แนวโน้มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ทั่วโลกยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะเพื่อรองรับการขยายตัวของเทคโนโลยี Cloud และ Data Center ประเทศไทยยังคงเป็นหนึ่งในจุดหมายในฐานะผู้นำฐานผลิตฮาร์ดดิสก์ระดับโลก ซึ่งล่าสุด BOI ไฟเขียวส่งเสริมการลงทุนโครงการใหญ่ของบริษัท Western Digital (WD) มูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้านบาท เพื่อขยายฐานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่อยุธยาและปราจีนบุรี
วันที่ 26 สิงหาคม นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการซึ่งรับมอบอำนาจจากบอร์ด BOI อนุมัติคำขอรับส่งเสริมการลงทุนของบริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในการขยายกิจการผลิตฮาร์ดดิสก์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง มูลค่าลงทุน 23,516 ล้านบาท ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเขตอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค จังหวัดปราจีนบุรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อ่าน (ฝัน) ใจ ทักษิณ “ผมอยู่เมืองนอกมา 17 ปี วันแรกที่กลับมา เห็นคนไทยไม่ยิ้มเหมือนเดิม…”
- ทำไมอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ โตเร็วสุดในเวียดนาม และยังคงเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย
- Google เลือกมาเลเซีย! ทุ่ม 2 พันล้านดอลลาร์ สร้าง Data Center แห่งแรกในอาเซียน
WD เป็นผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่ระดับโลกสัญชาติอเมริกัน เข้าซื้อกิจการในธุรกิจจัดเก็บข้อมูลของบริษัทชั้นนำหลายแห่ง เช่น Fujitsu, Hitachi, SanDisk และ KOMAG ทำให้ปัจจุบัน WD มีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่กว่า 40%
โดย WD เข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตหลักในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 และขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง มีการจ้างงานกว่า 28,000 คน ซึ่งไทยเป็นโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์เพียงแห่งเดียวที่มีการประกอบขั้นสุดท้ายและการทดสอบ
นอกจากผลิตฮาร์ดดิสก์แล้ว WD ยังทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอีกหลายอย่าง เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับฮาร์ดดิสก์ การพัฒนาบุคลากรในหลายรูปแบบ ทั้งโครงการสหกิจศึกษาในสาขา STEM และโครงการ Talent Mobility การใช้พลังงานหมุนเวียนในโรงงาน การพัฒนาโรงงานอัจฉริยะจนได้รับรางวัล Global Lighthouse Network และการพัฒนา SMEs ไทยในด้าน Smart Factory เป็นต้น
จ้างงานคนไทยเพิ่มอีกกว่า 10,000 คน
สำหรับการขยายการลงทุนครั้งใหญ่ของ WD ในครั้งนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยคาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกอีกกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี จะจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่มอีกกว่า 10,000 คน และจะสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น ชุดแผงวงจรพิมพ์ (PCBA), ชิ้นส่วนโลหะและพลาสติก รวมทั้งชุด Power Supply มูลค่ากว่า 8.1 หมื่นล้านบาทต่อปี คิดเป็นสัดส่วนกว่า 45% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น
“แนวโน้มอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลกยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของระบบ Cloud และ Data Center รวมทั้งเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง Generative AI และ 5G ที่จะทำให้เกิดความต้องการใช้ระบบจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ของโลก” นฤตม์กล่าว
ปัจจุบัน 80% ของฮาร์ดดิสก์ทั้งโลกผลิตจากประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์รายใหญ่อย่าง WD และ Seagate ซึ่ง Seagate ก็เพิ่งจะขยายการลงทุนครั้งใหญ่เมื่อปี 2566 ด้วยมูลค่าเงินลงทุนกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558 – เดือนมิถุนายน 2567) มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์และชิ้นส่วนจำนวน 42 โครงการ มูลค่าลงทุนรวมกว่า 8.26 หมื่นล้านบาท