การยกน้ำหนักนอกจากจะเป็นหนทางผ่อนคลายอารมณ์และระบายความเครียดแล้ว ผลการศึกษาหลายชิ้นยังชี้ตรงกันว่า การสร้างความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้อ ยังช่วยบรรเทาอาการของโรคซึมเศร้า
ผลการศึกษาเหล่านี้ค้นพบว่า การออกกำลังกายที่มีแรงต้านต่อกล้ามเนื้อ (Resistance Exercise) มักจะช่วยบั่นทอนความรู้สึกหม่นหมองที่มี แม้ว่าคนคนนั้นจะรู้สึกย่ำแย่เพียงใดในตอนแรก และไม่เกี่ยวกับว่าบุคคลนั้นเข้ายิมบ่อยแค่ไหนเช่นกัน
เวตเทรนนิงเป็นหนึ่งในวิธีรักษาหุ่นเผ็ดของ คิม คาร์ดาเชียน เช่นกัน
มีหลักฐานหลายชิ้นที่พิสูจน์ว่า โดยทั่วไปแล้วการออกกำลังกายสามารถช่วยรักษาโรคซึมเศร้าได้ โดยผลงานศึกษาของปี 2016 ที่ทำการทดสอบกับคนกว่า 1 ล้านคน สรุปเอาไว้ว่า การมีร่างกายที่แข็งแรงสามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้ ในขณะที่ผลการศึกษาอื่นๆ พบว่า การออกกำลังกายสามารถลดอาการของโรคได้ในกลุ่มคนที่ได้วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า
ถึงกระนั้นผลการศึกษาในอดีตมุ่งเน้นไปที่การออกกำลังกายแบบแอโรบิก อาทิ การเดินหรือวิ่งจ๊อกกิ้ง โดยถือว่ายังมีการสำรวจเกี่ยวกับความเป็นไปได้ถึงผลดีของการออกกำลังกายแบบฝึกกล้ามเนื้อ (Strength Training) น้อยชิ้นนักที่พูดโยงถึงสุขภาพจิต
ขณะที่ในปี 2017 มีการวิเคราะห์งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่พบว่า การเล่นกล้ามหรือเวตเทรนนิงนั้นช่วยลดความรู้สึกกังวลและประหม่าได้ แต่ถึงกระนั้นอาการเหล่านั้นก็หาใช่โรคซึมเศร้า
ผลการศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2561 ในวารสารด้านจิตเวชของสมาคมแพทย์อเมริกัน (JAMA) นักวิจัยกลุ่มเดิมที่เคยทำการศึกษาเรื่องการเล่นกล้ามที่เกี่ยวโยงกับความรู้สึกกังวลและประหม่าได้หันมาทำการศึกษาเรื่องโรคซึมเศร้า โดยพวกเขาพยายามหาคำตอบว่าการทดสอบเหล่านี้จะสามารถบอกได้หรือไม่ว่าการยกน้ำหนักส่งผลอะไรต่ออาการแรกเริ่มและความรุนแรงของโรคซึมเศร้า นอกจากนั้นยังหาข้อสรุปถึงความหนักเบาของการออกกำลังกาย รวมถึงช่วงวัย สุขภาพ และเพศด้วยเช่นกัน
หรือนี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ธอร์ดูอารมณ์ดีแม้ว่าจะผ่านมรสุมชีวิตมา
นักวิจัยกลุ่มนี้เริ่มต้นด้วยการรวบรวมผลการศึกษาเก่าๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยกน้ำหนักและโรคซึมเศร้า พวกเขาเจาะไปที่การทดลองสุ่มกับกลุ่มควบคุม (Control Group) โดยเป็นกลุ่มที่ได้รับมอบหมายให้เริ่มออกกำลังกายเป็นบางคน ซึ่งการทดสอบเช่นนี้เป็นบรรทัดฐานของการทดสอบด้านการออกกำลังกายและนำไปสู่ด้านอื่นๆ ได้ด้วย
นอกจากนี้ยังรวมถึงทดสอบว่าเป็นโรคซึมเศร้าทั้งก่อนและหลังออกกำลังกายด้วย ซึ่งนักวิจัยค้นพบผลการศึกษา 33 ชิ้นที่ตรงกับที่พวกเขามองหา ซึ่งทำการทดสอบกับชายและหญิงจำนวน 2,000 คน หลากหลายช่วงอายุ โดยในกลุ่มนี้มีคนที่ได้รับการวินัจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ด้วย
หลังจากค้นหาอยู่นาน พวกเขาก็พบว่าการเรียกเหงื่อแบบสร้างความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้อมักจะช่วยลดอาการซึมเศร้า แม้ว่าคนคนนั้นจะมีความรู้สึกหมองเศร้าหรือไม่ก็ตามในตอนแรก ว่าง่ายๆ คือถ้าคนคนนั้นมีอาการซึมเศร้าตอนที่เริ่มการทดสอบนี้ พวกเขามักจะรู้สึกดีขึ้นหลังได้ยกเวต และยังช่วยลดความเสี่ยงในกลุ่มคนที่มีสุขภาพจิตปกติให้มีอารมณ์แปรปรวนและรู้สึกเศร้าหมองลดลง ซึ่งดีกว่าคนที่ไม่ได้ยกน้ำหนักเลยนั่นเอง
บรี ลาร์สัน ยิ้มไปเวตไปเพื่อรับบทนำใน Captain Marvel โดยเฉพาะ
อ๊ะๆ …อ่านแล้วอย่าเพิ่งมองว่าไกลตัวไป เพราะส่วนที่น่าสนใจที่สุดคือ ไม่ว่าจะเวตมากหรือเวตน้อย ผลที่ได้ก็ไม่น้อยไปกว่ากันเลย! ดังนั้นไม่ว่าคุณจะไปยิมอาทิตย์ละ 2 ครั้ง หรือจะฟิตไปมันรวด 5 วันติด จะบ้าพลังเล่นสัก 7 รอบ หรือ 1-2 รอบก็ส่งผลดีต่อร่างกายและสุขภาพจิตพอๆ กัน ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศหญิงหรือชาย วัยแรกแย้ม หรือวัยทำงาน จนวัยเกษียณก็ตาม
และคุณไม่จำเป็นต้องมีกล้ามเป็นลอนหรือมีหุ่นลีนถึงจะช่วยเรื่องภาวะซึมเศร้า ขอแค่พกใจและร่างมาออกกำลังกาย และทำจนสำเร็จแค่นั้นก็พอ
ทั้งนี้มีงานวิจัยบางชิ้นเท่านั้นที่รวมถึงกลุ่มคนที่ออกกำลังแบบแอโรบิก (Aerobic Exercise หรือการออกกำลังกายที่ต้องใช้ออกซิเจนไปเป็นตัวช่วยในการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน) ดังนั้นจึงไม่สามารถเปรียบเทียบผลที่ได้ระหว่างการออกกำลังแบบยกเวตและแบบแอโรบิก
ทั้งนี้แม้จะมีการพิสูจน์ไม่มาก แต่นักวิจัยที่เขียนวิจัยชิ้นล่าสุดสรุปไว้ว่า ผลลัพธ์ที่ได้นั้นชี้แนะว่า การยกเวตและแอโรบิกให้ผลลัพธ์ที่ใกล้เคียงกันเมื่อมาถึงโรคซึมเศร้า นั่นหมายความว่าทั้งแอโรบิกและเวตต่างก็ช่วยลดอาการของโรคได้ทั้งคู่นั่นเอง
แม้จะไม่มีหลักฐานยืนยันที่แน่ชัดว่าการเข้าคลาสเล่นเวตจะส่งผลที่ดีกว่าการเต้นแอโรบิก แต่ทั้งนี้การเสียเหงื่อยกเวตอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตมากกว่า
เดมี โลวาโต ยังยิ้มออกขณะยกเวตเลย
เบร็ตต์ กอร์ดอน (Brett Gordon) นักศึกษามหาวิทยาลัยลิเมอริก (University of Limerick) ในประเทศไอร์แลนด์ ผู้นำการศึกษาเผยว่า การออกกำลังกายแบบเวตเทรนนิงอาจมีผลทางสรีรวิทยาและจิตวิทยาควบคู่กันไป เนื่องจากการเล่นเวตอาจปรับระดับสารเคมีในสมองที่ส่งผลต่ออารมณ์ได้
“ความคาดหวังก็มีผล” เขากล่าว เนื่องจากผู้คนมักคาดหวังว่าการออกกำลังกายจะทำให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น สดใสขึ้น แล้วมันก็จะเป็นจริง (ดังนั้นนั้นการที่ออกกำลังกายแล้วดีต่อสุขภาพจิตอาจเกิดขึ้นเพราะคิดไปเอง ซึ่งดันส่งผลให้เป็นเรื่องจริงนั่นเอง)
เขายังเสริมอีกว่า “ผลจากการศึกษาไม่ได้ระบุว่าการออกกำลังกายที่มีแรงต้านต่อกล้ามเนื้อหรือเวตเทรนนิงนั้นช่วยเรื่องโรคซึมเศร้าได้กว่าการเรียกเหงื่อชนิดอื่นๆ” ทั้งผลสรุปนี้ยังไม่ได้ระบุอีกว่าการบริหารร่างกายสามารถแทนที่วิธีรักษาเดิม เช่น การบำบัดหรือการกินยาได้หรือไม่
แต่ถึงกระนั้นเบร็ตต์ กอร์ดอนสรุปว่า เมื่อดูจากข้อมูลแล้วต่างชี้ตรงกันว่า การพกร่างไปฟิตเนสเพื่อยกน้ำหนักไม่กี่ครั้งต่ออาทิตย์น่าจะช่วยเสริมสร้างกำลังใจให้รู้สึกดีขึ้นได้
อ่านเรื่อง ออกกำลัง 100: วิธีพาร่างไปออกกำลังกายครั้งแรก ฉบับมนุษย์ตัวเตื้องไม่เคยเข้ายิมที่ง่ายกว่า 101 ได้ที่นี่
อ่านเรื่อง ‘การออกกำลังกายคือการบอกรักตัวเอง’ จุ๊บแจง นักวิจัยสาวที่วิ่งมาราธอนเพื่อฝึกสมาธิในห้องทดลองได้ที่นี่
อ้างอิง: