×

วิเคราะห์หลังเตา Daidomon ปิดตำนาน 41 ปี พ่ายแพ้สงครามบุฟเฟต์ปิ้งย่าง เพราะไม่ปรับตัวตามเทรนด์จนลูกค้าเมิน?

02.08.2024
  • LOADING...

ชวนวิเคราะห์ทำไม Daidomon ร้านปิ้งย่างที่อยู่ในยุคบุกเบิกของตลาดมานานกว่า 40 ปีถึงโบกมือลาจากตลาด หลังประกาศปิดให้บริการสาขาสุดท้ายที่ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ในวันที่ 5 สิงหาคมนี้ หรืออาจเป็นเพราะไม่ปรับตัวตามเทรนด์ทำให้ลูกค้าไม่เข้าร้าน จนแบกรับตัวเลขขาดทุนสะสมไม่ไหวอีกต่อไปแล้ว

 

แหล่งข่าวในแวดวงธุรกิจร้านอาหารวิเคราะห์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจัยหลักๆ ที่ Daidomon ไม่สามารถไปต่อได้มองว่าเป็นการตัดสินใจของนักลงทุน เนื่องจากแบรนด์ไม่สามารถทำรายได้และขาดทุนสะสมติดต่อกันหลายปี

 

จริงๆ แล้วก่อนที่ Daidomon จะปิดสาขานั้น หากสังเกตจะเห็นว่าร้าน HOT POT BUFFET ได้ทยอยปิดสาขาไปก่อนแล้ว ซึ่งทั้ง 2 แบรนด์อยู่ในเครือบริษัทเดียวกัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าของแบรนด์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารเหมือนในอดีตที่ผ่านมาแล้ว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ส่วนตัวมองว่าแบรนด์ Daidomon นั้นมีชื่อเสียงและยังสามารถไปต่อได้ แต่ด้วยสไตล์ของนักลงทุนที่ถือหุ้นสามารถตัดแบรนด์ทิ้งได้ง่ายโดยไม่รู้สึกกังวลอะไร แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบที่สร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง แม้แบรนด์จะทำรายได้น้อยหรือไม่สาหัสจริงๆ ก็จะพยายามหาทางปรับตัวไปต่อ

 

แรงกดดันจากตลาดแข่งเดือด-พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าธุรกิจอาหารวันนี้ไม่ง่าย ด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด โดยเฉพาะหลังโควิดคลี่คลายลง มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ กระโดดเข้ามาในตลาดมากขึ้น อีกทั้งร้านอาหารชาบู สุกี้ และหม่าล่า เกลื่อนเต็มไปหมด ดังนั้นแบรนด์เดิมที่อยู่ในตลาดจะอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องสร้างความเคลื่อนไหวเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

 

อีกหนึ่งความท้าทายของธุรกิจร้านอาหารคือผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ไม่ค่อยดีมากนัก ประกอบกับรัฐบาลยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เห็นเป็นรูปธรรม ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังค่าใช้จ่าย จากเดิมในวันหยุดหรือวันเสาร์-อาทิตย์ ผู้บริโภคจะออกมากินอาหารนอกบ้านกันอย่างคึกคัก แต่ปัจจุบันจำนวนการเข้าร้านอาหารลดลงอย่างเห็นได้ชัด

 

 

ขาดทุนสะสมจนแบกรับต้นทุนไม่ไหว

 

ด้านแหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจร้านเครื่องดื่มและเบเกอรี ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ในอดีต Daidomon เป็นแบรนด์ขวัญใจนักศึกษาเพราะมีราคาเข้าถึงง่าย

 

แต่ต้องยอมรับว่าตลาดร้านอาหารแข่งขันกันสูงมาก ทั้งรายเดิมที่อยู่ในตลาดและร้านใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์โควิดระบาด ช่วงนั้นร้านอาหารต่างได้รับผลกระทบกันหมด หากใครไม่ปรับตัวก็ต้องเจ็บหนัก

 

จริงๆ แล้วฐานลูกค้าของ Daidomon จะชนกับ Bar B Q Plaza โดยตรง จุดเด่นของทั้งสองแบรนด์นั้นเป็นร้านอาหารที่ต้องนั่งกินในร้าน และช่วงโควิดหากสังเกตจะเห็นว่า Bar B Q Plaza มีการปรับตัวหาช่องทางใหม่ๆ มีการแจกเตาปิ้งย่างให้ลูกค้าที่สั่งผ่านทางเดลิเวอรี ควบคู่ไปกับการทำการตลาดสร้างความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา

 

แต่สำหรับ Daidomon ในช่วงโควิดถือว่าปรับตัวได้ช้า เมื่อรายได้หายไปแต่แบรนด์ยังต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าเช่า ค่าพนักงาน และค่าวัตถุดิบ ทำให้บริษัทขาดทุนสะสมและไม่มีงบมาทำการตลาดดึงลูกค้าเข้าร้าน

 

เรียกได้ว่าความท้าทายของแบรนด์เพื่อให้อยู่รอดในช่วงโควิดคือการต่อรองค่าเช่า หากแบรนด์ไหนอยู่ในเครือเดียวกันและมีสาขาอยู่ในพื้นที่เดียวกันจำนวนมากก็อาจได้เปรียบในการต่อรองราคา หลังวิกฤตคลี่คลายลงก็สามารถกลับมาเปิดให้บริการต่อได้ แต่สวนทางกับ Daidomon ที่มีสาขาน้อย ทำให้อาจไม่สามารถต่อรองราคาพื้นที่เช่าได้มากนัก

 

จะอยู่รอดได้ต้องปรับตัวตามเทรนด์ผู้บริโภคตลอดเวลา

 

นอกจากนี้ ปัจจุบันเทรนด์ความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป และมีเทรนด์ใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา Daidomon เป็นแบรนด์ที่เก่าแก่ อยู่มานาน ลูกค้าที่รู้จักในอดีตอาจจะเติบโตพอที่จะมีกำลังซื้อมากขึ้น จึงเปลี่ยนใจไปกินอาหารอย่างอื่น ส่วนเด็กรุ่นใหม่ก็อาจจะไม่รู้จักแบรนด์ จึงทำให้ลูกค้าลดลงต่อเนื่อง

 

สะท้อนให้เห็นว่าบรรดาร้านอาหารที่อยู่มานานต้องไม่ชะล่าใจ ต้องปรับตัวตามเทรนด์ทำให้แบรนด์มีอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา วันนี้เราจะพัฒนาแค่คุณภาพการบริการที่เป็นพื้นฐานเสิร์ฟลูกค้าอย่างเดียวไม่ได้แล้ว

 

ย้อนรอยเส้นทางของ Daidomon ก่อนโบกมือจากตลาด

 

Daidomon เป็นร้านอาหารสไตล์ปิ้งย่างที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2526 นับเป็นร้านบุฟเฟต์ปิ้งย่างในยุคบุกเบิกของไทยเลยก็ว่าได้ มีสาขาแรกที่สยามสแควร์ จนมีสาขาทั้งหมด 12 แห่ง จากยุครุ่งเรืองก็เริ่มเจอปัญหาขาดทุนสะสม กระทั่งบริษัท ​ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อกิจการบริษัท ไดโดมอน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

 

โดยในปี 2559 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้น โดยมีอภิชัย เตชะอุบล เข้ามาถือหุ้นคิดเป็น 16.23% และบริษัท เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นคิดเป็น 2.24% 

 

ต่อมาในปี 2561 มีการเปลี่ยนแปลงชื่อ จากเดิมบริษัท ฮอท พอท จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) อย่างเต็มรูปแบบ จากนั้นได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ เริ่มตั้งแต่การรีแบรนด์ให้เป็นสไตล์เกาหลี เปลี่ยนโลโก้ให้ดูทันสมัยเพื่อดึงดูดคนรุ่นใหม่ แต่แล้วในช่วงโควิดระบาดทำให้มีการปิดศูนย์การค้าส่งผลให้ร้านอาหารได้รับผลกระทบทั้งในแง่ของรายได้และกำไร

 

กระทั่งวันที่ 30 เมษายน 2567 Daidomon ได้ประกาศปิด Daidomon Korean Grill สาขาเซ็นทรัล อุบลราชธานี ทำให้เหลือเพียงสาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต แต่ผ่านมาไม่นานนักก็เตรียมปิดตัวลงทุกสาขา โดยจะให้บริการจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2567 เป็นวันสุดท้าย

 

โดยแบรนด์โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเพจว่า “ขอขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้การสนับสนุน Daidomon สาขาฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ตลอดหลายปีที่ผ่านมา และขอเรียนให้ทราบว่าทางร้านจะเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2567 เป็นวันสุดท้าย”

 

 

ส่องผลประกอบการย้อนหลังขาดทุนสะสม

 

เมื่อดูผลประกอบการย้อนหลังของบริษัท เจซีเค ฮอสพิทอลลิตี้ จำกัด (มหาชน) พบว่ารายได้เริ่มลดลงต่อเนื่องและขาดทุนสะสมติดต่อกัน 5 ปี

 

  • ปี 2562 มีรายได้ 1,397 ล้านบาท ขาดทุน 158 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีรายได้ 701 ล้านบาท ขาดทุน 142 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีรายได้ 440 ล้านบาท ขาดทุน 257 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีรายได้ 547 ล้านบาท ขาดทุน 214 ล้านบาท
  • ปี 2566 มีรายได้ 397 ล้านบาท ขาดทุน 108 ล้านบาท

 

จากนี้ต้องจับตาดูว่าร้านอาหาร HOT POT BUFFET ซึ่งเป็นร้านที่มีเจ้าของเดียวกัน แถมเริ่มทยอยปิดตัวลงจนปัจจุบันนี้เหลือเพียง 4 สาขา จะปิดตัวลงตามกันไปหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป

 

ท้ายที่สุดแล้ว ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันอย่างดุเดือดขึ้นหลายสิบเท่า หากใครไม่รีบปรับตัวก็ต้องพ่ายแพ้จนต้องออกจากตลาดไปอย่างเงียบๆ

 

ภาพ: Daidomon / Facebook

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X