รัสเซียยังคงเผชิญบทลงโทษมากขึ้นจากทั้งสหรัฐฯ และชาติยุโรป ภายหลังประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ลงนามสนธิสัญญาผนวกรวม 4 แคว้นของยูเครน เข้าเป็นดินแดนของตนเอง ท่ามกลางเสียงประณามและคัดค้านจากนานาชาติ
ที่ผ่านมา นับตั้งแต่เปิดฉาก ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ บุกยูเครนเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนี้ (3 ตุลาคม) เป็นวันที่ 222 สถานการณ์ยังทวีความตึงเครียดต่อเนื่อง ในขณะที่รัสเซียเองไม่มีท่าทีว่าจะยุติสงคราม แม้จะเผชิญแรงกดดันจากมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก
คำถามคือ นับตั้งแต่เริ่มสงครามจวบจนวันนี้ รัสเซียเผชิญการคว่ำบาตรอะไรไปบ้าง และเกิดผลกระทบมากหรือน้อย เพียงพอที่จะทำให้ถอดใจจากสงครามหรือไม่?
มาตรการคว่ำบาตรล่าสุดของ EU และสหรัฐฯ
- สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย หลังการรับรองผลประชามติผนวกรวม 4 แคว้นของยูเครน ได้แก่ ลูฮันสก์ โดเนตสก์ ซาปอริซเซีย และเคอร์ซอน เข้าเป็นดินแดนของตน
- ภายใต้มาตรการดังกล่าว รวมถึงการคว่ำบาตรสมาชิกรัฐสภารัสเซีย จำนวน 278 คน ที่ให้การรับรองประชามติ และอีก 14 คน ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมทางทหาร
- ขณะที่สหรัฐฯ เผยว่าจะกำหนดเป้าหมายการคว่ำบาตรไปยังหลายองค์กรที่อยู่นอกรัสเซีย ซึ่งให้การสนับสนุนทางทหารต่อรัสเซียหรือสนับสนุนการผนวกดินแดนยูเครน
- ทางด้านคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ ซึ่งรวมถึงการเสนอห้ามนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเพิ่มเติม และห้ามการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงไปยังรัสเซีย
รัสเซียโดนคว่ำบาตรอะไรบ้าง
มาตรการด้านการเงิน
- จุดมุ่งหมายของมาตรการคว่ำบาตรด้านการเงินของชาติตะวันตก คือความพยายามจำกัดการเข้าถึงเงินทุนของรัสเซีย
- โดยวอชิงตันได้ประกาศห้ามรัสเซียชำระหนี้ด้วยสกุลเงินต่างประเทศที่ถือครองในหลายธนาคารของสหรัฐฯ
- ขณะที่ธนาคารใหญ่ของรัสเซียหลายแห่งถูกถอดออกจากระบบธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘SWIFT’ ส่งผลให้การจ่ายเงินสั่งซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียประสบปัญหาล่าช้า
- สหราชอาณาจักรกีดกันธนาคารรายใหญ่ของรัสเซียออกจากระบบการเงินของประเทศ พร้อมระงับทรัพย์สินของธนาคารรัสเซียทั้งหมด และห้ามบริษัทรัสเซียกู้ยืมเงิน รวมถึงจำกัดเงินฝากที่ชาวรัสเซียสามารถทำได้ที่ธนาคารในสหราชอาณาจักร
คว่ำบาตรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
- สหภาพยุโรป (EU) เตรียมห้ามการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียทางทะเล เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม
- EU จะห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันกลั่นทั้งหมดจากรัสเซียในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023
- สหรัฐฯ ห้ามการนำเข้าน้ำมันและก๊าซของรัสเซียทั้งหมด
- สหราชอาณาจักรจะเลิกใช้น้ำมันรัสเซียภายในสิ้นปีนี้ และจะไม่นำเข้าก๊าซธรรมชาติของรัสเซียอีกต่อไป
- เยอรมนีมีแผนแช่แข็งการเปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 2 จากรัสเซีย
- EU หยุดการนำเข้าถ่านหินจากรัสเซีย
- นับจากเดือนธันวาคมทั้ง EU และ G7 ต่างก็ต้องการที่จะกำหนดเพดานราคาน้ำมัน (Price Cap) ซึ่งหลายประเทศยอมจ่ายเพื่อซื้อน้ำมันจากรัสเซีย
- ชาติตะวันตกยังแจ้งเตือนผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากรัสเซีย ว่าบริษัทประกันของตะวันตกจะไม่ครอบคลุมการขนส่งน้ำมัน หากพวกเขาจ่ายเงินมากกว่าเพดานราคา
- ขณะที่ EU ไม่ได้กำหนดมาตรการคว่ำบาตรก๊าซจากรัสเซีย เพราะยังต้องพึ่งพาก๊าซประมาณ 40% ของความต้องการก๊าซทั้งหมดในภูมิภาค
คว่ำบาตรบุคคลและธุรกิจรัสเซีย
- สหรัฐฯ EU สหราชอาณาจักร และประเทศอื่นๆ ได้ร่วมกันคว่ำบาตรบุคคลและธุรกิจของรัสเซียมากกว่า 1,000 ราย ซึ่งรวมถึงผู้มีอำนาจใกล้ชิดเครมลิน ที่เรียกว่า โอลิการ์ช (Oligarch) อาทิ โรมัน อบราโมวิช อดีตเจ้าของทีมฟุตบอลเชลซี
- ทรัพย์สินของประธานาธิบดีปูติน และ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ถูกอายัดทั้งในสหรัฐฯ, EU, UK และแคนาดา ในจำนวนนี้ยังรวมถึงการอายัดเรือซูเปอร์ยอชต์หลายลำที่พบความเกี่ยวข้องกับมหาเศรษฐีรัสเซียที่ถูกคว่ำบาตร
มาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ ที่มีผลต่อสินค้าและบริการ
- UK, EU และสหรัฐฯ แบนสินค้าส่งออกที่ใช้ได้ 2 ทาง อาทิ สินค้าที่มีวัตถุประสงค์ทางด้านพลเรือนและทางการทหาร เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์
- ห้ามเที่ยวบินรัสเซียทั้งหมดไม่ให้ผ่านน่านฟ้าสหรัฐฯ, UK, EU และแคนาดา
- ห้ามนำเข้าทองคำรัสเซีย
- ห้ามส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือยไปยังรัสเซีย
- UK กำหนดภาษี 35% สำหรับสินค้านำเข้าบางรายการ รวมถึงวอดก้า
- หลายบริษัทต่างชาติได้ระงับการค้าขายในรัสเซียหรือถอนตัวออกไป
การคว่ำบาตรทำร้ายรัสเซียมากน้อยแค่ไหน?
- ศักยภาพในการสนับสนุนงบประมาณสำหรับทำสงครามของรัสเซียได้รับความช่วยเหลือจากราคาน้ำมันและก๊าซที่พุ่งสูงในช่วงที่ผ่านมา
- เดวิด ไฟฟ์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ขององค์กรวิจัย Argus Media กล่าวว่า รายรับจากน้ำมันดิบของรัสเซียเพิ่มขึ้น 41% ในปีที่ผ่านมา และมีสัดส่วนเทียบได้ราว 40% ของการส่งออกทั้งหมด
- ขณะที่การขายน้ำมันคิดเป็น 40% ของการส่งออกทั้งหมดของรัสเซีย
- อย่างไรก็ตาม ไฟฟ์กล่าวว่า การคว่ำบาตรกำลังส่งผลให้รัสเซียอ่อนแอลงในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการปิดกั้นการเข้าถึงอุปกรณ์ไฮเทคที่กองทัพรัสเซียต้องการ
รัสเซียตอบโต้อย่างไรบ้าง
- รัสเซีย ได้แบนการส่งออกสินค้ามากกว่า 200 รายการ รวมถึงสินค้าด้านโทรคมนาคม การแพทย์ ยานพาหนะ การเกษตร อุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ไม้
- ขณะที่รัฐบาลเครมลินดำเนินการปิดกั้นการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลชาวต่างชาติ และห้ามบริษัทรัสเซียจ่ายเงินแก่ผู้ถือหุ้นในต่างประเทศ
- นอกจากนี้ ยังดำเนินการยับยั้งการขายทรัพย์สิน สำหรับนักลงทุนต่างชาติที่ถือครองการลงทุนในรัสเซียมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
ภาพ: Photo by Contributor / Getty Images
อ้างอิง: