×

อยากลาออกแต่โดนผู้หวังดีทักท้วงเต็มไปหมด จะฟังใครดีคะ

11.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ไม่มีบริษัทไหนสมบูรณ์แบบหรือไม่มีอะไรให้ติเลย ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าบริษัทดีมาก สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว แปลว่าเขาจะต้องการเราทำไมล่ะครับ ทุกบริษัทมีปัญหา นั่นแหละครับเขาถึงต้องการให้เราเข้าไปแก้ไข หรือเข้าไปบอกว่าบริษัทมีปัญหาอะไร บางอย่างอาจจะเป็นปัญหาที่บริษัทเองไม่เคยรู้ว่ามีก็ได้
  • ลองมองปัญหาเป็นโอกาสมากกว่าว่าเราจะทำอะไรกับปัญหานั้นได้ไหม เช่น ถ้าเขาเมาท์กันมาว่าบริษัทนั้นการเมืองเยอะ ลองถามตัวเองว่าแล้วเราต้องยุ่งกับการเมืองของเขาไหม หรือถ้าเขาเตือนว่าบริษัทนี้ทำงานไปก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรหรอก ลองถามตัวเองว่า มันจะไม่มีอะไรในโลกที่ไม่ให้เราเรียนรู้ได้เลยจริงหรือ เราดีไซน์วิธีการทำงานแบบใหม่ให้ได้เรียนรู้มากขึ้นได้ไหมล่ะ ฯลฯ
  • สรุปง่ายๆ ก็เหมือนการมีแฟนนั่นแหละครับ แฟนของเราจะมีข้อดีข้อเสียปะปนกันไป เราต้องรับได้ทั้งข้อดีและข้อเสียนั้น ข้อดีน่ะใครๆ ก็รัก แต่ข้อเสียที่เขามีนั้นเรารับได้หรือเปล่า คนเมาท์กันว่าเขาเป็นแบบนั้นแบบนี้ก็ไม่เท่าเราได้รู้จักใครด้วยตัวเอง อย่าตัดสินใครเพียงเพราะคนพูดกันต่อๆ มา เช่นเดียวกับงาน

Q: กำลังตัดสินใจจะลาออกไปเริ่มงานที่ใหม่ แต่คนรอบตัวทัดทานไว้ทั้งนั้น บางคนมาเล่าให้ฟังว่าที่ใหม่ที่เราจะไปไม่ดีแบบนั้นแบบนี้ ได้ยินมาเยอะเหลือเกินค่ะ ใจหนึ่งก็อยากไป อีกใจหนึ่งโดนคนท้วงมากๆ เข้า ก็เริ่มลังเลว่าหรือมันจะไม่ดีจริงๆ ดิฉันควรทำอย่างไรดีคะ

 

A: ผู้หวังดีเยอะดีจังเลยครับคุณ ฮ่าๆ มองอีกมุมหนึ่งก็น่าดีใจนะครับที่มีคนเป็นห่วงเราขนาดนี้ เราก็ต้องขอบคุณเขานะครับที่หวังดีกับเราขนาดนี้ ผมเองคงตอบไม่ได้ว่าตกลงที่คนพูดกันเยอะๆ ว่าบริษัทนั้นไม่ดีแล้วมันดีหรือไม่ดีจริง แต่สิ่งที่จะบอกก็คือไม่มีบริษัทไหนสมบูรณ์แบบหรือไม่มีอะไรให้ติเลย

 

ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าบริษัทดีมาก สมบูรณ์แบบอยู่แล้ว แปลว่าเขาจะต้องการเราทำไมล่ะครับ ทุกบริษัทมีปัญหา นั่นแหละครับเขาถึงต้องการให้เราเข้าไปแก้ไข หรือเข้าไปบอกว่าบริษัทมีปัญหาอะไร บางอย่างอาจจะเป็นปัญหาที่บริษัทเองไม่เคยรู้ว่ามีก็ได้

 

การรับฟังปัญหาของบริษัทมาเยอะๆ ไม่ได้เป็นปัญหาครับ แต่รับฟังมาแล้วลองเอามาวิเคราะห์ว่าปัญหานี้เราแก้ไขได้ไหม เราจะเข้าไปช่วยได้หรือเปล่า หรือเราจะวางตัวต่อปัญหานี้อย่างไร หรือเอาจริงๆ ปัญหาที่เขาเล่าๆ กันมานี้มันเป็นปัญหาจริงๆ หรือเปล่า ถ้ามันเป็นปัญหาที่เราฟังแล้วไม่ได้รู้สึกว่าหนักหนาอะไร เข้าไปแล้วแก้ไขได้ รู้ว่าเราจะรับมืออย่างไรได้ ไม่น่ากลัวเลยครับ ซึ่งก็ดีนะที่ได้รู้ไว้ก่อน

 

ผมอยากให้มองปัญหาเป็นโอกาสมากกว่าว่าเราจะทำอะไรกับปัญหานั้นได้ไหม เช่น ถ้าเขาเมาท์กันมาว่าบริษัทนั้นการเมืองเยอะ ลองถามตัวเองว่าแล้วเราต้องยุ่งกับการเมืองของเขาไหม เราทำงานแบบไม่วางตัวเป็นศัตรูใครได้ไหม ถ้าเขาบอกกันว่าบริษัทนี้ขาดทุนมาตั้งนานแล้ว ไม่โตไปกว่านี้หรอก ลองถามตัวเองว่าแล้วเราทำให้บริษัทไม่ขาดทุนได้ไหม เราเข้าไปแก้ไขให้เกิดกำไรได้หรือเปล่า ถ้าเขามาเตือนว่าบริษัทนี้ทำงานไปก็ไม่ได้เรียนรู้อะไรหรอก ลองถามตัวเองว่า มันจะไม่มีอะไรในโลกที่ไม่ให้เราเรียนรู้ได้เลยจริงหรือ ถ้าทำงานแบบเดิมมันไม่เอื้อต่อการเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เราดีไซน์วิธีการทำงานแบบใหม่ให้ได้เรียนรู้มากขึ้นได้ไหมล่ะ ฯลฯ

 

ปัญหาแบบไหนบ้างที่ถ้าเป็นผม ผมจะรับมาพิจารณา เช่น บริษัทนี้ทุจริตหรือดำเนินงานโดยมีจุดประสงค์ไม่ดีแอบแฝง เป็นบริษัทที่ทำลายสังคม เป็นบริษัทที่ไม่มั่นคงด้วยพื้นฐานโครงสร้างทางธุรกิจที่ไม่น่าจะเอื้อต่อการเติบโตได้ต่อไป ถ้ามาลักษณะนี้ผมอาจจะเก็บมาพิจารณาหน่อย แต่จริงๆ เรื่องพวกนี้ไม่น่าจะรอดมาตั้งแต่ตอนสมัครงานแล้วนะครับ ไม่ต้องรอให้ผู้หวังดีมาบอก ไม่น่ายื่นสมัครงานตั้งแต่แรกแล้ว ฮ่าๆ

 

ประเด็นต่อมาที่เราน่าจะลองคิดคือ บรรดาผู้หวังดีเหล่านี้เขาเอาข้อมูลมาจากไหน เขาฟังต่อๆ กันมาหรือเปล่า หรือเป็นคนในองค์กรนั้นมาเล่าให้ฟังเอง ที่ผมอยากบอกคือไม่ว่าจะเป็นแบบไหนเราก็ไม่ควรปักใจเชื่อทั้งหมดอยู่ดี ฟังต่อๆ กันมาอันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ น่าจะถูกบิดเบือนได้ และคนเล่าก็ไม่ได้ประสบจริง ฟังมาอีกต่อ อันนี้ก็ควรละไว้ ถ้าเป็นคนในองค์กรมาเล่าเอง อันนี้เป็นผม ผมก็ยังไม่เชื่ออยู่ดีนะครับ เพราะแต่ละคนอาจจะมีประสบการณ์ที่ต่างกัน ต่อให้อยู่ในองค์กรเดียวกันก็เถอะ ถามพนักงานแต่ละคนก็ได้มุมมองที่ไม่เหมือนกันแล้ว บางคนเลือกเล่าในมุมที่ดี บางคนอาจจะเลือกเล่าในมุมที่ไม่ดี ยิ่งกว่านั้นคือ ที่เรียกว่าดีหรือไม่ดีนั้นมันดีสำหรับใครอยู่ที่ว่าไปถามใคร

 

เพราะฉะนั้น รับฟังได้ แต่เอามาพิจารณาเอง และอย่าปักใจเชื่อว่าบริษัทจะต้องเป็นแบบที่เขาว่าๆ กันแน่นอน ของแบบนี้คนที่รู้ดีที่สุดก็คือตัวเราเองถ้าเราเอาตัวเข้าไปอยู่ในนั้น

 

ต้องกลับมามองว่าอะไรคือปัญหาของที่ทำงานเก่าที่ทำให้คุณอยากลาออก แล้วลองดูว่าที่ใหม่แก้ปัญหาตรงนี้ได้ไหม หรือที่ใหม่มีปัญหาที่คุณจะรับไม่ได้เลยหรือเปล่า ถ้าออกจากที่เก่าด้วยสาเหตุหนึ่งแล้วไปเจอว่าองค์กรใหม่ก็มีปัญหาแบบเดิม ผมว่าก็คงเหมือนแค่เปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนตัวละคร แต่ปัญหาแบบเดิม ต้องลองดูครับว่าบริษัทใหม่ให้อะไรใหม่กับคุณบ้าง

 

เป็นธรรมดาครับที่เราจะมองข้อเสียขององค์กรก่อน แต่ถ้าเราสามารถมีส่วนในการแก้ไขข้อเสียนั้นได้ เราก็จะได้ประโยชน์ องค์กรก็จะได้ประโยชน์

 

สรุปง่ายๆ ก็เหมือนการมีแฟนนั่นแหละครับ แฟนของเราจะมีข้อดีข้อเสียปะปนกันไป เราต้องรับได้ทั้งข้อดีและข้อเสียนั้น เราเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้หรอกครับ ข้อดีน่ะใครๆ ก็รัก แต่ข้อเสียที่เขามีนั้นเรารับได้หรือเปล่า ถ้ารับได้ก็อยู่ด้วยกันได้ครับ คนเมาท์กันว่าเขาเป็นแบบนั้นแบบนี้ก็ไม่เท่าเราได้รู้จักใครด้วยตัวเอง อย่าตัดสินใครเพียงเพราะคนพูดกันต่อๆ มา

 

สิ่งสำคัญคือ เมื่อเราคบกับแฟนคนนี้แล้ว เราทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้อย่างไร เราทำให้ข้อเสียของเขาลดลงไหม เช่นเดียวกัน แฟนของเราทำให้เราเติบโตไปในทางไหน ชีวิตดีขึ้นหรือแย่ลง ข้อดีในตัวเรามีมากขึ้นไหม แล้วข้อเสียเราได้รับการแก้ไขหรือเปล่า ถ้าเราต่างเกื้อกูลกันจนเจริญเติบโตไปด้วยกันในทางที่ดีงาม เราก็จะมีชีวิตรักที่ดี

 

เรื่องเปลี่ยนงานเรื่องใหญ่ครับต้องคิดเยอะ อย่าตัดสินใจซ้ายขวาเพียงเพราะคนอื่นมาบอก พิจารณาดีๆ แล้วเอาสิ่งที่ตัวเราเชื่อ ชีวิตจะเป็นอย่างไรก็ขอให้เป็นเราได้เลือก ไม่ใช่คนอื่นมาเลือกให้ กลับไปจุดเริ่มต้นก่อนว่าทำไมถึงอยากลาออก ที่เก่ามีปัญหาอะไร ปัญหาเหล่านั้นได้รับการแก้ไขมาแล้วหรือยัง แล้วมาดูว่าที่ใหม่แก้ปัญหาที่เก่าได้หรือเปล่า และเราต้องเจออะไรบ้างกับที่ใหม่ อะไรที่เรารับได้ อะไรที่เราจะรับไม่ได้ เอามากางดูพิจารณาทั้งหมด

 

ผู้หวังดีเยอะ เราก็รับมาแต่ความปรารถนาดี แต่ต้องมาพิจารณาเองว่าเราจะตัดสินใจอย่างไรน่าจะดีกว่าครับ เพราะคนที่จะได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจมากที่สุดก็คือตัวเรา ไม่ใช่ผู้หวังดีคนไหน

 

แม้แต่คำแนะนำจากความหวังดีของผม คุณก็ต้องกรองเองนะครับ ฮ่าๆ

 

ท้อฟฟี่ แบรดชอว์

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

Photo: Nisakorn Rittapai

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising