×

เคล็ดไม่ลับฉบับ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ทดสอบด้วย 2 วิธีง่ายๆ อย่าง ‘ข่าวหน้าหนึ่ง’ และ ‘พลังอินเนอร์’

โดย THE STANDARD TEAM
09.12.2020
  • LOADING...
เคล็ดไม่ลับฉบับ ‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ เมื่อต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ทดสอบด้วย 2 วิธีง่ายๆ อย่าง ‘ข่าวหน้าหนึ่ง’ และ ‘พลังอินเนอร์’

แต่ละครั้งที่จะก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น หรือบรรลุผลความสำเร็จใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้ เพราะถือเป็นก้าวแรกสู่ความสำเร็จก็คือ ‘การตัดสินใจ’

หลายครั้งและบ่อยครั้ง ‘การตัดสินใจ’ คือส่ิงที่การลงมือทำอาจไม่ซับซ้อนแต่ก็ทำได้ยากที่สุด และมักกลายเป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่มักจะถาม วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐี นักธุรกิจ นักลงทุนชั้นนำระดับโลกสัญชาติสหรัฐฯ ว่า ทำอย่างไรจึงจะทำในสิ่งที่เรียกว่าเป็นการ ‘ตัดสินใจที่ถูกต้อง’ หรือ ‘ทำอย่างไรจึงจะตัดสินใจไม่ผิดพลาด’ หรือ ‘อะไรคือวิธีการที่จะตัดสินใจในช่วงเวลาสำคัญที่สุด’

บัฟเฟตต์ตอบว่า สิ่งที่ยากที่สุดของการตัดสินใจที่ผิดพลาดไม่ใช่เรื่องของการขาดทุนหรือการสูญเสียผลประโยชน์จำนวนมหาศาล แต่เป็นเรื่องของ ‘ชื่อเสียง’ และชื่อเสียงในทางบวกก็เป็นสิ่งที่สร้างได้ยาก รักษาให้ได้ยิ่งยาก แต่กลับถูกทำลายได้อย่างง่ายดาย

“เราสามารถยอมรับการสูญเสียเงินทองได้ แต่เราไม่สามารถยอมให้ชื่อเสียงภาพลักษณ์ของเราเสียหายได้” เจ้าพ่อด้านการลงทุนกล่าว

ดังนั้นเมื่อสิ่งที่ตนให้น้ำหนักคือ ‘ชื่อเสียง’ การตัดสินใจของบัฟเฟตต์แต่ละครั้งจึงต้องคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลและคุณธรรมจริยธรรมเป็นหลักใหญ่ ซึ่งบัฟเฟตต์ตั้งข้อสังเกตว่า หากสิ่งที่ตัดสินใจเป็นเรื่องดีและถูกต้อง ในท้ายที่สุดก็จะเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลดีต่อตนเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ

ทั้งนี้วิธีการที่ผู้บริหารมือฉมัง ซึ่งดูแลบริหารจัดการพนักงานมากกว่า 360,000 คน นำมาใช้ รวมถึงช่วยให้คนรอบข้างและลูกน้องในระดับผู้จัดการตัดสินใจได้ถูกต้อง เป็นกลยุทธ์ที่บัฟเฟตต์นำมาใช้เป็นตัวช่วยในการกลั่นกรองทบทวนไม่ให้การตัดสินใจนั้นๆ ผิดพลาด นั่นคือ ‘ข่าวหน้าหนึ่ง’ (Newspaper Test) และ ‘พลังอินเนอร์’ (Inner Scorecard)

กลยุทธ์ข่าวหน้าหนึ่ง หรือ Newspaper Test
บัฟเฟตต์กล่าวว่า กลยุทธ์ข้อนี้คือวิธีการที่ดีที่สุดในเวลานี้ โดยไม่เพียงแต่ช่วยให้การตัดสินใจถูกต้องตามมาตรฐานทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ถูกต้องตามหลักศีลธรรมได้ด้วย

โดยวิธีการ ‘ข่าวหน้าหนึ่ง’ ก็คือการถามตนเองหรือผู้จัดการคนนั้นเมื่อรู้สึกไม่มั่นใจในการตัดสินใจหนึ่งๆ ว่า “คุณจะรู้สึกอย่างไรหากการกระทำดังกล่าวที่ได้ต้ดสินใจไปแล้วนี้จะกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งบนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับเช้าวันถัดไปแน่ๆ” เป็นข่าวที่เขียนอย่างชาญฉลาดโดยนักข่าวที่เป็นมิตร และคนรอบข้างอย่างเพื่อนและญาติสนิทมิตรสหายจะต้องอ่านบทความดังกล่าวแน่ๆ

“มันเป็นกลยุทธ์ที่เรียบง่ายและตรงตัว ถ้า (การตัดสินใจ) ผ่านบททดสอบดังกล่าวได้ มันก็โอเค แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่โอเค การตัดสินใจดังกล่าวก็ยกเลิกไปได้เลย” บัฟเฟตต์กล่าว

กลยุทธ์ที่สอง พลังอินเนอร์ หรือ Inner Scorecard
ชื่อเสียงเป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าที่บัฟเฟตต์ได้เรียนรู้มาตลอดก็คือ แม้เราจะอยากเป็นที่ชื่นชอบของคนรอบข้าง แต่เราก็ไม่ควรคำนึงถึงคนรอบข้างจนต้องมายืดหยุ่นหยวนๆ กับมาตรฐานของตนเอง

บัฟเฟตต์อธิบายว่า นี่คือหนึ่งในคำแนะนำที่ตนเองได้รับจากพ่อว่า คนบางคนมักจะคิดอยู่เสมอว่าโลกจะคิดอย่างไรแทนที่จะคิดว่าพวกเขาจะคิดหรือรู้สึกอย่างไร โดย Inner Scorecard หมายถึงค่านิยมที่สำคัญในการดำรงชีวิตของคุณ ขณะที่ Outer Scorecard หมายถึงบรรทัดฐานทางสังคมรอบตัวคุณ

กลยุทธ์พลังงานอินเนอร์ก็คือ ถ้าการตัดสินใจนั้นทำให้คุณรู้สึกถึงความสบายและสงบของคุณเองได้ โดยที่ไม่ได้ขัดต่อบรรทัดฐานต่อสังคมมากนักก็จงตัดสินใจ แต่ถ้ามีความรู้สึกตะหงิดในใจ การตัดสินใจดังกล่าวย่อมมีปัญหา

Guy Spier นักลงทุนที่ได้มีโอกาสร่วมโต๊ะอาหารกับบัฟเฟตต์ในงานเลี้ยงการกุศลแห่งหนึ่งกล่าวว่า บัฟเฟตต์เป็นคนที่คำนึงถึงหลักการของตนเองเสมอ ทำให้บัฟเฟตต์ไม่เพียงตัดสินใจได้ถูกต้อง แต่สิ่งที่ถูกต้องนั้นก็เป็นสิ่งที่ใช่สำหรับตัวบัฟเฟตต์ด้วย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising