×

ทำไมทรัมป์ต้องการ ‘คลองปานามา’ กลับคืนมา เจาะเส้นเลือดใหญ่การค้าโลก มีผลกับไทยแค่ไหน?

24.12.2024
  • LOADING...
Trump-Panama-Canal-claim-impact-on-Thailand

โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ขู่ประเทศปานามาเรียกเก็บค่าผ่านคลองปานามา ‘แพงเกินจริง’ ชี้ หากไม่ลดค่าธรรมเนียมลง สหรัฐฯ จะเรียกร้องให้คืนสิทธิ์การควบคุมคลองปานามากลับคืนมา ผู้ขนส่งทางเรือไทย ‘มองบวก’ อานิสงส์ลดค่าธรรมเนียม

 

หลังจากที่ทรัมป์ออกมาระบุว่า จะยึดคลองปานามากลับคืนมาเป็นของสหรัฐฯ เนื่องจาก ‘ค่าธรรมเนียมที่ไม่เป็นธรรม’ รวมทั้งอ้างว่า อิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนรอบคลองปานามาเป็นสิ่งที่สร้างความกังวลต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ที่ต้องพึ่งพาการขนส่งสินค้าข้ามคลองแห่งนี้ที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิก

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

“กองเรือและการค้าของเราได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมในแนวทางที่ไม่ถูกต้อง ค่าธรรมเนียมที่ปานามาเรียกเก็บนั้นเหลวไหลจริงๆ และเอาเปรียบต่อสหรัฐฯ” ทรัมป์กล่าว

 

ทรัมป์ระบุอีกว่า ปานามาเป็นผู้จัดการคลองนี้แต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่จีน หรือผู้ใดก็ตาม และสหรัฐฯ จะไม่ยอมให้คลองนี้ตกอยู่ในมือผู้อื่น หากปานามาไม่สามารถรับรองความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือของคลองแห่งนี้ได้ สหรัฐฯ จะขอนำคลองปานามากลับคืนมาเป็นของประเทศอย่างสมบูรณ์โดยไม่มีข้อสงสัย

 

ภายหลังจากการประกาศดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับ โชเซ ราอูล มูลิโน ประธานาธิบดีปานามา ที่ออกมาประกาศกร้าวว่า พื้นที่ทุกตารางเมตรของคลองปานามาและพื้นที่โดยรอบจะต้องเป็นของปานามา และเอกราชของปานามานั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจต่อรองได้

 

ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นผู้ขุดคลองปานามาเสร็จสิ้นเมื่อปี 1914 ก่อนที่จะส่งคืนให้แก่ปานามาภายใต้สนธิสัญญาเมื่อปี 1977 โดยเป็นการลงนามจาก จิมมี คาร์เตอร์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต และปานามาครอบครองคลองนี้อย่างสมบูรณ์ในปี 1999 นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา

 

ปัจจุบันการเดินเรือราว 5% ของทั่วโลกต้องผ่านคลองปานามา ซึ่งเป็นเส้นทางลัดระหว่างสองมหาสมุทรเพื่อเลี่ยงการเดินทางอ้อมทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งมีประเทศหลักๆ ที่ใช้เส้นทางนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ, จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

 

ทางการปานามารายงานว่า เมื่อปีงบประมาณที่แล้วคลองปานามาสามารถสร้างรายได้เกือบ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ และคลองปานามาสร้างรายได้อย่างมหาศาลในแต่ละปีให้กับประเทศ

 

Panama

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคลองปานามา (ACP) รายงานว่า ปีนี้จำนวนการผ่านคลองลดลง 29% เหลือ 9,936 เที่ยว เมื่อเทียบกับจำนวนเรือผ่านคลอง 12,638 เที่ยวในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฤดูแล้งที่ยาวนานและภัยแล้งรุนแรงทำให้การเดินเรือมีข้อจำกัด

 

คลองปานามา เส้นทางขนส่งสินค้าสำคัญของโลกและไทย

 

สำหรับคลองปานามามีความยาวประมาณ 77 กิโลเมตร มีความกว้างน้อยที่สุด 91 เมตร และมีระดับความลึกน้อยที่สุด 12 เมตร เป็นเส้นทางที่ใช้เวลาเดินเรือผ่านคลองเฉลี่ย 10 ชั่วโมง โดยเส้นทางนี้สำคัญกับสหรัฐฯ ซึ่งช่วยย่นระยะการเดินทางจากฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ไปยังฝั่งตะวันออก ที่แต่เดิมต้องอ้อมแหลมฮอร์น (Cape Horn) ทวีปอเมริกาใต้ เป็นระยะทางราว 8,000 ไมล์ ซึ่งใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์ นอกจากคลองปานามาจะสำคัญกับสหรัฐฯ แล้ว ยังเป็นเส้นทางเดินเรือที่เปรียบเสมือนเส้นทางสำคัญต่อการค้าโลก กล่าวคือ

 

  • สหรัฐฯ เป็นผู้ใช้งานคลองแห่งนี้มากเป็นอันดับ 1 โดยกว่า 72% ของการขนส่งทางน้ำผ่านคลองปานามานั้นเดินทางเข้าหรือออกมาจากท่าเรือสหรัฐฯ
  • ใน 1 ปีมีเรือจำนวนกว่า 14,000 ลำแล่นผ่านคลองปานามา ถือเป็นเส้นทางหลักสำคัญของการเดินเรือของโลก และเป็นโครงการวิศวกรรมที่ใหญ่ที่สุดและยากลำบากที่สุดเท่าที่เคยมีมา
  • ค่าธรรมเนียมผ่านทางเรือของคลองปานามาคิดเป็น 3.7% ของ GDP ของประเทศปานามา หรือ 2.1 ล้านล้านบาท
  • มูลค่าการก่อสร้างที่จ่ายโดยสหรัฐฯ เทียบเท่ากับการสร้างเรือไททานิก 85 ลำ
  • คลองปานามาเป็นคลองที่มีความสำคัญต่อการค้าโลก คิดเป็นสัดส่วน 6% ของการค้าทางทะเลโลก เป็นเส้นทางสำหรับการขนส่งสินค้ารวม 180 เส้นทางเดินเรือ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าของท่าเรือทั่วโลกกว่า 1,920 ท่าเรือใน 170 ประเทศ
  • คลองปานามาเป็นเส้นทางขนส่งสินค้าระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ รวมถึงไทย ครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งสินค้าโภคภัณฑ์ (น้ำมันดิบ, ก๊าซธรรมชาติ, ถ่านหิน, ถั่วเหลือง), สินค้าอาหาร, สินค้าอุตสาหกรรม และสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง

 

สำหรับไทยใช้คลองปานามาเป็นเส้นทางการขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ โดยไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 6 ของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ใช้คลองปานามาเป็นเส้นทางการขนส่งของเรือตู้คอนเทนเนอร์ มีมูลค่าการค้ารวม 17,912.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

ผู้ส่งออกทางเรือไทยจับตาปีหน้าการค้าโลกป่วน ทรัมป์ 2.0 มาแน่

 

แหล่งข่าวจากอุตสาหกรรมผู้ขนส่งทางเรือเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ไทยขนส่งสินค้าแทบทุกสินค้าไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นยางรถบรรทุกหรือรถบัส, ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ, โซลาร์เซลล์, ยางรถยนต์นั่ง และปลาทูน่าปรุงแต่ง และมีท่าเรือที่ใช้นำเข้าสินค้าจากไทย

 

เมื่อถามว่า กรณีของทรัมป์ที่ออกมาระบุเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยหรือไม่ แหล่งข่าวให้มุมมองว่า จะทำให้ค่าผ่านทางคลองปานามา ‘ลดลงอัตโนมัติ’ ดังนั้นจึงมองว่าเป็นผลบวกต่อการส่งออกไทยมากกว่า แต่ที่เป็นกังวลคือความผันผวนของตลาดที่ทรัมป์อาจมีวิธีเจรจากับปานามาในรูปแบบใด ซึ่งต้องติดตาม โดยในตอนนี้ค่าระวางเรือก็เริ่มผันผวน ในขณะเดียวกันนโยบายของทรัมป์ก็ไม่อาจคาดเดาได้

 

“เท่าที่ติดตามข่าว ทรัมป์พยายามจะทำให้อะไรต่างๆ ที่สหรัฐฯ เสียประโยชน์กลับคืนมา จึงพยายามดึงให้ทุกคนเข้ามาเจรจา โดยจุดประสงค์หลักคือทรัมป์ต้องการที่จะเจรจากับปานามาเพื่อลดค่าใช้จ่าย ซึ่งคงพูดไปก่อน เพื่อให้ค่าใช้จ่ายไปยังท่าเรือฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ถูกลง ถามว่าจะถูกลงมากแค่ไหน คงไม่มาก เพราะหากไม่ผ่านคลองนี้ก็สามารถใช้ตัวเลือกกับเส้นทางอเมริกาใต้ได้อีกทาง

 

“ในขณะเดียวกัน ปานามาเองก็ลงทุนไปค่อนข้างเยอะ ทั้งการเพิ่มความลึก เพิ่มขนาดคลอง ดังนั้นปานามาก็ต้องดูรายได้และค่าใช้จ่าย แม้ในอดีตสหรัฐฯ จะซัพพอร์ตก็จริง แต่ในแง่ภูมิศาสตร์ก็ยังเป็นของปานามา เราก็เลยคาดเดาได้ว่าเป็นแค่การเจรจา ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะเจรจาอย่างไร”

 

คงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ต้องจับตานโยบายของทรัมป์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยในปีหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นประเด็นที่ทรัมป์จะทวงคืนคลองปานามานั้นทำให้ ‘ตลาดค่อนข้างผันผวน’ ดังนั้นทรัมป์อาจพลิกแพลงนโยบายได้ตลอดเวลา แต่มาตรการของทรัมป์จะทำให้ตลาดเกิดแรงกระเพื่อมทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการค้าไทยมากขึ้น

 

“โดยเฉพาะกรณีของมาตรการขึ้นภาษี ผมมองว่าจะเกิดผลบวกต่อการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรก แต่ผลลบที่จะตามมาคือมาตรการตอบโต้ทางการค้าในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องจับตา และคิดว่าน่าจะมีอะไรออกมาอีกเรื่อยๆ”

 

ภาพ: Gonzalo Azumendi / Getty Images, Visual Capitalist / Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising