วันนี้ (14 พฤศจิกายน) ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ในหัวข้อ Thailand’s Strategic Positioning in the Global Geoeconomics Landscape ยุทธศาสตร์ไทยในภูมิเศรษฐกิจโลก ซึ่ง ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy613 จำกัด ร่วมเป็นวิทยากร และแลกเปลี่ยนมุมมองด้านเศรษฐกิจและการค้าโลกที่น่าสนใจ
กำแพงภาษีมาแน่ ไทยต้องเจรจา
ปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ตั้งแต่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งและมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชาวโลกก็เชื่อว่าต้องดำเนินการตามนโยบายกีดกันการค้า โดยเฉพาะจากจีน แต่อัตราภาษีเท่าไรยังไม่ชัด แต่ก็มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะไปถึง 60%
เมื่อทรัมป์มาจะเกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ไม่ใช่แค่ภาษีเท่านั้น เพราะอำนาจประธานาธิบดีทำได้เยอะมาก และเชื่อว่าทรัมป์ต้องใช้อำนาจเต็มที่ ไม่ใช่แค่ใช้กับจีนเท่านั้น แต่ใช้กับอีกหลายๆ ประเทศที่สหรัฐฯ รู้สึกว่าขาดดุลการค้า ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
ดังนั้นประเด็นต่อไปที่ต้องจับตามองคือ เมื่อธุรกิจในประเทศที่จะถูกกีดกันทางการค้าย้ายฐานมาไทยแล้ว ประเทศไทยจะส่งกลับไปที่สหรัฐฯ ได้หรือไม่
สำหรับนโยบาย TPP ประเมินว่า ทรัมป์จะมองประเด็นทวิภาคี หรือการเจรจาประเทศต่อประเทศมากกว่าเจรจาแบบกลุ่ม เพราะวิธีนี้จะทำให้กดดันประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ได้มากขึ้น ถ้าเป็นกลุ่มจะเจรจาได้ยาก หลายประเทศอาจจับกลุ่ม ทำให้สหรัฐฯ กำหนดไดเรกชันได้ยากขึ้น
ปานปรีย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินเศรษฐกิจเชิงรุกที่ทำได้ง่ายในอดีตนั้น แต่ยุคทรัมป์ 2.0 จะทำได้ยากขึ้น ซึ่งแนวทางรับมือก็คือการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ และไทย-จีน
“ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ เรามีสัมพันธ์ยาวนาน 100 กว่าปี ซึ่งการเจรจาต้องมี Give and Take”
ไทยเตรียมรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ ‘2 เด้ง’
ปานปรีย์กล่าวเพิ่มว่า สำหรับผลกระทบจากสงครามการค้า ประเทศไทยน่าจะได้รับผลกระทบ 2 เด้ง คือ 1. โดนภาษีจากสหรัฐฯ แต่จะมากแค่ไหนรัฐบาลก็ต้องพูดคุยมากขึ้นก่อนที่สหรัฐฯ จะมาตั้งกำแพงภาษีกับเรา และ 2. ไทยจะเสียดุลการค้ากับจีนเยอะขึ้น โดยก่อนหน้านี้จีนเข้ามาลงทุนในไทยเยอะซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ยังเสียดุลอยู่ เราต้องดูว่าเราจะรับมืออย่างไร
“เราต้องมองภาพให้ออกจากบนลงล่างว่าตลาดของไทยอยู่ตรงไหน ตรงไหนมีปัญหา เราควรเข้าไปค้าขายไหม แม้ไทยจะเสี่ยงน้อยแต่ก็อยู่ที่ผู้ที่จะเข้าไปเจรจากับสหรัฐฯ และจีน”
ปานปรีย์กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้ประเทศไทยวางตัวเป็นกลางทั้งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เราไม่ได้อยู่ในจุดที่จะแข่งกับใครในเชิงเศรษฐกิจ เราต้องเตรียมความพร้อม และย้ำว่า “ภาคเอกชนและรัฐไทยต้องทำงานอย่างใกล้ชิด เอกชนมองการค้าการลงทุนอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร อะไรที่เรามีความสามารถแข่งขัน หน้าที่การเจรจาก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาล นโยบายก็เป็นหน้าที่ของทางการทูต”
สงครามการค้ารอบใหม่ ไทยจะเจอ 3 บีบ
ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สงครามการค้ารอบใหม่จะไม่เหมือนรอบเดิม ที่ผ่านมา ไทย เวียดนาม และอีกหลายๆ ประเทศมองว่าส้มจะหล่นเพราะการลงทุนจะมา แต่จากนี้เราจะส่งสินค้าไปขายที่สหรัฐฯ แทนสินค้าจีน ไม่ง่ายแบบเดิมแล้ว
เพราะหากย้อนดูช่วงหาเสียง ทรัมป์พูดชัดเจนว่าจะขึ้นภาษีรุนแรง เร็วกว่าเดิม ทำเลยทันที และเป้าหมายไม่เหมือนเดิม รอบที่แล้วทรัมป์บอกเพิ่งเริ่มต้นเพราะไม่ซื้อจากจีน แต่ไปซื้อเวียดนาม ไทย เม็กซิโก แทนที่จะขาดดุลกับจีนก็ไปขาดดุลการค้ากับประเทศเหล่านี้แทน
แต่เป้าหมายรอบนี้คือการทำให้โรงงานกลับมาที่สหรัฐฯ สร้างงานให้ชาวอเมริกันที่เป็นฐานเสียงชนชั้นกลางให้กลับมา
เพราะฉะนั้นนโยบาย 3 ข้อที่ต้องจับตาคือ 1. ทรัมป์จะขึ้นกำแพงภาษี 60% มากขึ้นถึง 2 เท่าตัว และ 4 เท่าตัวสำหรับจีน 2. ขึ้นกำแพงภาษีสินค้าทั่วโลก 10-20% และ 3. ขึ้นภาษีเรื่อยๆ จนถึงจุดที่สมดุลการค้ากับประเทศนั้นๆ
ดังนั้นหากบริษัทใดที่ผลิตในจีนจะเผชิญเพียง 2 ข้อแรก ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นๆ เช่น ไทย เวียดนาม แต่ข้อกังวลคือข้อ 3 การขึ้นภาษีเรื่อยๆ ธุรกิจโลกหนีไม่รอดจากประเด็นเหล่านี้ เพราะทรัมป์ชัดเจนว่าอยากให้โรงงานกลับมาที่สหรัฐฯ
โดยไทยจะเจอ 3 บีบ 1. จะบุกตลาดสหรัฐฯ ไม่ง่าย เพราะทรัมป์ต้องการซื้อของที่ผลิตในสหรัฐฯ 2. หาส่วนแบ่งในตลาดจีนไม่ง่าย เพราะเศรษฐกิจจีนไม่ดี 3. ตลาดทั่วโลกที่เหลืออยู่ก็ยาก จะเป็นโอกาสสำคัญก็ยาก และหดตัวกว่าเดิม เพราะสินค้าจีนก็ต้องบุกตลาดโลกเช่นกัน จะกลายเป็นสถานการณ์ที่การค้าโลกหดตัวลงและไม่ง่าย หรือเป็นส้มหล่นแบบรอบแรก ที่จะได้ประโยชน์จากการที่ยักษ์และยักษ์ชนกัน
ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดทั่วโลกที่เหลืออยู่จะเป็นโอกาส แต่หดตัวกว่าเดิม ขณะเดียวกันธุรกิจใดที่จะไปตลาดจีนก็ทำได้น้อยลง ทุกคนเจ็บตัว
เพราะฉะนั้น 3 บีบที่ไทยต้องตั้งรับ หรือ ‘คลายบีบ’ อันดับแรก ตลาดสหรัฐฯ ไทยต้องมียุทธศาสตร์ระดับชาติ ตลาดที่ 2 คือตลาดจีน ไทยต้องวางยุทธศาสตร์แพลตฟอร์มให้ดีกับจีน และมองหาตลาดใหม่ เช่น ตลาดที่ 3 คือตลาดตะวันออกกลางและอินเดีย
ท้ายที่สุดคือตลาดในประเทศต้องแข็งแกร่ง ทุกคนมักจะบอกว่าสงครามการค้าเจ็บหมด แต่คนที่จะแย่จริงๆ คือคนที่อ่อนแอ ไทยต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน สังคมผู้สูงอายุ และปรับโครงสร้างแรงงานที่มีทักษะ
ดังนั้นไทยต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และเมื่อภาพใหญ่ตลาดโลกจะยากขึ้น ไทยต้องหาช่องทางใหม่ๆ ตลอดจนการลงทุนที่มากกว่าการดึงการลงทุน เก็บส้มให้ได้มากที่สุด เพราะยุคนี้เป็นยุคทะลวง หาโอกาส
“ไทยต้องกล้าบุกตลาดใหม่ๆ สร้างโอกาสใหม่”
โอกาสในจีนเปิด ราคาถูก กฎระเบียบคลายตัว
โจ ฮอร์น พัธโนทัย กรรมการอำนวยการ บริษัท Strategy613 จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมตอนนี้ที่เราเห็นว่าทุนจีนย้ายฐานมาที่ไทยมากขึ้น เป็นเพราะ 2 สาเหตุหลักคือ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และสภาวะเศรษฐกิจของจีนที่เติบโตแบบชะลอตัว เราจึงเห็นธุรกิจจีนออกไปหาโอกาสการเติบโตจากต่างประเทศ ซึ่งเกิดขึ้นและเห็นชัดมาตั้งแต่ปี 2021
“สาเหตุที่ทุนจีนมาทีไทย ไม่ไปสหรัฐฯ ไม่ไปยุโรป เพราะว่าประเทศไทยเป็นมิตร ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนมั่นคง และสามารถเข้ามาได้ง่าย”
ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนไม่ดี และเมื่อมาถึงยุคทรัมป์ 2.0 เศรษฐกิจจีนก็จะไม่ดีมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากจีนไม่แก้ปัญหาเรื่องอสังหา ซึ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดวิกฤตการคลัง วิกฤตภาคธนาคาร และวิกฤตผู้บริโภค
และเมื่อมองไปข้างหน้า โอกาสของภาคธุรกิจจีนที่จะเติบโตในประเทศไม่น่าจะดีขึ้น เพราะปัญหาภาคอสังหายังไม่ได้รับการแก้ไข
ต่อคำถามที่ว่า โอกาสของไทยในประเทศจีนมีหรือไม่ โจ ฮอร์น มองว่า ตอนนี้มองเห็นโอกาสในจีนเพราะราคาถูก และนโยบายเปิดประตูยินดีต้อนรับ กฎระเบียบต่างๆ คลายขึ้นเยอะ
จึงอยากให้มองว่าเราจะเด็ดส้มก่อนส้มหล่นอย่างไร เช่น การนำนวัตกรรมของจีนเข้ามา ยกตัวอย่าง เอาตลาดมาแลกกับเทคโนโลยี ใช้เป็นเงื่อนไขในการทำธุรกิจต่างๆ ซึ่งเชื่อว่าในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เป็นโอกาสของไทยที่จะทำเรื่องเหล่านี้ให้รอบคอบ และทำให้เกิดขึ้นได้จริง