หลายทศวรรษที่ผ่านมา ความสะดวกสบายในการเดินเท้าเที่ยวชมเมืองหรือไปยังสถานที่ต่างๆ รอบเมือง มักจะถูกมองข้ามจากนักออกแบบผังเมืองเสมอ จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้ หลายเมืองสำคัญๆ ในโลกต่างปรับตัวให้สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวและสังคมเมืองที่ไม่ได้ต้องการพื้นที่สำหรับเส้นทางการจราจรรถยนต์ในใจกลางเมืองมากเหมือนเดิมอีกแล้ว
เจฟฟ์ สเปก (Jeff Speck) นักเดินทางและนักเขียนชื่อดังให้นิยามความสามารถในการเดินเท้าที่น่าพึงพอใจ จะต้องประกอบไปด้วย 4 เงื่อนไข ได้แก่ มีประโยชน์ ปลอดภัย สะดวกสบาย และน่าสนใจ ซึ่งโครงสร้างของเมือง ความหลากหลายของตึกรามบ้านช่องและพื้นที่เปิดต่างๆ ก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักเดินทางเท้าเหล่านี้ให้เดินทางไปเยือนที่นั่นด้วยเช่นกัน
เมืองส่วนใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนืออย่างในสหรัฐฯ และแคนาดา รวมถึงออสเตรเลีย ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขับขี่รถยนต์เป็นหลัก แต่เมืองสำคัญๆ ในประเทศเหล่านี้ ต่างกำลังปรับตัวเพื่อให้กลายเป็นเมืองที่เหมาะสำหรับการเดินเท้าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
‘Walk Score’ คะแนนโหวตสำหรับคนเดินเท้า
จากการสำรวจและจัดอันดับเมืองที่เหมาะสำหรับการเดินเท้ากว่า 3,000 เมืองและกว่า 10,000 ย่านในสหรัฐฯ แคนาดา และออสเตรเลีย โดยเว็บไซต์ walkscore.com ในปีนี้พบว่า มหานครนิวยอร์กติดอันดับ 1 เมืองที่เหมาะแก่การเดินเท้ามากที่สุดในสหรัฐฯ ตามมาด้วยซานฟรานซิสโกและบอสตัน ส่วน Top 3 ของแคนาดานั้นได้แก่ แวนคูเวอร์ โตรอนโต และมอนทรีออล ตามลำดับ ในขณะที่ซิดนีย์ เมลเบิร์น และแอดิเลด ติด 3 อันดับเมืองที่เหมาะสำหรับการเดินเท้ามากที่สุดของออสเตรเลียประจำปีนี้ไปครอง
นิวยอร์กเริ่มต้นแผนการพัฒนาเมืองให้เอื้อแก่การเดินเท้าตั้งแต่ปี 2007 จนมีแผนงานออกมาอย่างจริงจังใน 2 ปีต่อมา ทางด้าน เจเน็ตต์ ซาดิก ข่าน (Janette Sadik-Khan) อดีตคณะกรรมการด้านการขนส่งของนิวยอร์กกล่าวว่า
“พวกเราเปลี่ยนแปลงเมืองจากเดิมที่ผู้คนต้องการจะใช้พื้นที่ในการจอดรถยนต์ มาเป็นพื้นที่ที่พวกเขาสามารถใช้เวลาว่างกับครอบครัวหรือคนที่เขารักได้”
โดยเธอยังเชื่อว่า การพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อการเดินเท้าได้สะดวก ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย แต่ยังเป็นเรื่องของความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของธุรกิจในย่านนั้นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย
ปัญหาหลักที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเมืองให้เอื้อต่อการเดินเท้าคือ การจราจรที่ติดขัด มีผู้ใช้รถใช้ถนนมากจนเกินไป มหานครนิวยอร์กเองที่ได้รับการโหวตให้เป็นเมืองที่เหมาะแก่การดินเท้ามากที่สุดของสหรัฐฯ ยังประสบปัญหานี้
จากการสำรวจและเก็บข้อมูลสถานการณ์รถติดกว่า 1,064 เมือง ใน 38 ประเทศทั่วโลก โดย inrix.com พบว่า ประชาชนในนิวยอร์กใช้เวลาติดอยู่บนถนนเฉลี่ยถึง 89.4 ชั่วโมงต่อปี ซึ่งปัญหาการจราจรติดขัดนี้เองก็เป็นปัญหาหลักสำหรับประเทศไทย หากต้องการพัฒนาและยกระดับเมืองให้เอื้อต่อการเดินเท้า โดยสถิติแล้วคนไทยโดยเฉพาะในเมืองหลวงก็ใช้เวลาติดอยู่บนท้องถนนถึงปีละ 64.1 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ในวันที่เมืองต่างๆ เริ่มขยับ พื้นที่ของคนเดินเท้าเริ่มเขยื้อน
นอกจากเมืองหลักใน 3 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหลายเมืองที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นเมืองยอดฮิตสำหรับนักท่องเที่ยวและเป็นสวรรค์สำหรับคนเดินเท้าอย่างแท้จริง
ในโซนเมืองเก่าของยุโรปที่มักจะติดอันดับต้นๆ ของเมืองที่เอื้อต่อการเดินเท้าคือ โรม (Rome) ของอิตาลี ที่หากมองเผินๆ อาจจะดูเป็นเมืองที่ไม่เอื้อต่อการเดินเที่ยวชมเมืองสักเท่าไร ไม่ว่าจะเป็นแถบเส้นฟุตปาธที่หายไป ถนนลาดยางและพื้นตัวหนอนที่ไม่ราบเรียบและสม่ำเสมอ แต่ผังเมืองที่ออกแบบมาอย่างลงตัวที่เอื้อต่อการเดินเท้าตั้งแต่ต้น จึงทำให้เมืองแห่งนี้น่าหลงใหลไม่น้อย
ปารีส (Paris) เป็นอีกเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงทัศนียภาพและโครงสร้างของเมือง เพื่อเอื้อต่อชีวิตคนเมืองที่ชอบในการเดินเท้า จากพื้นที่ถนนโล่งๆ ริมแม่น้ำเซน (Seine) กลายเป็นพื้นที่ฟรีสเปซ แหล่งแฮงเอาต์ยอดนิยมของผู้คนที่นี่ ทางด้าน คริสตอฟ นาจโดฟสกี (Christophe Najdovski) รองนายกเทศมนตรีด้านการขนส่งของปารีส กล่าวว่า “ที่นี่กลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนมาพักผ่อนกัน เป็นสถานที่ที่ครอบครัวจะพาเด็กๆ และผู้สูงอายุมาใช้เวลาที่นี่ นอกจากนี้คุณยังสามารถเดินรอบเมืองปารีสได้หมด โดยใช้เวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง
“เมื่อก่อนปารีสเป็นเมืองที่ปรับตัวเองให้เข้ากับปริมาณรถยนต์ที่ถูกใช้บนท้องถนน ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหามลภาวะและการจราจรติดขัดตามมา แต่ตอนนี้ ‘เมืองเดินได้’ กลายเป็นนโยบายหลักของที่นี่เรียบร้อยแล้ว”
กวางโจว (Guangzhou) ของจีนเองก็เป็นอีกหนึ่งเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลงพื้นที่ให้กลายเป็นเมืองสวรรค์สำหรับนักเดินเท้าเช่นกัน พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเพิร์ล (Pearl) ถูกพัฒนาให้กลายเป็นระเบียงธรรมชาติสีเขียวที่เชื่อมโยงแหล่งสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ รวมถึงแหล่งออกกำลังกายยอดฮิต ระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร ที่สามารถรองรับการใช้งานได้มากถึง 7 ล้านคน
โซล (Seoul) เป็นอีกเมืองเดินเท้ายอดฮิต ที่นี่มีการสร้างทางเดินลอยฟ้า ประดับประดาด้วยต้นไม้นานาพรรณ ระยะทางกว่า 0.8 กิโลเมตรที่ปรับโฉมจากถนนมอเตอร์เวย์เก่าๆ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และเริ่มเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเมืองเพื่อเพิ่มฟรีสเปซให้มากขึ้น
นอกจากนี้โครงการเมืองสำหรับการเดินเท้ายังเกิดขึ้นในอีกหลายๆ เมืองทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน, มาดริด, เกียวโต, เวียงจันทน์, เฟส เอล บาลี (โมร็อกโก), เมเดยิน (โคลัมเบีย) รวมถึงเมืองหลวงของประเทศไทยอีกด้วย
กรุงเทพฯ เมืองเดินได้
โครงการนี้เป็นความพยายามของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุน สสส. ที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2014 เพื่อเพิ่มพื้นที่ฟรีสเปซให้แก่คนเมืองในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเดินเท้า เนื่องจากมีการเล็งเห็นว่า ‘การเดินเท้า’ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน นอกจากจะเป็นการเพิ่มระดับกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวันและเสริมสร้างสุขภาพแล้ว เมืองที่เอื้อต่อการเดินเท้านี้ยังช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และพัฒนาเศรษฐกิจในย่านหรือเมืองนั้นๆ อีกด้วย ซึ่งคาดว่าในอนาคตโครงการนี้จะขยายไปยังเมืองต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในสวรรค์สำหรับนักท่องเที่ยวและคนเดินเท้าอย่างแท้จริง
Photo: AFP
อ้างอิง: