×

ทำไมอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ โตเร็วสุดในเวียดนาม และยังคงเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย

01.07.2024
  • LOADING...

อานิสงส์ความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกำลังทำให้เวียดนามได้รับประโยชน์จากห่วงโซ่อุปทานการผลิตอุตสาหกรรมเทค ส่งผลให้ขณะนี้สปอตไลต์ส่องมาที่เวียดนามที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ 

 

เมื่อเวียดนามกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของบิ๊กเทคอย่าง Apple นอกประเทศจีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีซัพพลายเออร์หลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น โรงงาน Luxshare, Foxconn, Compal มากกว่า 30 ราย ต่างย้ายฐานการผลิตจากจีนมาตั้งโรงงานในเวียดนาม 

 

วันนี้เวียดนามจึงเป็นแม่เหล็กดึงดูด FDI สร้างเม็ดเงินเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ และในบรรดาเพื่อนบ้านอาเซียนก็ถือว่า ‘เศรษฐกิจเวียดนามโตแรงแซงไทย’ 

 

THE STANDARD WEALTH ชวนอ่านมุมมอง สมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATAV ในฐานะบริษัทเอกชนไทยที่ไปลงทุน ‘ยึดหัวหาด’ พัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม มากกว่า 30 ปี มองการลงทุนและอนาคตเวียดนามขณะนี้อย่างไร?

 

สมหะทัยระบุว่า ต้องยอมรับว่าวันนี้ประเทศเวียดนามเนื้อหอม และขณะนี้กำลังเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนขยายฐานการผลิตมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด ส่งผลให้ในปี 2024 บริษัทตั้งงบฯ ลงทุนเพื่อพัฒนาที่ดินและระบบสาธารณูปโภคในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติม ทั้งนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือและภาคใต้ โดยวางเป้าหมายรายได้เติบโตถึง 15-20% จากปีก่อน หลังจากที่ได้เข้าไปพัฒนาโครงการนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง และโครงการนิคมอุตสาหกรรมร่วมทุนกับพันธมิตรอีก 1 แห่ง รวมเป็น 4 แห่ง ประกอบด้วย 

 

  • นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ เบียนหัว 
  • นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ลองถั่น 
  • นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ฮาลอง 
  • นิคมอุตสาหกรรมกวางจิ (Joint Venture) 

 

โดยการลงทุนทั้งหมดคิดเป็นมูลค่า 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บนที่ดินที่ได้รับการพัฒนาแล้วทั้งหมด 3,000 เฮกตาร์ (18,750 ไร่) ซึ่งเป็นการลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างประเทศ (FDI) ทั้งภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมที่ใช้พื้นที่มากกว่า 200 ราย คิดเป็นมูลค่าลงทุนมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ เกิดการจ้างงานในเวียดนามมากกว่า 60,000 คน

 

อีกทั้งยังมียอดขายที่รอโอน (Backlog) 375 ไร่ บริษัทอยู่ในระหว่างเร่งดำเนินการเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า และตั้งเป้าว่าภายในปีนี้จะมี Backlog อีกประมาณ 625 ไร่ สมหะทัยกล่าว

 

 

สมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATAV 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 


 

FDI ไหลเข้าเวียดนาม คาด GDP โตพุ่ง 6-6.5%

 

สมหะทัยบอกอีกว่า ปีนี้การลงทุนในเวียดนามคึกคักอย่างมาก มีนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนต่อเนื่อง คิดเป็น 70% ของนักลงทุนทั่วโลก หากแบ่งสัดส่วนนักลงทุนพบว่า สิงคโปร์เข้ามาลงทุนมากสุด รองลงมาคือ ฮ่องกง ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ซึ่งล้วนเป็นการลงทุนจากบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิต ผลิตสินค้า และส่งออก ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเข้ามาเลือกทำเลที่เหมาะสมกับแต่ละบริษัท เช่น กลุ่ม Consumer Product ที่เน้นส่งสินค้าไปยุโรป จะเลือกลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ รวมไปถึงอุตสาหกรรมไฮเทค เทคโนโลยี ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคเหนือของเวียดนามถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีประชากรคนหนุ่มสาวหนาแน่น และยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยส่วนใหญ่พื้นที่นี้จะเป็นการลงทุนจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) 

 

“เวียดนามเติบโตเร็วมาก ด้วยความที่ประเทศเวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ทำให้โครงการทั้ง 4 ประสบความสำเร็จ และคาดว่าปีนี้จะสอดรับกับเป้าหมายการเติบโตของตัวเลขเศรษฐกิจ (GDP) ของประเทศเวียดนาม ที่วางไว้ไม่น้อยกว่า 6-6.5% จากปีก่อนที่เติบโต 5.05%” 

 

สัญญาณการลงทุน FDI ปีนี้คาดว่าจะทำได้ใกล้เคียงหรือมากกว่าปี 2023 เพราะเพียงแค่ไตรมาสแรกก็สามารถดึง FDI ได้ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ และยอดการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไตรมาส 3-4 ซึ่ง FDI เป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากลูกค้าทั้งหมดของ AMATAV มาจากนักลงทุนต่างชาติ 

 

ปีทองของอุตสาหกรรม ‘เซมิคอนดักเตอร์’ 

 

เมื่อถามว่าอุตสาหกรรมไหนที่มาแรงที่สุดในเวียดนาม สมหะทัยบอกว่า ธุรกิจที่จะมีการเติบโตเร็วที่สุดในนิคมอุตสาหกรรมของ AMATAV คือกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ อย่างที่ผ่านมาก็มีบริษัทขนาดใหญ่ที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ มาตั้งฐานผลิต เพราะพื้นที่นิคมของ AMATAV มียุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ใกล้ทั้งสนามบินและท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ 2 แห่ง จะตั้งโรงงานอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่เวียดนามเหนือและใต้

 

“ปีนี้คาดว่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะเติบโตโดดเด่นและรวดเร็วมากในเวียดนาม ส่วนหลักๆ ก็มาจากเป้าหมายของรัฐบาลเวียดนามที่อยากเป็นศูนย์กลางด้านอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์”

 

 

นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ เบียนหัว (Bien Hoa) อยู่ทางภาคเหนือของเวียดนาม)

 

สมหะทัยระบุว่า แม้ว่าปัจจุบัน AMATAV จะยังไม่ได้มีลูกค้าที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์โดยตรง แต่เพื่อเตรียมพร้อมการย้ายฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในอนาคต อานิสงส์ของภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) สงครามการค้า (Trade War) ความขัดแย้งจีน-ไต้หวัน ตลอดจนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงเวียดนามยังมีแร่หายาก (Rare Earth) พื้นที่อุตสาหกรรมที่สำคัญสำหรับการผลิตชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คือปัจจัยบวกที่จะตามมาอย่างแน่นอน”

 

FTA สร้างแต้มต่อ บวกกับโครงสร้างประชากร คือจุดแข็งของเวียดนาม

 

เมื่อถามถึงแต้มต่อของไทยและเวียดนามในวันนี้คืออะไร สมหะทัยมองว่า ปัจจัยหลักๆ คือเวียดนามมีจุดแข็ง ‘ข้อตกลงทางการค้าเสรี (FTA) กว่า 60 ประเทศ มากกว่า 50 ฉบับ’ รวมถึงการเมืองเวียดนามมีเสถียรภาพและมีการเปลี่ยนแปลงน้อยทำให้นักลงทุนมั่นใจในการลงทุน 

 

นอกจากนี้ยังมีประชากรมากกว่า ที่สำคัญคือมีวัยทำงานคนหนุ่มสาวสูง อายุเฉลี่ยประมาณ 30 ปี รวมถึงประชากรเวียดนามส่วนใหญ่มีรายได้ปานกลาง ทำให้กำลังการซื้อภายในประเทศสูง โครงสร้างประชากรกำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุน ประกอบกับปัจจัยค่าแรงและค่าครองชีพที่ค่อนข้างถูก ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการขึ้นค่าแรงทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เสถียรภาพการเมืองอาจไม่นิ่งเหมือนเวียดนาม

 

แม้ว่าเวียดนามยังติดปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน แต่รัฐบาลเวียดนามก็เตรียมลงทุนหน่วยผลิตไฟฟ้าในพื้นที่เวียดนามใต้เพื่อป้อนไฟฟ้าให้กับเวียดนามเหนือ

 

ในส่วนนี้ AMATAV ก็ได้ลงทุนโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ในนิคมอุตสาหกรรมลองถั่นและนิคมอุตสาหกรรมมีฮาลอง ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของ AMATAV ที่ลงทุนเรื่องโครงข่ายไฟฟ้า นอกจากนี้ยังได้ทำสัญญากับการไฟฟ้าเวียดนามเพื่อเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์อีกด้วย 

 

สำหรับประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ยังมีจุดเด่นเรื่องความแข็งแรงในการพัฒนาประเทศ ความมั่นคงด้านพลังงาน โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมในหลายๆ ด้าน

 

นิคมกวางจิ เชื่อมการค้าเพื่อนบ้าน เวียดนาม ลาว และเมียนมา 

 

สมหะทัยฉายภาพความคืบหน้าของโครงการนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 4 แห่งว่า เรากำลังมุ่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมกวางจิ (Joint Venture) ซึ่งเป็นนิคมร่วมทุนกับพันธมิตร 3 ราย ประกอบด้วย Singapore Industrial Park J.V Co., Ltd (VSIP JV), Amata City Bien Hoa Joint Stock Company และ Sumitomo Corporation อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการในพื้นที่ดังกล่าว โดยระยะแรกจะเริ่มต้น 625 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้นักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานได้ในไตรมาส 4 ปี 2024 

 

โดยนิคมอุตสาหกรรมนี้เป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจอาศัยการเชื่อมโยงภูมิภาคของ 4 ประเทศ นั่นคือ ไทย เวียดนาม สปป.ลาว และเมียนมา พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีความได้เปรียบในปริมาณสำรองน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานลม 

 

นิคมอมตะซิตี้ ‘เบียนหัว’ เน้นรองรับอุตสาหกรรมสีเขียว  

 

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ เบียนหัว ถือเป็นนิคมแรกที่ตั้งอยู่ที่เมืองเบียนหัว จังหวัดด่งนาย บนพื้นที่ 3,206.25 ไร่ ปัจจุบันนักลงทุนใช้พื้นที่ไปแล้ว 99% โดยจำนวนผู้ประกอบการเข้าลงทุนมากกว่า 190 บริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลี โดยคิดเป็นมูลค่าลงทุนมากกว่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ มีการจ้างงานประมาณ 60,000 ราย นับเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากสุด เนื่องจากเป็นโครงการนำร่องนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco-Industrial Park) และเป็นต้นแบบในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอื่นของเวียดนาม โดยปัจจุบันพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวไปแล้วกว่า 87% 

 

นิคมอมตะซิตี้ ‘ลองถั่น’ อ้าแขนรับอุตสาหกรรมไฮเทค ปูพรมสนามบินแห่งใหม่

 

ส่วนนิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ลองถั่น พัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคตั้งอยู่ที่อำเภอลองถั่น หวัดด่งนาย บนพื้นที่ 2,562.5 ไร่ มีผู้ประกอบการลงทุนแล้ว คิดเป็นมูลค่า 280 ล้านดอลลาร์ มียอดจอง (Land Sale และ Presale) 225 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ภาคใต้เช่นเดียวกับนิคมเบียนหัว 

 

AMATAV เข้ามาลงทุนผ่าน 4 นิคมอุตสาหกรรม จ้างงานในเวียดนามมากกว่า 60,000 คน

 

โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์การลงทุน เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามมีการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นถนนทางหลวงขนาดใหญ่ ทางด่วน รวมถึงถนนวงแหวน และมีการพัฒนา ‘สนามบินนานาชาติแห่งใหม่’ ที่ห่างจากนิคมอุตสาหกรรมเพียง 10 กิโลเมตร มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจในภาคใต้ เอื้อต่อการลงทุนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

ดึง Marubeni บิ๊กคอร์ปญี่ปุ่น ปักหมุดอมตะซิตี้ ‘ฮาลอง’

 

ท้ายสุดคือ นิคมอุตสาหกรรม อมตะซิตี้ ฮาลอง ตั้งอยู่ภาคเหนือ จังหวัดกว๋างนิญ บนพื้นที่ 4,462.5 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจรองรับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยให้สิทธิประโยชน์เหมาะสมกับการลงทุนที่สุดของเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นภาษีนำเข้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเส้นทางคมนาคม สนามบินต่างๆ เช่น สนามบินโหน่ยบ่าย และสนามบินวานดอน 

 

และเมื่อเร็วๆ นี้บริษัทยังประสบความสำเร็จในความร่วมมือครั้งสำคัญกับพันธมิตรอย่างบริษัท MC Economic Estate Development Vietnam Corporation (MRBN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท Marubeni Corporation ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange) ในการเข้าถือหุ้นสัดส่วน 20%

 

จากการลงทุนข้างต้น เมื่อมองอนาคตเวียดนาม 5-10 ปีข้างหน้า หากดูแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2023 ที่ GDP เติบโตถึง 5.05% ด้วยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 355,500 ล้านดอลลาร์ มีมูลค่านำเข้าอยู่ที่ 327,500 ล้านดอลลาร์ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.25% ขณะที่ FDI ประมาณ 36.61 ล้านดอลลาร์

 

คงต้องบอกว่า FDI คือปัจจัยสำคัญของบริษัท เนื่องจากลูกค้าทั้งหมดของ AMATAV มาจากนักลงทุนต่างชาติ

 

เมื่อบวกกับเวียดนามที่มี FTA เป็นแต้มต่อ มีการลงทุนอุตสาหกรรมอนาคตมากขึ้น โครงสร้างประชากรหนุ่มสาวที่มีมาก ยิ่งตอกย้ำว่าเวียดนามกำลังเป็นเสือตัวใหม่แห่งเอเชีย เป็นประเทศที่มาแรงอย่างมากในทศวรรษนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising