สำนักข่าว AP ทำรายงานพิเศษสรุปประมวลภาพรวมความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นวอลล์สตรีทตลอดทั้งปี 2021 พบยังคงเป็นอีกปีทองที่สดใสของดัชนีตลาดหุ้นในตลาดที่ให้ผลตอบแทนนักลงทุน รวมถึงมีการขยับทำสถิติสูงสุดระลอกใหม่สวนทางกับบรรยากาศเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เพราะวิกฤตการระบาดของโรคโควิด
ขณะเดียวกัน ปี 2021 ยังถือเป็นปีแห่งโอกาสที่หลายบริษัทพร้อมใจตบเท้าออกหุ้น IPO (หุ้นที่เสนอขายต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก) เพื่อหวังระดมทุน สร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ส่วนอีกหนึ่งตลาดที่คึกคักไม่แพ้กันก็คือ ตลาดคริปโตเคอร์เรนซี ที่นักวิเคราะห์ลงความเห็นว่า ปีนี้เป็นปีที่สุดเหวี่ยงของตลาดคริปโตอย่างแท้จริง
รายงานระบุว่า ยังคงเป็นอีกปีที่แข็งแกร่งสำหรับตลาดวอลล์สตรีทในมุมมองสายตาของนักลงทุน โดยข้อมูลจนถึงเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พบว่าดัชนี S&P 500 ขยับขึ้นมาแล้ว 25% นับเป็นการขยับขึ้นปีที่ 3 ติดต่อกัน และทำให้ค่า Benchmark ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 67
ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในปีนี้มีขึ้นท่ามกลางปัจจัยท้าทายรายล้อมรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานจนทำสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปี ความไม่แน่นอนของวิกฤตการระบาดของโรคโควิด และการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่หันมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงการเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีหน้า เพื่อสู้กับวิกฤตเงินเฟ้อในสหรัฐฯ
นักวิเคราะห์ประเมินว่า นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าลงทุนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีทต่อไป โดยหุ้นดาวเด่นในปีที่ผ่านมานี้คือหุ้นในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน ที่ให้ผลตอบแทนนักลงทุนได้ถึง 46% หลังราคาน้ำมันขยับฟื้นตัวขึ้น 50% จากปีก่อนหน้า ส่วนหุ้นดาวเด่นรองลงมาคือหุ้นในกลุ่มการเงิน และหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ขยับขึ้น 31% และ 32% ตามลำดับ
สำหรับหุ้นในกลุ่มการเดินทางและการท่องเที่ยว หลายฝ่ายคาดการณ์น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะใหญ่ อย่างเร็วที่สุดก็ภายในครึ่งปีในการฟื้นตัว
ในส่วนของ IPO AP รายงานว่า ปี 2021 คือปีที่มีการขยายตัวของ IPO อย่างต่อเนื่องและค่อนข้างคึกคัก เนื่องจากหลายบริษัทต้องการฉวยโอกาสตอนที่ตลาดหุ้นกำลังคึกคักเข้ามาระดมทุน โดยมีผู้เล่นหน้าใหม่ในกลุ่มสตาร์ทอัพเข้ามาให้พิจารณา
นอกจากนี้ อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวของตลาดที่น่าสนใจไม่น้อยก็คือ การก้าวเข้ามาลงเล่นของบรรดานักลงทุนรายย่อยทั้งหลาย ที่แม้จะไม่ทรงพลังเท่ากับบรรดากองทุนหรือบริษัทรายใหญ่ แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับ GameStop ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า กองทัพมดก็มีสิทธิ์ทำยักษ์ล้มได้เหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั้น การที่มีบริการแอปพลิเคชันเทรดหุ้น อย่าง Robinhood ก็ยิ่งเป็นการเปิดโอกาส เปิดทางให้รายย่อยพร้อมใจตบเท้าเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างคึกคักมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ด้วยอานิสงส์ของตลาด EV (รถยนต์ไฟฟ้า) ทำให้หุ้นในกลุ่มผู้ผลิตแบตเตอรี่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เช่นเดียวกับภาวะขาดแคลนชิปในตลาด ที่ทำให้หุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการผลิตชิปพุ่งทะยานหลายเท่าตัว ยกตัวอย่างเช่น หุ้นของ Nvidia ที่ผลิตชิปประมวลผลสำหรับวิดีโอเกม ดาต้าเซ็นเตอร์ เอไอ และรถยนต์ที่มีรายงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากปีก่อนหน้า
สำหรับความเคลื่อนไหวในตลาดคริปโตที่นักวิเคราะห์ให้นิยามว่าเป็นความสุดเหวี่ยงที่ยิ่งกว่าการนั่งรถไฟเหาะตีลังกา เนื่องจากการซื้อขายคริปโตที่เริ่มได้รับการยอมรับและขยับเข้าสู่กระแสหลัก โดยมีนักลงทุนรายใหญ่ในตลาดประกาศเข้าซื้อเหรียญคริปโตยอดนิยมอย่าง Bitcoin หรือ Ether ส่งผลให้ราคาของเหรียญคริปโตอย่าง Bitcoin พุ่งทะยานทะลุกว่า 60,000ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ในอีกไม่กี่วันต่อมาก็ปรับตัวดิ่งแรงด้วยเช่นกัน
ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งมองว่า นับจากนี้ กระแสเงินจะหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในตลาดคริปโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องรอดูว่าหน่วยงานของรัฐจะมีการจัดการรับมืออย่างไร
อีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือการเดินหน้ากวดขันบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนของรัฐบาลจีน บวกกับแรงกดดันจากฝั่งสหรัฐฯ ที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องถอนตัวออกจากตลาดหุ้นจีน โดยขณะนี้ หลายฝ่ายกำลังประเมินผลได้ผลเสียของความเคลื่อนไหวดังกล่าว แต่เกรงว่าน่าจะเป็นผลเสียมากกว่า
ปิดท้ายกันด้วยกระแสของ Metaverse ที่ทำให้หุ้นของบริษัทในกลุ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse หรือโลกเสมือนได้รับการจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ กระนั้น นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงไม่ให้น้ำหนักกับ Metaverse มากนัก โดยสิ่งที่นักลงทุนให้ความสำคัญก็คือแนวทางการบริหารงานของ Meta (Facebook ในอดีต) ว่าจะรับมือกับข้อเรียกร้องทางจริยธรรมต่างๆ อย่างพวกการรังแกบนโลกไซเบอร์ การคุกคามด้วยคำพูดและความเกลียดชังได้อย่างไรมากกว่า
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP