×

โครงการอาหารโลกเตือน ภายใน 6 เดือนข้างหน้า ชาวเมียนมากว่า 3.4 ล้านราย อาจประสบภาวะความหิวโหย จากวิกฤตในประเทศ

23.04.2021
  • LOADING...
โครงการอาหารโลกเตือน ภายใน 6 เดือนข้างหน้า ชาวเมียนมากว่า 3.4 ล้านราย อาจประสบภาวะความหิวโหย จากวิกฤตในประเทศ

วานนี้ (22 เมษายน) โครงการอาหารโลก (World Food Program: WFP) เตือน ภายใน 6 เดือนข้างหน้า ชาวเมียนมากว่า 3.4 ล้านราย อาจประสบภาวะความหิวโหย หลังราคาสินค้าต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจได้รับผลกระทบ เกิดการว่างงาน หลายภาคส่วนหยุดชะงัก เนื่องจากผลพวงของการก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของกองทัพเมียนมา ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ

 

WFP ยังระบุอีกว่า ความไม่มั่นคงทางด้านอาหารในเมียนมามีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นอีก การค้าการลงทุนจากต่างประเทศหยุดชะงัก โครงการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานอย่างนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากเกาหลีใต้ รวมถึงโครงการสร้างสะพานเชื่อมย่างกุ้งกับตาน-ลยีน รวมถึงขยายเขตเศรษฐกิจพิเศษติละวาที่ได้รับการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ถูกระงับชั่วคราว แบรนด์สินค้าจากตะวันตกหลายแบรนด์ก็ปฏิเสธคำสั่งส่งสินค้าลอตใหม่ไปยังเมียนมา หลังตกอยู่ภายใต้เงารัฐประหารของกองทัพ

 

ทางด้าน สตีเฟน แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการ WFP ประจำเมียนมาชี้ คนยากจนในเมียนมาจะว่างงานและมีแนวโน้มไม่สามารถหาอาหารเพื่อเลี้ยงชีพได้มากยิ่งขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องเข้าช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม บรรเทาวิกฤตดังกล่าวโดยเร็ว และป้องกันความมั่นคงทางด้านอาหารที่กำลังเสื่อมถอยลง

 

จากการเฝ้าติดตามตลาดเมียนมาของ WFP พบว่า ราคาข้าวเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มสูงขึ้น 5% นับตั้งแต่มกราคมที่ผ่านมา ในบางเมืองของรัฐคะฉิ่น ราคาข้าวพุ่งสูงถึง 43% ขณะที่ราคาน้ำมันประกอบอาหารเพิ่มสูงขึ้น 32% ส่วราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นราว 30% ทั่วประเทศ 

 

โดย WFP เป็นหน่วยงานด้านมนุษยธรรมภายใต้องค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ให้ความช่วยเหลือและจัดการกับปัญหาความหิวโหยทั่วโลก ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ประจำปี 2020 หลังคณะกรรมการพิจารณาว่า WFP มีความพยายามอย่างยิ่งยวดในการต่อสู้กับความหิวโหยและขับเคลื่อนสันติภาพในพื้นที่พิพาทและมีความขัดแย้ง ทั้งยังป้องกันการใช้ความหิวโหยเป็นหนึ่งในเครื่องมือในสงครามและความขัดแย้ง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

ภาพ: Ye Aung Thu / AFP

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising