‘โควิดแพร่กระจายผ่านทางอากาศ’ (Airborne) ถูกพูดถึงมากขึ้น และเป็นข้อเท็จจริงที่ว่าโควิดสามารถแพร่กระจายผ่านละอองขนาดเล็ก ซึ่งสามารถลอยในอากาศไกลกว่า 2 เมตร และนานเป็นชั่วโมงได้ในสถานที่ปิดหรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก โดยละอองขนาดเล็กนี้สามารถสร้างได้จากการหายใจปกติ การพูด การตะโกน การร้องเพลง การออกกำลังกาย และแน่นอนการไอ/จาม
การสวมหน้ากาก โดยเฉพาะการสวมหน้ากากสองชั้นเมื่อต้องเข้าไปในสถานที่แออัด สถานที่ปิด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวก เป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันการสูดหายใจเอาละอองทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย แต่ในออฟฟิศซึ่งต้องนั่งทำงานอยู่ในห้องปรับอากาศเป็นเวลานาน หรือในร้านอาหารในห้างสรรพสินค้าที่ต้องถอดหน้ากากออก ‘การระบายอากาศ’ จะช่วยลดความเสี่ยงนี้
การระบายอากาศที่สามารถทำได้ง่ายที่สุดคือ
- การเปิดประตู-หน้าต่าง เพื่อให้อากาศไหลเวียนเข้า-ออกห้อง เปิดประตู-หน้าต่างบ่อยๆ หรืออาจกำหนดช่วงเวลาเปิดเครื่องปรับอากาศสลับกับเปิดหน้าต่าง
- การติดตั้งพัดลมระบายอากาศ เพื่อดูดอากาศภายในห้องออกไป หรือเช็กว่าพัดลมที่ติดตั้งไว้แล้วยังทำงานตามปกติ หากเปิดหน้าต่างร่วมด้วยก็จะทำให้อากาศไหลเวียนเพิ่มขึ้น
- การใช้เครื่องกรองอากาศที่ใช้ไส้กรอง HEPA ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการดักจับอนุภาคที่ออกมาพร้อมกับการหายใจออก พูด ร้องเพลง ไอและจาม ตั้งในบริเวณเดียวกับผู้ใช้งาน โดยต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมกับห้อง อาจสังเกตจากอัตราการส่งผ่านอากาศบริสุทธิ์ (CADR) ซึ่งเมื่อหารด้วยปริมาตรห้องจะได้อัตราการกรองอากาศเป็นจำนวนเท่าต่อชั่วโมง (ACH) ยิ่งมากยิ่งกรองได้ดี
การป้องกันตนเองที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สถานที่ปิด หรืออากาศถ่ายเทไม่สะดวกตั้งแต่แรก แต่ในเมื่อพนักงานต้องไปทำงาน หรือผู้ใช้บริการต้องการนั่งรับประทานอาหารในร้าน องค์กรหรือผู้ประกอบการควรปรับปรุงการระบายอากาศภายในออฟฟิศหรือร้านอาหารเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ยิ่งระบายอากาศได้มากเท่าไรก็จะยิ่งลดความเสี่ยงลงได้มากเท่านั้น
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถนำหลักการเดียวกันนี้มาใช้ในการปรับปรุงการระบายอากาศที่บ้าน โดยเฉพาะพื้นที่ส่วนกลางหรือนั่งใกล้ชิดกัน เช่น โต๊ะรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่น ได้เช่นกัน
อ่านต่อ: ‘เมื่อโควิดแพร่เชื้อทางอากาศ ทำไมการระบายอากาศถึงสำคัญ และจะเพิ่มการระบายอากาศได้อย่างไร’
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
อ้างอิง: