสุขภาพ

11.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS READ
  • จาเร็ด เลโต เคยลดน้ำหนักตัว 30 กิโลกรัม ด้วยการไม่แตะอาหารอื่นเลยนอกจากอาหารว่างที่ไม่เป็นประโยชน์ วิธีที่เขาใช้คือ นำไอศกรีมไปละลายในไมโครเวฟ จากนั้นใส่ซอสถั่วเหลืองและน้ำมันมะกอกลงไป ก่อนยกซดรวดเดียว
  • ทอม แฮงก์ ออกมาเผยในปี 2013 ว่าเขาป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และเคยให้สัมภาษณ์กับ เดวิด เลตเตอร์แมน ว่าการเพิ่มและลดน้ำหนักในอดีตอาจส่งผลต่อการเกิดโรคนี้
  • โดยปกติคนเราไม่ควรลดน้ำหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัว ภายในระยะเวลา 3 เดือน หากมากกว่านั้นอาจจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพได้ เริ่มตั้งแต่ระดับย่อยอย่างท้องผูก ท้องร่วง คลื่นไส้ ไม่มีแรง ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน หากปล่อยไว้นานอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

คริสเตียน เบล, จาเร็ด เลโต, แมทธิว แมคคอนาเฮย์, ทอม แฮงก์, นาตาลี พอร์ตแมน, ชาร์ลิซ เธอรอน, เรเน เซลเวเกอร์ ฯลฯ รายนามเหล่านี้ล้วนเป็นคนดังที่ได้ฝากฝังฝีมือด้านการแสดง จนคว้ารางวัลตุ๊กตาทองมานอนกอดได้สำเร็จ แต่นอกเหนือจากโอกาสและความสามารถแล้ว สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเหล่านี้มีเหมือนกันนั่นคือ ความสามารถในการเปลี่ยนรูปร่างได้อย่างสุดโต่ง จากที่เคยผอมสุดกลับกลายเป็นอ้วนตุ๊ต๊ะได้ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน เพื่อให้สมกับบทบาทที่ได้รับ    

 

หุ่นสั่งได้ของดาราฮอลลีวูด  

ทันทีที่สคริปต์ส่งมาถึงมือ นอกจากจะต้องตีบทให้แตกด้วยการเข้าถึงตัวละครแล้ว หนึ่งในสิ่งที่ดาราฮอลลีวูดต้องจัดการคือ การปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์ให้เข้ากับบท หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุด ได้แก่ คริสเตียน เบล ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น Master of Transformation เพราะตลอดอาชีพนักแสดง เขาอดๆ ยัดๆ มานับครั้งไม่ถ้วน ปรากฏการณ์ลดหุ่นอันลือลั่นมากที่สุดของเขา ได้แก่ ตอนที่รับบทช่างคุมเครื่องจักรผู้นอนไม่หลับเป็นแรมปีใน The Machinist เมื่อเบลต้องลดน้ำหนักตัวลงกว่า 28 กิโลกรัม จนเหลือเพียง 54 กิโลกรัม เบลเผยว่า ช่วงนั้นเขากินแต่แอปเปิล น้ำเปล่า กาแฟ และดื่มวิสกี้หนึ่งแก้วในบางวัน ถ้าใครยังจำกันได้ น่าจะนึกออกว่าตอนนั้นเบลหมดคราบหนุ่มยัปปี้รูปร่างกำยำ ที่เผยหุ่นให้เห็นใน American Psycho เมื่อเขากลายมาเป็นผู้ชายที่ผอมจนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก แต่นั่นยังไม่เท่าไร เพราะถัดจากนั้นเพียง 6 เดือน เบลก็จ้างเทรนเนอร์ส่วนตัวให้ช่วยบิลด์กล้ามเพื่อรับบทแบทแมนใน The Dark Knights ผลคือกล้ามเนื้อเด้งกลับมา 45 กิโลกรัม พร้อมกล้ามเนื้อแน่นฟูตามแบบฉบับซูเปอร์ฮีโร่

 

คริสเตียน เบล กับการเดินทางของหุ่น

 

ผ่านไป 9 ปี เบลลดหุ่นอีกครั้งด้วยการรับเล่นใน American Hustle ที่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ People Magazine ว่า “ผมกินโดนัทอย่างเยอะ ทั้งชีสเบอร์เกอร์และอะไรก็ตามที่อยู่ใกล้มือ” ผลลัพธ์ที่ได้คือ น้ำหนักตัวพุ่งขึ้นมา 20 กิโลกรัม จนอ้วนลงพุงอย่างที่เห็น

 

จาเร็ด เลโต ก็เคยลดน้ำหนักตัว 30 กิโลกรัม ด้วยการไม่แตะอาหารอื่นเลยนอกจากอาหารว่างที่ไม่เป็นประโยชน์ วิธีที่เขาใช้คือ นำไอศกรีมไปละลายในไมโครเวฟ จากนั้นใส่ซอสถั่วเหลืองและน้ำมันมะกอกลงไป ก่อนยกซดรวดเดียว สาเหตุที่ต้องทำขนาดนี้เพราะเลโตต้องการทั้งความอ้วนและความบวม เพื่อเล่นหนังเรื่อง Chapter 27 ก่อนที่นักร้อง/นักแสดงคนนี้ และแมทธิว แมคคอนาเฮย์ นักแสดงร่วมใน The Dallas Buyer’s Club รวมพลังรีดน้ำหนักตัวออกไปคนละ 13 กิโลกรัม เพื่อให้สมบทบาทผู้ติดเชื้อ HIV

 

 จาเร็ด เลโต ยอมรับว่า การลดน้ำหนักหรือเพิ่มน้ำหนักตัวไม่ใช่เรื่องสนุกเลยสักนิด

 

ทอม แฮงก์ ก็เคยคุมอาหารเพื่อรับบทผู้ติดเชื้อ HIV ในหนังเรื่อง Philadelphia หนนั้นเขาลดไป 13 กิโลกรัม สภาพภายนอกป่วยซูบซีดตาโหลชนะใจกรรมการ แต่นั่นยังไม่เท่าตอนที่รับบทคนติดเกาะใน Cast Away ที่แฮงก์ต้องเลี้ยงเครายาว พร้อมลดหุ่นให้หายไป 22  กิโลกรัม จนคว้าออสการ์มาครองได้สำเร็จ ส่วนของฝั่งดาราสาว เรเน เซลเวเกอร์ ในมหากาพย์ Bridget Jones’s Diary ก็ได้ชื่อว่าอ้วนๆ ผอมๆ มาแต่ไหนแต่ไร เพราะหลังจากที่เธอโชว์หุ่นสวยใน Chicago ถัดมาไม่นาน เรเนจำเป็นต้องปั๊มน้ำหนักขึ้นมา 13  กิโลกรัม เพื่อสวมร่างเป็นสาวอวบในบทบริดเจ็ต โจนส์ ที่ครองใจมหาชน

 

ในปี 2013 ทอม แฮงก์ เผยว่า ตนป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

 

ชาร์ลิซ เธอรอน ก็ยอมหุ่นพัง เมื่อต้องรับบทฆาตกรใน Monster เพราะชาร์ลิซจำต้องเพิ่มน้ำหนักตัว 14 กิโลกรัม และปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้โทรมสุดๆ และอีกครั้งใน Tully ที่เธอต้องเพิ่มนำ้หนัก 22 กิโลกรัม ด้วยการตั้งเวลา เพื่อตื่นมากินมักกะโรนีอบชีสกลางดึก ซึ่งต่างกับ นาตาลี พอร์ตแมน ที่อาศัยการกินแต่แครอตและอัลมอนด์ บวกกับออกกำลังกาย 5-8 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้หุ่นฟิตอินในบทนักบัลเลต์ของหนังดัง Black Swan ที่เธอทิ้งน้ำหนักไปราว 10 กิโลกรัม   

 

นาตาลี พอร์ตแมน เคยให้สัมภาษณ์ว่า การลดหุ่นทำเอาเธอรู้สึกเหมือนกำลังจะตาย  

 

เสี่ยงกับโรคที่ตามมาเพียบ

แน่นอนว่า การลดหรือเพิ่มน้ำหนักอย่างสุดโต่งของดาราดังเหล่านี้ ย่อมอยู่ในสายตาของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ที่ทางสตูดิโอยอมจ่ายไม่อั้น แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีคนออกโรงเตือนเรื่องนี้อยู่ดี “ความเสี่ยงของการลดน้ำหนักในเวลาอันสั้นคือ การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงโดยรวม ระดับฮอร์โมนและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายไม่สมดุล ขาดสารอาหาร อวัยวะทำงานไม่ปกติ” กล่าวโดย เจนนิเฟอร์ แม็กแดเนียล ตัวแทนจาก Academy of Nutrition & Dietetics เพราะโดยปกติคนเราไม่ควรลดน้ำหนักเกิน 10% ของน้ำหนักตัว ภายในระยะเวลา 3 เดือน หากมากกว่านั้นอาจจะนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพได้ เริ่มตั้งแต่ระดับย่อยอย่างท้องผูก ท้องร่วง คลื่นไส้ ไม่มีแรง ปวดหัว อารมณ์แปรปรวน (สองอย่างหลังเป็นเพราะเรื่องฮอร์โมน) ซึ่งอาจส่งผลต่อการนอน ทำให้คุณนอนไม่หลับ ก่อให้เกิดความเครียดจนกลายเป็นบุคคลที่ไม่มีความสุข หากปล่อยไว้นานอาจอันตรายถึงชีวิต เพราะเวลาลดน้ำหนักสิ่งที่เราต้องการให้หายไปคือ ‘ไขมัน’ ไม่ใช่น้ำหรือกล้ามเนื้อ แต่หากคุณลดน้ำหนักเร็วเกินไป ผลลัพธ์อาจตรงกันข้าม หลังการประชุมว่าด้วยปัญหาโรคอ้วนของยุโรป (European Congress on Obesity) ปี 2014 ได้แสดงให้เห็นว่า การลดน้ำหนักที่เร็วเกินไป ทำให้คนเราสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ‘มากกว่า’ การลดอย่างค่อยเป็นค่อยไปถึง 3 เท่า ส่งผลให้หุ่นใหม่ไม่ได้ดูดีอย่างที่คิด

 

ชาร์ลิซ เธอรอน ได้รางวัลออสการ์จากหนังเรื่องนี้เอง

 

ตามมาด้วยระบบเผาผลาญที่ทำงานแย่ลง เนื่องจากอดอาหารเป็นระยะเวลานาน ร่างกายจึงกลัวที่จะเผาผลาญ เมื่อกลับไปกินอาหารปกติอีกครั้ง น้ำหนักตัวจะกลับขึ้นเร็วมาก เพราะร่างกายไม่ยอมเบิร์น หรือบางคนเข้าข่ายเป็นโรคขาดสารอาหาร ซึ่งอาจนำพาไปสู่โรคหัวใจล้มเหลวหรือโรคเบาหวาน ทั้งยังส่งผลต่อการทำงานของสมองที่ทำให้คุณเบลอๆ งงๆ  ไปตลอดทั้งวัน

 

ระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Backseat เบลกลับมาอ้วนอีกครั้ง ก่อนลดหุ่นทันทีหลังปิดกล้อง ส่วนเรเน เซเวลเกอร์ ในภาพ เป็นช่วงที่เธอกำลังถ่ายทำ Bridget Jones’s

 

ส่วนการเพิ่มน้ำหนักตัวให้พุ่งพรวดในเวลาไม่นานก็ใช่ว่าจะดี เพราะสิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือไขมันล้วนๆ นำพาไปสู่ภาวะอ้วนซ่อนรูป หรือคนที่ชั่งน้ำหนักตัวแล้วไม่อ้วนเท่าไร แต่มีเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายสูงมาก สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ โรคที่เกี่ยวข้องกับความอ้วน เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ และโรคเรื้อรังต่างๆ อีกหนึ่งความวิตกกังวลคือ การขาดแคลนสารอาหาร เพราะอาหารที่กินให้อ้วน ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ขนมหวาน ฟาสต์ฟู้ด ฯลฯ ซึ่งล้วนส่งผลเสียต่อร่างกาย หากบริโภคในปริมาณมากเป็นประจำทุกวัน

    

แล้วดาราเหล่านั้นรอดมาได้อย่างไร

ใครว่าพวกเขารอดจากอาการเจ็บป่วย หลังเวลาผ่านพ้นไป นักแสดงเหล่านั้นได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า มันไม่ใช่ช่วงเวลาที่ดีนักของพวกเขา ในช่วงนั้นอดีตแบทแมนอย่างเบลล้มป่วยหนักมาก และน้ำหนักตัวโยโย่ขึ้นไปกว่า 20 กิโลกรัมในเวลาอันรวดเร็ว จนเขาต้องปรึกษาแพทย์ถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น หรือทอม แฮงก์ ที่ออกมาเผยในปี 2013 ว่าเขาป่วยเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และเคยให้สัมภาษณ์กับ เดวิด เลตเตอร์แมน ว่าการเพิ่มและลดน้ำหนักในอดีตอาจส่งผลต่อการเกิดโรคนี้ เพราะเขากินแต่อาหารที่ไม่ดี และเมื่อตัวใหญ่ขึ้นก็ไม่ยอมออกกำลังกาย

 

ภาพนี้สร้างความตื่นตะลึงให้แฟนคลับเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีใครคิดว่าเลโตจะผอมขนาดนี้ ภาพโดย เทอร์รี ริชาร์ดสัน

 

ส่วนจาเร็ด เลโต ที่ต้องเพิ่มน้ำหนักตัวก็ได้โรคใหม่ติดมาด้วยนั่นคือ โรคเกาต์ “มันเป็นเรื่องงี่เง่ามาก มันทำให้ผมเป็นโรคเกาต์และคอเลสเตอรอลขึ้นสูงกว่า 300 ในช่วงเวลาสั้นๆ จนหมอแทบจะให้ผมกินยาลดไขมันในเลือดอยู่แล้ว” เขากล่าว เช่นเดียวกับแมทธิวที่เกือบตาบอด เพราะอดอาหาร เมื่อเขาให้สัมภาษณ์กับ Metro ปี 2013 ทำนองว่า แม้ตนเองไม่ได้มีปัญหาสุขภาพ แต่ยอมรับว่าร่างกายไม่มีแรงและความแข็งแรงเลย วิดพื้น 5 ครั้ง ก็แทบแย่ วิ่งได้ 30 ฟุต ขาก็หมดแรง และเมื่อน้ำหนักลดลงเหลือ 64 กิโลกรัม เขาเริ่มสูญเสียการมองเห็น…

 

แมทธิว แมคคอนาเฮย์ ที่ผอมจนคนจำแทบไม่ได้

 

ส่วนสาวบริดเจ็ต โจนส์ ต้องเพิ่มน้ำหนักตัวถึงสองครั้งให้จ้ำม่ำ ถึงขั้นจิตตกทุกครั้งที่มีผู้เชี่ยวชาญคอยเตือนว่า สิ่งที่เธอกำลังทำอยู่นั้นอันตราย ควรหยุดเสียตั้งแต่ตอนนี้หากไม่อยากตาย และนั่นทำให้เธอปฏิเสธที่จะต้องเพิ่มน้ำหนักใน Bridget Jones’s Baby

 

จุดจบที่ไม่แฮปปี้เอนดิ้งเหมือนในหนังหรือละคร

จะเห็นได้ว่าการเพิ่มน้ำหนักตัวหรือลดน้ำหนักตัวอย่างสุดโต่ง ล้วนไม่เป็นผลดีต่อใคร ดังนั้นหากจะตอบคำถามที่ว่า คุ้มค่าไหมกับชื่อเสียงหรือรางวัลที่ได้รับ เรื่องนี้คงต้องรอให้ดาราเจ้าบทบาทเหล่านั้นมาแถลงไขให้ฟังเอง แต่ถ้าถามคุณหมอหรือผู้เชี่ยวชาญ คำตอบที่ได้ล้วนไม่มีใครอยากให้คุณใช้เส้นทางลัดเป็นหนทางสู่เป้าหมายที่วางไว้ เพราะร่างกายมนุษย์ไม่สามารถทนทานกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มันจึงไม่คุ้มกันแน่ๆ ถ้าต้องแลกมากับสุขภาพที่ต้องเสียไปอย่างไม่มีวันเรียกกลับคืน

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising