กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งกับการคัดเลือกบุคคลที่จะเข้ามานั่งตำแหน่งประธานบอร์ดธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ในรอบที่ 2 หลังจากชื่อของ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ส่งโดยกระทรวงการคลัง แม้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกประธานแบงก์ชาติ แต่ถูกกฤษฎีกาตีกลับ มีความเห็นว่า กิตติรัตน์ไม่ผ่านคุณสมบัติเข้าดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท.
โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาจากภาพรวมพฤติกรรมทั้งหมดของกิตติรัตน์ รวมทั้งภาพรวมของคุณสมบัติทั้งหมด และมีความเห็นว่า กิตติรัตน์พ้นจากตำแหน่งการทางการเมืองมาไม่ถึง 1 ปี น้อยกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าต้องพ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตาศึกชิงเก้าอี้ร้อน ‘ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ’ ที่มีอำนาจควบคุม ธปท.
- TDRI และอดีต กนง. เตือน รัฐบาลแทรกแซงบอร์ด ธปท. จ่อเกิดผลเสียรุนแรง
- กฤษฎีกาตีกลับชื่อ ‘กิตติรัตน์’ ไม่ผ่านคุณสมบัติประธานบอร์ดแบงก์ชาติ…
ทั้งนี้ กิตติรัตน์เคยดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้เศรษฐาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเนื่องจากขาดคุณสมบัติ
ซึ่งเป็นที่มาของกระบวนการสรรหาประธานบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่ที่ต้องกลับมาเริ่มนับหนึ่งอีกครั้ง เพื่อคัดเลือกบุคคลมาแทนที่ ดร.ปรเมธี วิมลศิริ ประธานบอร์ดแบงก์ชาติที่ครบวาระตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว และเป็นที่น่าจับตาว่าจะเป็นศึกชิงเก้าอี้ร้อนระหว่าง ธปท. กับกระทรวงการคลังหรือไม่
โดยล่าสุด พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังส่งรายชื่อบุคคลตามกฎหมายที่เสนอได้ 1 รายชื่อ ให้กับคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่วนในฝั่งของผู้ว่าการ ธปท. ตามกฎหมายสามารถส่งได้ไม่เกิน 2 รายชื่อ เพื่อเข้ารับการคัดเลือก
เปิดขั้นตอนการคัดเลือกประธานบอร์ดแบงก์ชาติรอบใหม่
ขณะที่ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า คณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. รับรายชื่อบุคคลที่ส่งมารับการคัดเลือกในตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งที่ส่งมาจากกระทรวงการคลังและ ธปท. แต่โดยมารยาทในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือก ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ามาได้
สำหรับขั้นตอนต่อไป ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือก มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. ซึ่งผู้บริหารของ ธปท. ทำหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของรายชื่อบุคคลที่ได้รับการเสนอเข้ามา โดยหากตรวจสอบคุณสมบัติเสร็จสิ้นแล้วผ่านคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ ในลำดับต่อไปก็เตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. อย่างช้าที่สุดคือภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้
อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายกระบวนการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. ไม่มีข้อจำกัดของเวลาของกระบวนการสรรหาระบุไว้ โดยหากยังไม่สามารถคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมมารับตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ได้ ในฝั่งของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า รองประธานบอร์ด ธปท. คือผู้ว่าการ ธปท. สามารถทำหน้าที่รักษาการตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. ต่อไปได้
เปิด 2 ชื่อเข้าชิงประธานบอร์ดแบงก์ชาติรอบใหม่
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลังเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า รายชื่อที่ส่งเสนอเข้ารับการคัดเลือกตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. มี 2 รายชื่อ ดังนี้
- สมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยปลัดกระทรวงการคลัง
- ศ. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ศาสตราจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้รับการเสนอชื่อโดยผู้ว่าการ ธปท.
ทั้งนี้ ในรอบนี้ ธปท. ตัดสินใจส่งเพียง 1 รายชื่อ คือ ศ. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ซึ่งเป็นรายชื่อเดิมที่เคยเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกในรอบแรก จากโควตาตามกฎหมายที่ ธปท. สามารถเสนอได้ไม่เกิน 2 ชื่อ โดยในรอบที่ 2 ธปท. ตัดสินใจไม่เสนอชื่อ กุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน, อดีตอธิบดีกรมศุลกากร และอดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นรายชื่อที่เคยเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือกในรอบแรก
เนื่องจากคาดว่าสุ่มเสี่ยงที่จะเข้าข่ายไม่ผ่านคุณสมบัติเกี่ยวกับประเด็นการตีความทางกฎหมายเกี่ยวกับการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งคล้ายกับกรณีที่เกิดขึ้นกับกิตติรัตน์
สำหรับคณะกรรมการสรรหาประธานบอร์ด ธปท. ทั้ง 7 คน มีดังนี้
- ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์
- วิฑูรย์ สิมะโชคดี อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
- วรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
- อัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
- ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- สุทธิพล ทวีชัยการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย