NASA ก็พาเธอกลับมาได้… ยาน Voyager 1 ส่งข้อมูลกลับโลกจากสุดขอบระบบสุริยะได้ตามปกติอีกครั้ง หลังประสบปัญหากับระบบคอมพิวเตอร์บนยานมานานกว่า 5 เดือน
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2023 ข้อมูลด้านวิศวกรรมและอุปกรณ์สำรวจวิทยาศาสตร์ที่ยาน Voyager 1 ส่งกลับโลก ไม่สามารถถอดค่าเป็นข้อมูลที่ใช้งานได้ จากปัญหากับ 1 ใน 3 ของคอมพิวเตอร์บนยาน หรือระบบ Flight Data System
แม้ยานยังสามารถรับข้อมูลและคำสั่งจากโลกได้ตามปกติ แต่ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ทีมภารกิจบนโลกไม่สามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับสถานะความเป็นอยู่ของยาน เช่นเดียวกับข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์จากอุปกรณ์ต่างๆ เนื่องจากปัญหาครั้งนี้ส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์ Telemetry Modulation Unit ที่แปลงข้อมูลดังกล่าวให้อยู่ในรหัสไบนารี เพื่อส่งกลับโลกผ่านเครือข่ายจานรับสัญญาณ Deep Space Network ของ NASA
ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ทีมภารกิจได้เริ่มส่งคำสั่ง ‘สะกิด’ ไปยังระบบ Flight Data System ให้ลองเปลี่ยนลำดับการส่งข้อมูลกลับโลก และเมื่อวันที่ 18 เมษายน ทีมภารกิจได้ส่งคำสั่งชุดล่าสุดที่เปลี่ยนตำแหน่งการจัดเก็บข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์บนยาน เดินทางไกลกว่า 24,000 ล้านกิโลเมตร หรือใช้เวลานานกว่า 22.5 ชั่วโมง เพื่อเดินทางไปถึงยานด้วยความเร็วแสง
และหลังการรอคอยไป-กลับนานกว่า 45 ชั่วโมง ทีมภารกิจพบว่าข้อมูลที่ Voyager 1 ส่งกลับโลกเมื่อวันที่ 20 เมษายน เป็นข้อมูลที่สามารถอ่านค่า และบอกถึงสุขภาพกับสถานะของยานอวกาศลำนี้อีกครั้ง
ในช่วงสัปดาห์ต่อจากนี้ ทีมภารกิจยานจะตรวจสอบผลกระทบที่อาจมีต่อส่วนอื่นของระบบ Flight Data System รวมถึงส่วนที่บันทึกข้อมูลจากอุปกรณ์สำรวจวิทยาศาสตร์ เพื่อให้สามารถอ่านค่าการตรวจวัดอนุภาคจากบริเวณช่องว่างระหว่างดาวฤกษ์ได้อีกครั้ง
Voyager 1 ออกเดินทางจากโลกเมื่อ 46 ปีที่แล้ว และเป็นยานอวกาศที่อยู่ไกลจากโลกที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีความเร็วมากพอจะหลุดพ้นจากระบบสุริยะไปตลอดกาล เช่นกันกับยานฝาแฝดอย่าง Voyager 2 ที่ยังคงทำงานและรับส่งข้อมูลกลับโลกอยู่จวบจนปัจจุบัน
ภาพ: NASA / JPL
อ้างอิง: