ทั่วโลกจับตาพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา คนที่ 47 ซึ่งจะจัดขึ้นในเวลา 12.00 น. ที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ หรือราวเที่ยงคืนวันนี้ (20 มกราคม) ตามเวลาประเทศไทย
ภาคเอกชน โดย ส.อ.ท. แนะรัฐบาลว่าควรเร่งจัดตั้ง War Room และส่งทีม ‘ล็อบบี้ยิสต์’ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองการค้า เร่งหาตลาดส่งออกเพิ่ม ลดความเสี่ยงขึ้นภาษี พร้อมกับระบุว่าขณะนี้สินค้าต่างชาติกินส่วนแบ่งตลาด ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ชี้ต้องขยายผลเจรจา FTA เพิ่มแต้มต่อการค้า ก่อนที่ 30 อุตสาหกรรมไทยเสี่ยงกระทบหนัก
วันนี้ (20 มกราคม) เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าทั่วโลกต่างติดตาม โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่จะเข้าสู่พิธีสาบานตนในเวลาเที่ยงคืน ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งต้องจับตานโยบาย Make America Great Again โดยเฉพาะมาตรการภาษี มาตรการกีดกันทางการค้าในยุคทรัมป์ 2.0 ที่จะทวีความเข้มข้นขึ้น ดังนั้น ส.อ.ท. จึงมีข้อเสนอต่อภาครัฐ 2 ข้อเร่งด่วน ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ทำไม Trade War รอบนี้ไทยตกเป็นเป้าทั้งขึ้นทั้งล่อง สินค้าไหนเสี่ยงโดนเช็กบิลจาก Trump 2.0
- เปิดฉากทัศน์ทางรอดเศรษฐกิจไทย ในสนามสงครามการค้ายุคทรัมป์ 2.0
- กกร. คาด GDP ไทยปี 67 แตะ 2.8% มองข้ามช็อตปีหน้าเตรียมรับมือทรัมป์ 2.0 ขู่เก็บภาษีต่อรอง…
- ทรัมป์คืนบัลลังก์! “เรื่องเศรษฐกิจ ทรัมป์เป็นคนพูดตรงไปตรงมาและเพ่งเล็งประเทศที่ได้ดุลการค้า”
ตั้ง War Room และเตรียมทีม ‘ล็อบบี้ยิสต์’
1. รัฐบาลควรจัดตั้ง War Room และเตรียมทีม ‘ล็อบบี้ยิสต์’ ที่เข้มแข็ง เตรียมหาแนวทางรับมือกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งเชื่อว่า โดนัลด์ ทรัมป์ พูดจริงทำจริง เพื่อลดผลกระทบกับภาคการส่งออกของไทย และรับมือกับผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อม เนื่องจากทรัมป์จะเปลี่ยนระบบการค้า ‘แบบพหุภาคีสู่ทวิภาคี’ หมายความว่าจะเจรจาเป็นคู่ๆ ไม่ได้ใช้ระบบการค้าแบบเดิมภายใต้พรรคเดโมแครต
“เอกชนต้องเตรียมตัว รัฐบาลเองก็ต้องมีล็อบบี้ยิสต์ที่ดีในการเจรจาต่อรองทางการค้า และต้องมีแนวทางแลกเปลี่ยนผลประโยชน์แบบวิน-วิน เพื่อให้ทุกฝ่ายรวมถึงประเทศไทยได้ประโยชน์ นี่คือแนวทางการรับมือทางตรง”
อีกทั้งทรัมป์มีนโยบายดึงดูดการลงการลงทุนกลับเข้าประเทศและกระตุ้นการจ้างงานชาวอเมริกัน เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศผ่านมาตรการจูงใจด้วยการลดภาษีนิติบุคคลจากเดิม 21% เป็น 15% ดังนั้นประเทศไทยอาจเป็นเป้าถูกเจรจาต่อรอง ดึงการลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
ส่วนผลกระทบทางอ้อม แน่นอนว่าคือสินค้าจีนจะส่งไปอเมริกาไม่ได้ เพราะเจอมาตรการกำแพงภาษีสูงขึ้น แน่นอนจีนต้องหาตลาดใหม่ ทำให้นับตั้งแต่ปี 2566 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของจีนแทนสหรัฐฯ ไปแล้ว จึงนำมาสู่ข้อเสนอถัดมา
2. ไทยต้องเร่งหาตลาดใหม่เพิ่มเติม เพื่อรองรับสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ เพราะหากยังมุ่งเป้าส่งออกไปที่เดิมๆ จะเป็นความเสี่ยง เช่น หากย้อนไปในช่วงที่จีนสู้สงครามการค้ารอบแรกจากทรัมป์ 1.0 จีนได้ใช้วิธีหาตลาดใหม่ด้วยกลยุทธ์โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ทันที ส่งผลให้ปัจจุบันจีนสามารถลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ จากเดิม 27% ลดลงเหลือแค่ไม่ถึง 20% ซึ่งจะเห็นได้ว่าขณะนั้นจีนลดการพึ่งพาสหรัฐฯ ด้วยการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ไปยังตลาดใหญ่อย่างบราซิล และมุ่งย้ายฐานผลิตมายังตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ต้องบอกว่าทั่วโลกกังวลต่อมาตรการทรัมป์มาก ซึ่ง IMF ประเมินว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีผู้ค้าอย่างน้อย 10-20% ส่วนจีนแน่นอนคือ 60-100% และที่ต้องจับตา ล่าสุดจะขึ้นภาษีเม็กซิโกและแคนาดาอีก 25% โทษฐานที่ปล่อยให้มีคนลักลอบผ่านแดนอย่างผิดกฎหมาย”
จึงคาดการณ์ว่ามาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ จะบั่นทอนเศรษฐกิจโลกจากที่ประเมินในปี 2568 เศรษฐกิจโลกจะอยู่ที่ 2.7% อาจลดลงอีกราว 0.3% เหลือ 2.4% และยังมองไปถึงปี 2569 จะลดลงอีก หากยังทวีความรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนี้จากการที่ไทยส่งสินค้าไปสหรัฐฯ ช่วงทรัมป์ 1.0 ขยับอันดับจากอันดับที่ 14 มาเป็นอันดับที่ 12 ซึ่งการส่งออกปี 2567 เพิ่มขึ้นอีก โดยตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการอาจอยู่อันดับที่ 9 ดังนั้นจากนี้ทรัมป์จะจับตาดูไทยเป็นกรณีพิเศษ แล้วตั้งนโยบายและมาตรการกับประเทศที่ได้ดุลการค้ามากขึ้น ส่งผลต่อค่าเงินให้แข็งกับประเทศคู่ค้าในข้อหาบิดเบือนค่าเงินกับสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เกือบ 20% จะยิ่งส่งผลต่อต้นทุนที่แพงขึ้นตามไปด้วย
“เมื่อสินค้าจีนไปสหรัฐฯ ไม่ได้ จีนต้องแสวงหาตลาดใหม่ และจะเห็นว่าตลอด 16 ปี สหรัฐฯ เป็นเบอร์ 1 ที่จีนส่งสินค้าและได้ดุลการค้าสูงสุด ซึ่งปี 2566 สัดส่วนลดลงและมาลงที่อาเซียนกว่า 5.3 แสนดอลลาร์ ซึ่งมาแย่งตลาดไทย และสินค้าเหล่านี้ยังคงทะลักเข้าสู่ประเทศไทย นี่คือผลกระทบทางอ้อมที่น่าห่วง”
โดยที่ผ่านมา เริ่มเห็นสัญญาณกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 มากถึง 20 กลุ่มอุตสาหกรรม และปี 2566 กระทบ 22 กลุ่มอุตสาหกรรม ขณะที่ปี 2567 กระทบ 25 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยปีนี้จะกระทบ 30 กลุ่มอุตสาหกรรม และคาดว่าจะรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นผมคิดว่า ‘จากนี้ไปการค้าทั่วโลกจะเปลี่ยนในยุคทรัมป์ 2.0’
สแกนแนวโน้มอุตสาหกรรมไทยปี 2568 ‘ทรงตัว’
อภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า ต้องติดตามค่ำคืนนี้ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะประกาศนโยบายอะไร ที่ชัดเจนอยู่แล้วคือกำแพงภาษี ดังนั้นสินค้าไทยส่งไปยังสหรัฐฯ แทบจะทุกสินค้า และไทยได้ดุลการค้า รวมถึงกลุ่มยานยนต์ ในส่วนนี้อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
“ไทยต้องมี War Room ปรับตัวและขยับตามให้เร็ว ทำความเข้าใจนโยบายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในคืนนี้ และแน่นอนว่ากำแพงภาษีเป็นสิ่งแรกที่ภาคเอกชนกังวลมากที่สุด” พิภพ โชควัฒนา รองประธานสายงานเศรษฐกิจและวิชาการ กล่าว
พิภพระบุอีกว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมปี 2568 รวม 47 อุตสาหกรรม คาดการณ์ยัง ‘ทรงตัว’ จากฐานต่ำต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความไม่แน่นอนเศรษฐกิจโลก มี 18 อุตสาหกรรมขยายตัว 21 อุตสาหกรรมทรงตัว และ 8 อุตสาหกรรมหดตัว
โดยหากดูภาพรวมจากแนวโน้มช่วง 3 ปีที่ผ่านมาดังภาพ จะเห็นว่าการเติบโตแต่ละกลุ่มทรงตัวและการขยายตัวลดลง
ขณะเดียวกันปีที่ผ่านมาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 90.1 ปรับตัวลดลงจาก 91.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นผลจากการผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอลงจากการเร่งผลิตในเดือนก่อนหน้า
ทั้งนี้ ส.อ.ท. เฝ้าจับตาดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจาก 96.7 ในเดือนพฤศจิกายน 2567 โดยปัจจัยที่ผู้ประกอบยังคงห่วงกังวล คือการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในอัตราวันละ 7-55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) ส่งผลกระทบต่อต้นทุนแรงงานของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs
“โดยเฉพาะความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ตามนโยบายทรัมป์ 2.0 อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจ”
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนที่คาดว่าจะมาจากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt 2.0 และโครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป คาดว่าจะช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงไตรมาส 1/68 และแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง
ทางด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่าไทยอยู่ในกลุ่มประเทศเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ อันดับที่ 14 แน่นอนว่าอาจได้รับผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 บ้าง แต่เชื่อมั่นว่าเอกชนไทยสามารถเจรจาได้ เนื่องจากบริษัทที่ส่งออกสินค้าของไทยมีชาวอเมริกันเป็นผู้บริหารร่วมอยู่ด้วย ส่วนนี้ก็มั่นใจว่าไทยจะได้รับการยกเว้นหรือไม่ตึงเครียดมากหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน
ภาพ: Anadolu / Getty Images